++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2548

เครือหมากแตก สมุนไพรอีสาน

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง


วันนี้พาเที่ยวอีสาน แต่ไม่ถึงกับต้องรอนแรมแบบนกขมิ้นเหลืองอ่อนค่ำไหนนอนนั่น แค่ต้องการเปิดโลกสมุนไพรพื้นบ้านไทย แบบอันซีนอีสานให้ฟังกันเด้อ...

เครือหมากแตก (Celastrus paniculatus Willd.) มีชื่อเรียกทางภาคกลางว่า "กระทงลาย" หรือ "กระทุงลาย" แต่ชาวอีสานหมู่เฮาเรียกชื่อว่าเครือหมากแตก เนื่องจากว่าไม้ชนิดนี้มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ซึ่งคนอีสานเรียกไม้เลื้อยทั่วๆ ไปว่า "เครือ" ส่วนคำว่า "หมากแตก" ได้มาจากลักษณะของผล เมื่อแก่เปลือกที่มีสีเหลืองจะแตกออกเผยให้เห็นส่วนของเมล็ดที่เป็นสีแดงจัด หรือที่อีสานเรียกว่า "แดงจายวาย"

เครือหมากแตกเป็นไม้เลื้อยที่มีเนื้อไม้ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบอ่อนหยักเป็นซี่ถี่ๆ เมื่อเจริญเต็มที่ขอบใบจะเรียบขึ้น ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง กลีบดอกสีเขียวมีขนาดเล็กมาก ดอกเป็นดอกแยกเพศ และแยกต้น ผลค่อนข้างกลม เมื่อแก่เปลือกหุ้มผลจะแตกออกเป็น 3 กลีบ การออกดอกและผลอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนมีนาคม ใช้เมล็ดเป็นส่วนในการขยายพันธุ์

ในฤดูฝนเช่นนี้ คนอีสานนิยมเก็บเอายอดอ่อนมาลวกรับประทานร่วมกับป่นหรือแจ่ว แต่จะไม่นำยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกเพราะจะทำให้เกิดอาการ ระคายเคืองที่คอ และเป็นเรื่องน่าทึ่งอย่างยิ่งที่ภูมิปัญญาอีสานมักตรงกับงานศึกษาสมัยใหม่ เช่น กรณีการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่าพืชชนิดใดที่ภูมิปัญญาอีสานห้ามรับประทานดิบเพราะจะทำให้เกิดอาการ ระคายที่คอนั้น พืชชนิดที่ห้ามมักมีปริมาณแคลเซียมออกซาเลตเป็นจำนวนมาก

ถ้ารับประทานเข้าไปผลึกของแคลเซียมออกซาเลตจะเข้าไปเกาะตามผนังของหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่คอได้นั่นเอง

แต่สำหรับคนอีสานที่นำผักมาลวกกินกับน้ำพริกก็ดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีปัญหามาก อาจเป็นไปได้ว่าปริมาณแคลเซียมออกซาเลตในยอดอ่อนยังมีไม่มากนัก นอกจากนี้ การรับประทานยอดอ่อนลวกเชื่อว่าช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเสีย หรือเป็นบิด และยังมีส่วนช่วยในการระบายลมไม่ให้เกิดอาการท้องอืดด้วย

ในตำรายาไทยมีการใช้ส่วนต่างๆ ของเครือหมากแตกเป็นยาสมุนไพร เช่น ส่วนของราก แก้ปวดท้อง แก้บิด แก้ไข้ บำรุงน้ำนม เถา แก้ไข้มาลาเรีย แก้วัณโรค ใบ ใช้ถอนพิษ เบื่อเมา ผล แก้เหน็บชา บำรุงโลหิต เป็นต้น

ในตำรับยาอีสาน ถ้ามีผู้ป่วยที่เป็นบิดอย่างรุนแรงจะขูดเอาเนื้อด้านในของเปลือกเครือหมาก แตกมาตำกับมดแดงและเกลือ ให้ผู้ป่วยกินจะทำให้หยุดถ่ายได้

เครือหมากแตกเป็นสมุนไพรและอาหารของคนอีสานแล้ว ยังเป็นพืชพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนอีสานมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงออกพรรษา คนอีสานนิยมเก็บเมล็ดเครือหมากแตกที่แก่เต็มที่แล้วมาหีบเอาน้ำมันไปถวายพระ

เทคโนโลยีในการหีบน้ำมันจากเครือหมากแตก เป็นเทคโนโลยีที่มีความจำเพาะมากๆ โดยชาวบ้านจะทำการสานภาชนะด้วยไม้ไผ่ มีรูปทรงคล้ายหวดนึ่งข้าว ก่อนที่จะหีบหรือคั้นน้ำมันต้องตากเมล็ดเครือหมากแตกให้แห้งดี แล้วนำเมล็ดบรรจุลงในภาชนะใช้ไม้ม้วนขอบภาชนะจากส่วนปากเข้ามาหาส่วนก้น ภาชนะ น้ำมันจากเมล็ดจะไหลออกจากรูของภาชนะใช้กะละมังรองน้ำมันที่หีบได้

การนำน้ำมันจากเครือหมากแตกไปถวายพระ คนอีสานส่วนใหญ่จะนำไปถวายพร้อมกับ ผลตูมกาดิบ (Strychnos nux-blanda A.W.Hill) หรือทางภาคกลางเรียกว่า "ตูมกาขาว" ซึ่งแตกต่างจากต้นแสงเบื่อ (Strychnos nux-vomica L.) หรือที่ทางภาคกลางเรียกว่า "แสลงใจ" หรือ "ตูมกาแดง" ต้นไม้ทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกัน ผู้ที่ไม่คุ้นอาจคิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน

การถวายผลตูมกาดิบที่มีเปลือกแข็งมากไปทำอะไร คำตอบของคนอีสานแฟนพันธุ์แท้ คือ ใช้ทำตะเกียง เมื่อนำไปถวายพระต้องผ่าผลออกเป็นสองซีก แล้วควักไส้ในทิ้งเหลือเฉพาะส่วนที่เป็นเปลือกแข็ง พระจะนำเอาเปลือกผลตูมกาดิบนี้เป็นภาชนะใส่น้ำมันจากเครือหมากแตกนั่นเอง จากนั้นจะปั้นฝ้ายใส่ลงไปเพื่อใช้จุดไฟ

แต่ไม่ใช่เพียงแสงสว่างที่ได้ น้ำมันหอมระเหยจากเครือหมากแตกเมื่อถูกความร้อนจะมีกลิ่นหอม นับเป็นอโรมาเทอราปีในวงการสงฆ์ทีเดียว

และน้ำมันของเครือหมากแตกที่ถูกความร้อนแล้ว พระท่านยังนิยมนำไปทาถูกล้ามเนื้อเพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และในตำรับยาพื้นบ้านอีสานพบว่าน้ำมันจากเครือหมากแตกใช้เป็นยานวดแก้ อัมพาตและอัมพฤกษ์ได้ด้วย

ต้องบอกว่าอีสานยังร่ำรวยพันธุกรรมและยังหลงเหลือพืชสมุนไพรดีๆ อีกมาก โดยเฉพาะต้นเครือหมากแตกนี้ยังพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งนับเป็นโชคดีของคนไทยทั้งชาติด้วย ที่ยังมีภูมิปัญญาดีให้สืบค้นและพัฒนาต่อยอดได้



สําหรับต้นตูมกา แม้ดูเหมือนจะเป็นเพียงภาชนะรองน้ำมันให้ความสว่างและกลิ่นหอมนี้ แท้จริงแล้วมีสรรพคุณที่หลายชนิด แต่ควรรู้จักลักษณะต้นก่อนว่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 15 เมตร พบได้ตามป่าเต็งรังทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ เนื้อใบหนา ปลายใบเป็นติ่งแหลม

ลักษณะเด่นของใบคือมีเส้นใบสีขาวประมาณ 4-5 เส้น ตัดกับพื้นใบสีเขียวเข้มเห็นชัดเจน ลำต้นสีขาวเกลี้ยง ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกสีเขียวแกมเหลือง ร่วงหลุดง่าย ผลสดเป็นรูปทรงกลมใหญ่กว่าส้มเขียวหวานเล็กน้อย เปลือกแข็ง

เมื่อยังไม่แก่ผลมีสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วมีสีเหลืองจัด การออกผลจะออกครั้งละมากๆ เต็มต้น เมื่อผลแก่จะทิ้งใบหมดต้น เห็นแต่ผลสีเหลืองห้อยเต็มต้น

ผลแก่เนื้อข้างในเป็นสีเหลืองมีลักษณะเป็นเส้นใย รับประทานได้ มีรสหวาน แต่รับประทานมากไม่ได้ จะทำให้เมา เมล็ดแบนเหมือนกระดุม มีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก คล้ายเมล็ดลูกหยี ส่วนของเมล็ดมีสารสำคัญคือ สตริกนิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า "Strychnos" สารสตริกนินเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทย เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว นิยมใช้เป็นยาเบื่อสุนัขจรจัด แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปคนเราก็เลิกกำจัดสุนัขด้วยวิธีนี้กันแล้ว

ในตำรายาพื้นบ้านอีสานใช้ประโยชน์จากต้นตูมกาเป็นยาหลายส่วน ได้แก่ ใบ ใช้ตำพอกแก้ฟกบวม ราก ใช้ฝนทาแก้พิษงู ลำต้น ต้มดื่มแก่ปวดเมื่อยด้วย

หากได้ท่องเที่ยวอีสานหรือคนอีสานที่หลงอยู่ในเมืองนานเกินไป เมื่อได้กลับบ้านถิ่นอีสาน อย่าลืมไปใช้และพัฒนาสมุนไพรพื้นบ้านสองต้นนี้นะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น