++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2548

บัญญัติ 10 ประการ อยู่อย่างไรกับหมาดุให้ปลอดภัย

คงไม่ต้องรื้อฟื้นกันอีกแล้วว่า หมาดุคืออะไร? พันธุ์ใด? ดุอย่างไร? อันตรายแค่ไหน? ฯลฯ มีผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ออกมาให้ข้อมูล วิเคราะห์ วิจารณ์กันทั่วบ้านทั่วเมืองไปหมดแล้วในขณะนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่จะเป็นผลตามมาอย่างกรณีในอดีตเนื่องจากความตื่นตระหนกของสังคมไทย ประดุจดังกระต่ายตื่นตูมเช่นครั้งเมื่อมีเรื่องเห็บจากหมาเข้าไปแพร่พันธุ์อยู่ในมดลูกคนจากรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ผลที่ตามมากลับใหญ่หลวงนัก กล่าวคือปริมาณหมาจรจัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมณฑล กรุงเทพมหานคร มีอัตราสูงอย่างผิดปกติ ทั้งนี้เพราะคนกลัวจะติดเห็บจากหมา จึงตะเพิดหมาเลี้ยงออกจากบ้านให้กลายเป็นหมาจรหมอนหมิ่นกลาดเกลื่อนเป็นปัญหาสังคมและปัญหาสาธารณสุข เนื่องจากเป็นพาหะโรคพิษสุนัขบ้าต่อไป
คราวนี้ก็เห็นทีจะมีปรากฏการณ์เช่นเดียวกับที่เคยเกิดดังเมื่อครั้งคราวฮือฮาเรื่องเห็นที่ผ่านมา
หมาดุ หมาต้องสงสัยว่าจะดุ หมาที่เคยมีประวัติกัดคน หมาลูกผสมพันธุ์ดุหมาน่ากลัว หมาดื้อ ฯลฯ ล้วนมีโอกาสถูกส่งออกมาเพ่นพ่านทั่วไป เราอาจเห็นหมาจรจัดที่เป็นหมาพันธุ์แท้นานาพันธุ์ ราคาแพงนับหมื่นนับแสน วิ่งเพ่นพ่านทั่วไปเช่น ร็อตไวเลอร์ โดเบอร์แมน พิทบูล บางแก้ว หลังอาน ฯลฯ บ้างอาจไล่กัด ทำร้ายคนต่อไปอีก และยากที่จะกำจัดเนื่องจากพฤติกรรมอันน่ายำเกรงของมัน
ฉะนั้น การป้องกันไม่ให้ปรากฏการณ์อันไม่พึงประสงค์ดังกล่าวให้เกิดขึ้น สามารถทำได้โดยการให้ความรู้ที่ถูกต้องถึงการอยู่ร่วมกัน การเลี้ยง การควบคุม และทำความเข้าใจกับหมาที่มีนิสัยดุ หรือเป็นพันธุ์ที่น่าจะให้อยู่ร่วมชายคากับเจ้าของต่อไปได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยทุกฝ่าย
ศูนย์สวัสดิภาพสัตว์ศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่งคือ ชี้นำสังคม และให้ข้อมูลเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาอันสืบเนื่องมาจากสัตว์ต่างๆ และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพที่ดีต่อสัตว์เหล่านั้น ผ่านทางการให้การศึกษาด้านนี้อย่างถูกต้องแก่สังคมไทย
ในกรณีนี้จึงขอเสนอข้อแนะนำเพื่อการปฏิบัติดังนี้
1. ห้ามปล่อยทารก เด็กเล็ก ตลอดจนผู้ป่วย คนชรา ที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ อยู่ตามลำพังกับสัตว์เหล่านั้นอย่างเด็ดขาด
2. ทบทวนและติดตามพฤติกรรมหมาของท่านว่าแสดงออกถึงความก้าวร้าวอย่างไม่มีเหตุผลอย่างไรบ้าง บ่อยครั้งแค่ไหน ต่อบุคคลใด ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่สัตวแพทย์สำหรับการประเมินสภาพจิตใจและพฤติกรรมตลอดจนความเสี่ยงที่จะเลี้ยงดูสัตว์ตัวนั้นๆ ต่อไป
3. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสายพันธุ์หมาที่ท่านเลี้ยงจากใบพันธุ์ประวัติเจ้าของคอกที่ท่านได้หมานั้นๆ มาเพื่อเป็นการดูว่าหมาในสายพันธุ์นั้นมีประวัติการทำร้ายแทรกอยู่ในเชิงพันธุกรรมหรือไม่
4. ดูว่าหมาท่านผ่านการฝึก อบรม บ่มนิสัยมาบ้างหรือเปล่า ท่านเคยสั่งสอนหัดให้สัตว์รู้จักเชื่อฟังคำสั่งง่ายๆ พื้นฐาน เช่น หยุด มา คอย หรือจำชื่อตัวเอง ฯลฯ หรือหากเคยหัดเอง หรือผ่านโรงเรียนฝึกหมามาแล้ว ท่านต้องรีบฝึกฝน ทบทวน และใช้คำสั่งเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จนหมาถือเป็นกิจวัตรและอยู่ในโอวาท
5. หากหมาไม่เคยร่ำ เคยเรียน ผ่านการฝึกมาเลย ควรเริ่มต้นฝึกจากคำสั่งง่ายไปก่อน หรืออาจต้องพึ่งโรงเรียนฝึก ซึ่งท่านจะต้องเอาใจใส่ไปรับการฝึกเพื่อเป็นนายของหมาด้วย
6. หมาที่มีโอกาสหรือคาดว่าอาจจะเป็นตัวเสี่ยงสูงควรหัดให้เลี้ยงไว้โดยสวมใส่ตะกร้อปากและจำไว้ว่าเมื่อออกนอกบ้านก็ต้องใส่ตะกร้อปากและสายจูงที่แน่นหนาเหมาะสมทุกครั้ง อย่าใช้โซ่ล่ามไปเป็นสายจูง
7. พิจารณาการเลี้ยงดูสัตว์ตัวนั้นๆ ของท่านว่าเหมาะสมถูกต้องดีแล้วหรือ? ไม่เป็นสาเหตุของความดุของสัตว์และไม่ทรมานสัตว์โดยก่อให้เกิดความเครียด เช่น อาหารที่ครบถ้วนทั้งคุณภาพและปริมาณ ที่อยู่อาศัยสะอาดถูกอนามัยปราศจากการรบกวน ยั่วยุจากคนหรือสัตว์อื่น มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีพื้นที่ของเขตเป็นส่วนตัวและแข็งแรงพอที่จะควบคุมเขาไว้ได้ยามต้องการ รวมถึงต้องมีคนเลี้ยงที่รักและดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม ฯลฯ
8. หมาต้องได้รับการดูแลสุขภาพให้มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัย โรคเรื้อรังซ่อนเร้นต่างๆ เช่น โรคข้อสะโพกหลวม(Hip dysplasia)ฯ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์เจ็บปวดความเจ็บปวดทำให้สัตว์เครียด ระแวง และไม่อยากให้ใครมายุ่งเกี่ยว นี่เองทำให้สัตว์ดูและกัดผู้ที่เข้าหาหรือสัมผัสตัว ฯลฯ
9. จงเลี้ยงหมาด้วยความรัก ให้ความอบอุ่น และเวลา หมาเป็นสัตว์สังคมจะไว้ใจและเชื่อจ่าฝูง ตลอดจนให้ความจงรักภักดี ฉะนั้นอย่าทำให้หมาหมดศรัทธาในตัวเจ้าของเกลียดเจ้าของ เกลียดสังคมในบ้านนั้นๆ
10. ระลึกเสมอว่าการเลี้ยงหมานับจากวันแรกที่ท่านนำเขาเข้าบ้านแล้วท่านเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาตลอดไปจนสิ้นอายุขัยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ฉะนั้นเขาต้องอยู่กับเราไปอย่างมีความสุขตามสมควร
จากข้อแนะนำทั้ง 10 ข้อนี้จะเป็นแนวทางของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ระหว่างหมาดุและคนในครอบครัว
หากปรากฏว่าปฏิบัติเช่นนี้แล้วยังเกิดความรุนแรงจากหมานั้นๆ ก็ขอให้รีบปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อการแก้ไขตามหลักวิชาต่อไป จำไว้ว่าการลงโทษด้วยกำลัง ความรุนแรง การลงโทษด้วยวิธีจำขัง ทรมานไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหมาดุได้เลย
มีปัญหาหมาและสัตว์ต่างๆ ด้านสวัสดิภาพความเป็นอยู่ การทรมาน ฯลฯ ปรึกษา
"ศูนย์สวัสดิภาพสัตว์ศึกษา"
คณะสัตวแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาลายา นครปฐม 73170
โทรศัพท์ 441-0932, 441-0936
E-mail : vsprt@mahidol.ac.th
โดยคุณ : ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น