++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2548

สุขภาพจิต

สุขภาพจิต หมายถึง ความสามารถของบุคคลที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดี มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสุขสบาย ลแะสนองความต้องการของตนเองในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่มีข้อขัดแย้งภายในจิตใจ

เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน มีลักษณะการดำรงชีวิตเป็นครอบครัวหลายๆครอบครัวรวมกันเป็นชุมชนหรีอสังคม ในแต่ละสังคมย่อมีขนบธรรมเนียมประเพณี เศรษฐกิจและระเบียบที่แตกต่างกัน คนที่มีสุขภาพจิตดีนั้น จะเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดี กล้าเผชิญกับความจริง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ตอนที่ 1 การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในชุมชน


สิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยทั่วไป หมายถึง สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ และอาจเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น คน อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม ครอบครัว เศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง ภาษา สภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมในชุมชนนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากไม่น้อย ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และความต้องการ ถึงแม้ว่าบุคคลจะมีความต้องการพื้นฐานเหมือนกัน คือ ปัจจัยสี่ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่มห่ม และยารักษาโรค ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตก็จริงอยู่ แต่บุคคลจำนวนไม่น้อยที่มีความต้องการสิ่งดังกล่าว โดยมีปริมาณและคุณภาพเกินความจำเป็นต่อฐานะและเศรษฐกิจของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัว นอกจากความแตกต่างของบุคคลทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆอีก เช่น ความขัดแย้งและความคับข้องใจ ซึ่งเป็นปัญหาในการปรับตัวตามมาอีกด้วย จากปัญหาต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จะเห็นได้ว่าการปรับตัวของคนเรานั้นมีความยุ่งยากพอสมควร ซึ่งถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เราก็จะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้ ดังนั้น การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการดำรง ชีวิตในสังคมยิ่ง เราควรสนใจและหาวิธีการปรับปรุงตนเองให้สามารถเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้

ปัญหาและข้อเสนอแนะในการปรับตัว


1. ปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคล บุคคลที่จะสามารถปรับปรุงตนเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้นั้น จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ทั้งนี้เพราะความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่สามารถทำให้ ตนเองปรับตัวได้ การแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้น เราจะต้องศึกษาตัวเองก่อนว่ามีจุดบกพร่องทางร่างกาย จิตใจและอารมณ์มากน้อยเพียงใด เช่น หากมีรูปร่างเล็กก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่นำมาเป็นปมด้อยของตน เป็นต้น ในทำนองเดียวกันทางด้านจิตใจและอารมณ์เราจะต้องรู้ตัวเองว่ามีจิตใจและ อารมณ์อย่างไร เช่น มีอารมณ์ร้อน อารมณ์รุนแรง สุขุม เยือกเย็น มีความอดทนจริงหรือไม่ หากเราทราบและยอมรับว่ายังมีข้อบกพร่องที่เราต้องปรับปรุงจิตใจและอารมณ์ ของเราให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถเข้ากับบุคคลอื่นในสังคมได้ หากเราได้ศึกษาตัวเองอย่างรอบคอบถี่ถ้วนเกี่ยวกับร่างกาย จิตใจและอารมณ์แล้ว ก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้ นอกจากนี้มนุษย์ยังมีความแตกต่างทางด้านความรู้พื้นฐาน ความฉลาด ไหวพริบ สติปัญญา ฐานะทางเศรษฐกิจ คุณวุฒิ และวัยวุฒิของบุคคลแต่ละชั้น เราจะต้องรู้จักการวางตัวและปฏิบัติตัวให้เหมาะสมด้วย

2. ปัญหาความต้องการของบุคคล ความต้องการทางร่างกาย จิตใจและสังคมของมนุษย์นั้น เป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการปรับตัว แต่ความแตกต่างทางด้านความต้องการของจิตใจนั้น มีอิทธิพลเหนือความแตกต่างทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม กล่าวคือ ความต้องการทางด้านร่างกาย เช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และความต้องการทางเพศนั้น ร่างกายมีความต้องการมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายเป็นสำคัญ แต่ความต้องการทางด้านจิตใจนั้น มีอิทธิพลเหนือร่างกาย หากเราไม่สามารถบังคับจิตใจตนเองได้ เมื่อจิตใจเกิดความโลภก็บังคับให้ร่างกายต้องปฏิบัติตามที่จิตใจสั่ง เช่น ความต้องการเครื่องอุปโภคบริโภค โดยไม่รู้จักประมาณฐานะของตน จะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างไม่มีความสุข
ฉะนั้น ปัญหาและอุปสรรคในการปรับตัวที่สำคัญที่สุด คือ การบังคับจิตใจตนเอง หากเราสามารถบังคับจิตใจให้เป็นกลาง มีเหตุผล มีความมานะ อดทน รู้จักตัดสินใจอย่างฉลาดแล้ว ก็จะช่วยลดปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้

3. ปัญหาความขัดแย้งหรือความคับข้องใจ ความขัดแย้งหรือความคับข้องใจโดยทั่วไป อาจแยกออกได้ดังนี้

3.1 ความขัดแย้งชนิดที่เป็นบวกบวกหรือชอบทั้งคู่ ได้แก่ ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีคุณค่าเป็นบวก เป็นสิ่งที่บุคคลเกิดความพึงพอใจและต้องการทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ไม่สามารถตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตรงกับสำนวนไทยกล่าวว่า "รักพี่เสียดายน้อง" นั่นเอง เช่น เด็กชอบเล่นกีฬามาก แต่ผู้ปกครองให้ตั้งใจเรียนอย่างเดียว เด็กจะเกิดข้อขัดแย้งขึ้นในใจ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้ทั้งสองกรณีในขณะที่ต้องเลือกเอากรณีใดกรณี หนึ่ง เมื่อตัดสินใจไม่ได้ทำให้เกิดความคับข้องใจ
3.2 ความขัดแย้งชนิดที่เป็นลบลบหรือเกลียดทั้งคู่ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่พึงประสงค์หรือความไม่พอใจเกิดขึ้นในเวลา เดียวกัน เช่น หากไม่อ่านหนังสือก็ต้องทำการบ้าน หากไม่ถูบ้านก็ต้องล้างจาน เป็นต้น ซึ่งตรงกับสำนวนไทยที่ว่า "หนีเสือปะจระเข้" นั่นเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ทำให้เกิดความคับข้องใจว่า ควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะหลีกพ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว
3.3 ความขัดแย้งชนิดที่เป็นทั้งบวกและลบหรือทั้งรักทั้งเกลียด เป็นเหตุการณ์ที่มีทั้งชอบ พอใจและไม่ชอบ ไม่พอใจในเวลาเดียวกัน เช่น ต้องทำการบ้านให้เสร็จจึงจะได้ดูโทรทัศน์ หรือให้งานอย่างหนึ่งที่ไม่ชอบทำแต่งานนี้ค่าจ้างสูง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้ง 3 ลักษณะนี้ มีทั้งเหตุการณ์ที่พอใจและไม่พอใจ ที่บุคคลต้องเลือกปฏิบัติตามความเหมาะสมของตน หากเกิดความขัดแย้งขึ้นในจิตใจจะมีผลกระทบต่อจิตใจและร่างกาย เช่น อาจทำให้จิตใจไม่สบายและกระวนกระวาย อันอาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อคนเราประสบปัญหาหรือข้อขัดแย้งต่างๆ ก็จะพยายามปรับตัวหรีอคิดหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ได้ โดยอาจแสดงพฤติกรรมต่างๆออกมาดังนี้
1. การรุกรานหรือก้าวร้าว เมื่อเกิดความไม่พอใจ ทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น พูดไม่เพราะ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มักก้าวร้าวต่อบุคคลอื่น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการปรับตัว แต่ในทางจิตวิทยา บางครั้งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากถูกเก็บกดไว้นานๆ จะทำให้เกิดความกังวลใจ สมองตึงเครียด และอาจเป็นโรคประสาทได้
ส่วนในทางสังคมนั้น ไม่นิยมส่งเสริมให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้อื่นอย่างเปิดเผย เพราะการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมนั้นจะต้องรู้จักอดทน เข้าใจในความแตกต่างของแต่ละบุคคล รู้จักการให้อภัย หรือระงับความไม่พอใจได้ เพราะการแสดงกิริยาต่างๆที่ไม่พอใจออกมาอยู่เสมอ จะทำให้ไม่มีใครต้องการสมาคมด้วย
2. การหาเหตุเข้าข้างตนเอง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก็มักจะหาเหตุมาอ้าง เพื่อให้รู้สึกว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้นโดยตรง แต่มีสาเหตุมาจากสิ่งอื่นๆ เช่น เมื่อสอบตกก็จะอ้างว่าเพราะตนเองไม่สบาย ทำงานส่งครูไม่ทันก็มักอ้างว่าเพราะต้องทำงานบ้าน เป็นต้น
3. การทดแทน หมายถึง การกระทำอย่างหนึ่งเพื่อชดเชยหรือตอบแทนความบกพร่องของตนเองในทางที่สังคม ยอมรับ เช่น เรียนหนังสือไม่เก่ง ก็เปลี่ยนไปสนใจหรือเล่นกีฬาให้เก่ง คนที่ไม่สามารถเล่นกีฬาได้ก็มุ่งเอาใจใส่ทางการเรียน เป็นต้น
4. การกล่าวโทษผู้อื่น ซึ่งเราจะพบอยู่เสมอ เข้าทำนอง "รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง" กล่าวคือ เมื่อทำอะไรผิดพลาดขึ้นก็จะอ้างว่า คนอื่นทำให้เสีย หรือกล่าวโทษผู้อื่นเพื่อปิดบังความผิดของตนเอง เช่น การทำงานส่งครูเป็นกลุ่ม เมื่อทำไม่เสร็จอ้างว่าเพื่อนร่วมกลุ่มทำงานช้า ทำให้ส่งงานไม่ทัน ซึ่งเป็นการหาเหตุเข้าข้างตนเองอีกวิธีหนึ่งนั่นเอง
5. การขัดขืน เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่บุคคลใช้สำหรับเรียกร้องความสนใจจากบุคคลอื่น มักจะคัดค้านโต้แย้งการพูดหรือการกระทำของผู้อื่นอยู่เสมอ ถ้าให้เขาทำอย่างหนึ่งเขาจะกลับไปทำอีกอย่างหนึ่ง เช่น ผู้ปกครองให้เขาอยู่บ้านแต่กลับหนีไปเที่ยว ครูให้ส่งงานวันนี้จะต้องส่งช้าไป 2-3 วัน เป็นต้น
6. การแยกตัวออกจากสังคม เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้น บางคนชอบแยกตัวออกไปจากเหตุการณ์นั้นเสีย หรือเก็บตัวไม่ยอมพบกับใคร หากต้องการสิ่งใดที่คิดว่าจะทำให้ตนเองสมหวัง ก็สร้างวิมานในอากาศ หลีกเลี่ยงการงาน นอนหลับ แกล้งเจ็บป่วย ตลอดจนดื่มสุราหรือของมึนเมา พฤติกรรมนี้นับว่าเป็นผลร้ายต่อบุคคลมาก เพราะบางครั้งอาจทำให้บุคคลใช้ชีวิตเพื่อประชดสิ่งที่ไม่สมหวัง และบางครั้งอาจทำให้เป็นโรคประสาทและโรคจิตได้ง่าย
7. การอดกลั้น หมายถึง การพยายามระงับอารมณ์ต่างๆให้ผ่อนคลายลง เช่น เวลาโกรธหรือมีโทสะ ก็พยายามระงับความโกรธหรือโทสะเหล่านั้นไว้และพยายามทำความเข้าใจกับ เหตุการณ์ที่ทำให้โกรธ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะทำให้สามารถคลายความโกรธลงได้
จากที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงพฤติกรรมบางอย่างเท่านั้น ที่บุคคลนำมาใช้ในการผ่อนคลายความตึงเครียดหรือความคับข้องใจให้ลดน้อยลง และหมดไป ดังนั้น เราจึงควรปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

หลักในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในชุมชน


ในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในชุมชนนั้น มีหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. การปรับปรุงตนเอง การที่เราจะปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้นั้น หากเรารู้จักสำรวจข้อบกพร่องของตนเองว่า มีอะไรบ้าง ควรปรับปรุงแก้ไขและส่งเสริมตนเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร รู้จักตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับตนเองโดยใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ และรู้จักนำเหตุการณ์ที่ผ่านมามาช่วยแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับสภาพการณ์ ปัจจุบัน ก็จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยน แปลงในชุมชนได้อย่างดี โดยไม่เกิดผลเสียแก่ตนเองและผู้อื่น
2. การปรับตัวในครอบครัว ครอบครัวเป็นแหล่งสำคัญในการปลุกฝังพื้นฐานต่างๆ ที่ช่วยให้บุคคลมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีเหตุผล รู้จักปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นในสังคมได้ เนื่องจาก ในแต่ละครอบครัวอาจมีบุคคลอาศัยอยู่หลายคน เช่น พ่อแม่ ลูก ลุงป้า น้าอา ปู่ย่า ตายาย เป็นต้น ซึ่งแต่ละบุคคลในครอบครัวย่อมมีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้น บุคคลในครอบครัว ควรรู้จักปรับตัวเข้าหากัน รู้จักพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสามัคคีรักใคร่กัน และการส่งเสริมหรือสนับสนุนความสามารถของบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับตัวเข้ากับผู้สูงอายุ (บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) นับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับบุตรหลาน ควรรู้จักปฏิบัติตนต่อผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้สูงอายุมีความต้องการทางอารมณ์และจิตใจต่างจากวัยก่อนๆดังนี้

1. ต้องการความรัก และความอบอุ่นเป็นพิเศษจากบุตรหลานหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีความรู้สึกว่า ตนไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากบุตรหลาน เพราะบุตรหลานส่วนใหญ่ต่างมีภาระกิจประจำวันที่ต้องทำ จนบางครั้งไม่มีเวลาได้สนทนาหรือถามทุกข์สุขกับตน
2. ต้องการความมั่นคงปลอดภัย ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเหมือนกับตนถูกทอดทิ้งหรือปล่อยไว้ให้อยู่คนเดียว จะตัดสินใจทำอะไรก็มักขาดความมั่นใจ กลัวการผิดพลาด หรืออุบัติเหตุเกิดขึ้น
3.ต้องการได้รับความเคารพยกย่องและนับถือจากบุคคลอื่น เนื่องจาก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ หลังจากที่ปลดเกษียณแล้ว สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไป ตำแหน่งหน้าที่และการได้รับการเคารพยกย่องนับถือก็หมดไปด้วย จึงรู้สึกว่าตนไม่มีประโยชน์ต่อบุคคลอื่น
4.ต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือครอบครัวหรือสังคม การปฏิบัติเช่นนี้ เพื่อให้ครอบครัวและสังคมเห็นว่า ตนยังมีประโยชน์และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้
5.ต้องการให้คนในครอบครัวเห็นความสำคัญของตน ปรารถนาให้บุคคลอื่นเชื่อฟัง และปฏิบัติตามความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ปัญหาของตน
6.ต้องการมีเพื่อนและผู้ที่ไว้วางใจได้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักปรารถนาเพื่อนคุย เพื่อปรับทุกข์สุขซึ่งกันและกัน เพื่อผ่อนคลายความเงียบเหงาหรือความตรึงเครียดทางจิตใจ และเป็นที่พึ่งพาอาศัยในยามเจ็บป่วย
7.ต้องการพักผ่อนหย่อนใจหรือทำจิตใจให้สบาย เช่น ต้องการไปเยี่ยมเพื่อนสนิท ต้องการไปวัดเพื่อฟังเทศน์หรือประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือไปเที่ยวชายทะเล ป่า เป็นต้น
8.ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น การเล่นดนตรี การปลูกต้นไม้ เป็นต้น เพื่อผ่อนคลายความตรึงเครียด หรือแก้เหงาเมื่ออยู่คนเดียว
จะเห็นว่า ผู้สูงอายุมีความต้องการทางด้านอารมณ์และจิตใจหลายประการ ซึ่งบุตรหลานและบุคคลอื่นๆในครอบครัวควรศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติตนต่อผู้ สูงอายุได้ถูกต้อง เพื่อให้ท่านเห็นว่าเรายังเคารพนับถือท่านเหมือนเดิม และเห็นว่าท่านยังมีความสำคัญและสามารถทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวลและสังคม ได้

ข้อควรปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ มีดังนี้

1. ควรมีเจตคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ โดยระลึกอยู่เสมอว่าผู้สูงอายุนั้นเป็นบุคคลสำคัญในการสร้าง การบุกเบิกและการแสวงหาสิ่งต่างๆให้แก่บุตรหลาน แม้ว่าท่านจะมีอายุมากแล้วก็ตาม แต่ยังสามารถทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวและสังคมได้ เนื่องจาก ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ต่างๆมาก สามารถแนะนำหรือให้คำปรึกษาแก่บุตรหลานได้ดี ดังนั้น เราควรเข้าใจ เชื่อฟังและยอมรับความคิดเห็นของผู้สูงอายุ โดยไม่โต้แย้งหรือแสดงอาการต่างๆ ที่ไม่พอใจต่อผู้สูงอายุ เพราะอาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกน้อยใจและคิดว่าตนเองเป็นผู้ไร้ประโยชน์
2. ควรให้ความเคารพนับถือและกตัญญูกตเวทีต่อผู้สูงอายุ ควรเคารพนับถือท่านในฐานะที่เป็นบุคคลซึ่งมีประสบการณ์มาก่อน รู้จักตอบแทนพระคุณของท่านที่ได้อุปการะเลี้ยงดู ช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำแก่เรา อาจแสดงถึงการระลึกถึงพระคุณของท่านโดยการเอาใจใส่ดูแลท่านเป็นพิเศษ จัดของขวัญไปเยี่ยมคารวะท่านในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเกิด วันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น
3. ควรยอมรับพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่นการเคลื่อนไหวต่างๆไม่คล่องแคล่วว่องไว หูรับฟังเสียงไม่ดี พูดเสียงดัง ชอบบ่น จู้จี้ หงุดหงิด และโมโหง่าย เป็นต้น ดังนั้น เราไม่ควรตำหนิหรือล้อเลียนท่านและควรหาโอกาสส่งเสริมท่านให้ช่วยเหลือตน เองให้มากที่สุด เช่น การลุกนั่ง กินอาหารและกิจวัตรประจำวันทุกอย่าง เพราะการช่วยเหลือผู้สูงอายุมากเกินไป ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้ใช้พลังงานและสร้างความอ่อนแอ ในที่สุดจะต้องพึ่งผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่สามารถช่วยตนเองได้
4. ควรดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพของผู้สูงอายุอยู่เสมอ เพราะวัยสูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจในทางเสื่อมลง ดังนั้น เราควรเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของท่านเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรจัดอาหารที่อ่อนและย่อยง่าย รักษาความสะอาดของร่างกาย การออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรปล่อยให้ท่านอยู่คนเดียว จะทำให้ท่านรู้สึกเหงา ว้าเหว่และคิดถึงเรื่องต่างๆในอดีต
5. ควรหาโอกาสให้ผู้สูงอายุพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับบุคคลต่างๆในครอบครัว และเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้แก่ผู้สูงอายุ และเพื่อให้บุตรหลานได้แสดงความรัก ความสามัคคีกลมเกลียวกัน ทำให้ผู้สูงอายุสนุกสนานและมีความสุข การมีโอกาสพบสมาคมกับคนวัยเดียวกัน ทำให้ผู้สูงอายุได้ศึกษาและเข้าใจข้อแตกต่างของปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของกัน และกัน เป็นการศึกษาชีวิตบั้นปลายด้วยตนเอง ซึ่งช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตให้แก่ผู้สูงอายุ
3.การปรับตัวในสถานศึกษา สถานศึกษาเป็นแหล่งที่รวมบุคคลจากถิ่นต่างๆ และจากคนในหลายๆครอบครัวมาศึกษาร่วมกัน แต่ละบุคคลที่มานี้ก็ย่อมมีอุปนิสัยความประพฤติปฏิบัติและจิตใจแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดปัญหาต่างๆขึ้น และปัญหาของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป บางคนอาจมีปัญหาในการเรียน บางคนอาจมีปัญหาในการคบเพื่อน และบางคนมีปัญหาด้านความประพฤติ เป็นต้น

ฉะนั้น การปรับตัวให้เข้ากับสภาพในสถานศึกษาเพื่อสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้ ควรจะพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้

3.1 การวางตัวในการคบเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน ควรจะปฏิบัติอย่างไรเมื่ออยู่ร่วมกัน ลักษณะนิสัยใจคอของแต่ละบุคคลจะแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวเราเองเป็นสำคัญ ที่จะพิจารณาว่า เพื่อนแต่ละคนที่เราจะคบหานั้น จะคบกันในลักษณะใด เช่น เป็นเพื่อนเล่นกีฬา สนุกสนานกันเท่านั้น เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน เป็นต้น นอกจากนี้ เราควรวางตัวให้เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมสถานศึกษาด้วย
3.2 การปรับตัวในเรื่องการศึกษา จะต้องรู้จักปรับปรุงการเรียนของตนเองให้ดีขึ้น เมื่อมีปัญหาในการเรียนไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรจะปรึกษาครูผู้สอนหรือรับคำแนะนำจากครูที่ปรึกษาว่า ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงจะเป็นการส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้
3.3 การปรับตัวเข้ากับครู อาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษา ควรปฏิบัติตนให้เป็นที่รักใคร่ของครูอาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ขณะเดียวกันควรปฏิบัติต่อครูอาจารย์ด้วยความเคารพนับถือ เชื่อฟังทั้งในฐานะผู้ให้การอบรมสั่งสอน ให้ความรู้ และมีอาวุโสกว่า
3.4 การปฏิบัติต่อรุ่นน้องและรุ่นพี่ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นปัญหาสำหรับรุ่นน้อง เราควรให้ความช่วยเหลือเป็นตัวอย่างที่ดีในทุกๆด้าน รุ่นน้องควรให้ความนับถือ ยอมรับ ถ้าเกิดเหตุขัดแย้งควรจะวางตัวเป็นกลาง เพราะอาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งรุนแรงขึ้น หรือทำให้รุ่นพี่ไม่พอใจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่อุปสรรคในเรื่องอื่นได้
3.5 การช่วยเหลือสถานศึกษา เมื่อมีเหตุการณ์ที่สถานศึกษาจะต้องขอความร่วมมือ เราควรประมาณตนว่า ลักษณะของงานนั้นเราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง หากสามารถช่วยได้ควรช่วยตามกำลังความสามารถ เช่น ด้านทรัพย์สิน กำลังกาย เวลา ให้กับสถานศึกษาตามโอกาสอันควร เป็นต้น
4. การปรับตัวในสังคม การอยู่ร่วมกันในสังคมมักจะมีปัญหาต่างๆ ที่ทำให้บุคคลเกิดความคับข้องใจ เกิดความไม่พอใจและความเดือดร้อนต่างๆในการดำรงชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลไม่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมได้ทันต่อ เหตุการณ์นั่นเอง หรือบางครั้งก็เป็นการลังเลไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสม สิ่งที่ควรพิจารณาในการปรับตัวทางสังคมโดยทั่วไป มีดังนี้

4.1 ควรรู้จักพิจารณษมารยาท ระเบียบ ประเพณี และวัฒนธรรมของสังคมนั้นว่าเป็นอย่างไร และปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของสังคม หากปฏิเสธหรือขัดแย้งแล้ว ย่อมไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบุคคลในสังคมได้ ดังนั้น เราควรปฏิบัติให้เหมาะสมกับกาละเทศะ มีมารยาททีดีต่อบุคคลอื่น ปฏิบัติตนตามระเบียบและประเพณีต่างๆของสังคม ตามโอกาสอันควร
4.2 การวางตัวต่อบุคคลอื่นๆ ควรรู้จักพิจารณาว่า จะวางตัวต่อบุคคลต่างๆในสังคมอย่างเหมาะสมได้อย่างไรบ้าง เช่น การใช้คำพูดที่สุภาพ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่หรือผู้ที่อาวุโสกว่า การวางตัวต่อเพื่อนวัยเดียวกัน การวางตัวต่อเพศตรงข้าม การช่วยเหลือบุคคลอื่น เป็นต้น การรู้จักวางตัวต่อบุคคลอื่นในสังคมอย่างเหมาะสมจะช่วยให้เราเป็นที่นิยมชม ชอบของบุคคลต่างๆ ที่สมาคมด้วยและทำให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยความมั่นใจ
4.3 การช่วยเหลือและบริการสังคม บุคคลโดยทั่วไปในสังคมควรรู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน ตามความสามารถของแต่ละบุคคล เช่น การให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในด้านการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในชุมชน การป้องกันโรคติดต่อ ตลอดจนการสังคมสงเคราะห์ หรือการให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์ในสังคม เป็นต้น
4.4 การปรับตัวในเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันนี้เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ได้เต็มที่ ดังนั้น คนในสังคมย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่ละฝ่ายต่างก็คิดว่า ความคิดเห็นของตนถูกต้อง ควรได้รับความสนใจและแก้ไขสังคมตามแนวความคิดของตนที่เสนอ เมือมีฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยหรือมีความคิดขัดแย้งกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆทางการเมืองได้ ดังนั้น เราควรรู้จักคิด พิจารณาด้วยเหตุผล ควรวางตัวเป็นกลาง ไม่รับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ทางการเมืองได้เหมาะสม จะช่วยให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ดี
5.การปรับตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่คนเรานำมาบริการในการดำรงชีวิต อุปสรรคและปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมักจะเป็นเรื่องสำคัญพอสมควร ดังนั้น เพื่อป้องกันความเดือดร้อน ความขัดแย้ง ความไม่ปกติสุขของตนเองและครอบครัวแล้ว เราควรรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัว หรือของตนเองอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาจากรายได้ประจำเป็นส่วนสำคัญ ไม่ควรใช้จ่ายเกินความสามาถรถหรือฐานะ ควรคำนึงถึงรายรับรายจ่ายเป็นสำคัญ ควรรู้จักมัธยัสถ์ เพื่อจะได้ไม่เดือดร้อนในภายหน้า เพราะการรู้จักใช้จ่ายนี้จะเป็นรากฐานให้คนก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้า นอกจากรู้จักใช้ทรัพย์สินแล้ว ควรรู้จักใช้สิ่งของต่างๆให้คุ้มค่าด้วย

ในวัยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนนี้ นักเรียนส่วนมากยังไม่มีรายได้เป็นของตนเอง ยังต้องพึ่งพาอาศัยค่าใช้จ่ายจากครอบครัว คือ พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ดังนั้น นักเรียนควรรู้จักใช้จ่ายเงินที่ได้มาให้คุ้มค่า และควรรู้จักออมทรัพย์ไว้ใช้เมื่อจำเป็นด้วย

การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้เหมาะสม นับเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตในสังคม กล่าวคือ การรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตตามความต้องการ โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ขัดแย้ง หรือความไม่พึงประสงค์ต่างๆ ให้กับตนเองและบุคคลอื่น นับว่าช่วยให้บุคคลนั้นมีความสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

ตอนที่ 2 การสร้างมนุษยสัมพันธ์


คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่ง ที่จัดว่าเป็นพรสวรรค์ของบุคคลนั่นคือ ความสามารถในการที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับบุคคลอื่น เราจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความผาสุกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีผู้อื่นที่จะคอยปรึกษาหารือหรือปรับทุกข์กัน ได้ ในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์นั้น สามารถปฏิบัติได้ง่าย ถ้าเรายึดหลักความจริงใจต่อผู้อื่นอย่างแท้จริง และในบางครั้งถ้าเราเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจตนเองขึ้นมา ผู้อื่นจะช่วยให้เราเกิดความกล้าหรือเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นมาได้ คนขาดเพื่อนนั้นมักจะดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว รู้สึกเหงา และดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างไม่มีความสุข ในที่สุดอาจจะป่วยเป็นโรคประสาท หรือมีอาการวิปริตต่างๆ ได้ ดังนั้น การสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของคนเราในปัจจุบัน

ความหมายของมนุษยสัมพันธ์


มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยศาสตร์และศิลปะในการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีกับบุคคล เพื่อให้ได้มาซึ่งความรักใคร่นับถือ ความจงรักภักดีและความร่วมมือที่ดี

มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การที่บุคคลอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือเข้ากับผู้อื่นได้ยากนั้น อาจเป็นเพราะตนเองขาดหลักมนุษยสัมพันธ์ก็ได้ การปรับปรุงในด้านมนุษยสัมพันธ์ของบุคคลจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น

ความสำคัญของมนุษยสัมพันธ์


เนื่องจากมนุษย์มีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน ไม่สามารถแยกไปอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังตนได้ โดยทั่วไปคนเรามักจะต้องติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆอยู่เสมอ ทั้งในด้านส่วนตัวหรือในด้านกิจการงาน การติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆซึ่งมีจำนวนมากจึงมีความสำคัญต่อผลการ ปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ หากมนุษยสัมพันธ์ในกิจการงานดำเนินไปด้วยดี ผู้ปฏิบัติงานก็ย่อมจะสามารถปฏิบัติงานได้ผลดีตามไปด้วย ตรงกันข้าม หากมนุษยสัมพันธ์ในการดำเนินงานไม่ดี อาจเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไม่เข้าใจกัน ความเห็นไม่ตรงกัน อุปนิสัยต่างกัน ระดับความเป็นอยู่ต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน ผลประโยชน์ขัดกัน เป็นต้น จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปไม่ดี การปฏิบัติงานอาจจะเกิดความสับสนวุ่นวาย ผลงานก็ย่อมเสียหายหรือมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงไปด้วย

ประโยชน์ของการมีมนุษยสัมพันธ์


การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั้น จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม กล่าวคือ ในแง่ประโยชน์ต่อตนเอง บุคคลที่มีมนุษยสัมพันธที่ดีกับเพื่อนจะก่อให้เกิดความเข้าใจและความเห็นใจ ซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน สามารถสมาคมกับบุคคลระดับต่างได้ดี ประสบความสำเร็จในการศึกษาและการประกอบอาชีพ ในแง่ส่วนรวม การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยสร้างความสามัคคีกลมเกลียวขึ้นในหมู่คณะ ร่วมใจกันทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยปราศจากข้อขัดแย้ง สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและในที่สุดจะช่วยพัฒนาให้สังคมและ ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า

การสร้างมนุษยสัมพันธ์


ดังได้กล่าวมาแล้วว่า มนุษยสัมพันธ์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการติดต่อกับบุคคลอื่นและการ บริหารงานทั่วไป การที่จะได้มาซึ่งมนุษยสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์อันดีนั้น เราจะต้องถือหลักที่ว่า "ให้สิ่งที่เขาต้องการแล้วท่านจะได้สิ่งที่ท่านต้องการ" หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง

หลักมนุษยสัมพันธ์นี้ แอนดรู คาร์เนกี (Andrew Carnegie) นักธุรกิจชาวสกอตแลนด์ได้เป็นผู้ค้นพบ โดยสาเหตุจากวันหนึ่งเขาไปตกปลา เบ็ดที่เขาตกนั้นใช้ลูกหวายเป็นเหยื่อ แทนที่จะใช้ไส้เดือนหรือเหยื่ออย่างอื่น ปรากฏว่า วันนั้นเขานั่งตกปลาอยู่ถึง 4 ชั่วโมงก็ยังตกปลาไม่ได้เลย แต่เขาก็มิได้ละความพยายาม เขากลับคิดตั้งคำถามขึ้นว่าเหตุใดปลาจึงไม่กินเหยื่อ ในที่สุด เขาก็คิดได้ว่า ปลาไม่กินเหยื่อเพราะเขาไม่ได้ให้สิ่งที่ปลาต้องการ กล่าวคือ ปลาไม่ต้องการลูกหวาย จึงทำให้เขาตกปลาไม่ได้นั่นเอง

ดังนั้น หากเราถือหลักของคาร์เนกีดังกล่าวข้างต้นเป็นหลักมนุษยสัมพันธ์แล้ว เราก็จำเป็นต้องรู้จักสำรวจตนเอง ศึกษาสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับบุคคล และการผูกมิตรด้วย

หลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์


หลักในการสร้างมนุษยสัมพันธ์นั้น เราควรคำนึงถึงหลักต่อไปนี้

1. การสำรวจตนเอง ในการสมาคมกับบุคคลอื่นในชีวิตประจำวันนั้น เราควรสำรวจตนเองว่าเรามีสิ่งใดบกพร่องมากไปหรือไม่ หากมีควรหาทางแก้ไขปรับปรุงตนเอง การชมตนเองมากเกินไปนั้นมีผลเสียมาก เช่น ทำให้บางคนลืมตัวคิดว่าตนเองดีแล้ว ไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข เป็นต้น แต่บางครั้งคำชมก็จำเป็นเหมือนกัน ถ้าคำชมนั้นเป็นคำชมที่จริงใจจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม เราควรรู้จักประมาณตน มองตนเองโดยไม่ลำเอียง หรือเชื่อคำชมของผู้อื่นง่ายเกินไป

การสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้น เราควรมีความจริงใจต่อเขา เนื่องจาก ความจริงใจต่อกันโดยไม่หวังผลประโยชน์แอบแฝงนั้น จะก่อให้เจตคิตที่ดีซึ่งกันและกัน มีความไว้วางใจกัน อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีและแนบแน่นระหว่างเรากับบุคคลที่สมาคมด้วย

นอกจากนี้ เราควรสำรวจตนเองว่า เรามักติเตียนปมด้อยของผู้อื่นหรือไม่ และมีมารยาทในสังคมหรือไม่ เช่น การใช้กิริยาและวาจาที่สุภาพ การปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและค่านิยมของสังคม เป็นต้น หากเราปรารถนาจะสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นให้มั่นคง เราควรมองปมด้อยของผู้อื่นเป็นเรื่องธรรมดา และถ้าสามารถช่วยเหลือเขาได้ควรช่วยเหลือเขาตามสมควร เช่น เพื่อนติดสุราจนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ก็หาทางตักเตือนและแนะนำด้วยความหวังดี ให้กำลังใจแก่เขาให้กลับมทำงานหรือศึกษาต่อตามปกติ เป็นต้น การมีมารยาทในสังคม นับว่าจำเป็นในการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเช่นกัน เพราะช่วยให้คนเราปฏิบัติตนต่อกันได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องตามกาละเทศะ และก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในสังคม

2. การศึกษาสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับบุคคล บุคคลโดยทั่วไปมักมีลักษณะที่คล้ายๆกันอยู่หลายประการ หากเราได้ตระหนักถึงลักษณะเหล่านี้ ก๋จะช่วยเสริมการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ง่ายขึ้น และดำรงความสัมพันธ์อันดีให้มั่นคงได้ ลักษณะต่างๆเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว มีดังนี้

2.1 ไม่ชอบให้ใครตำหนิ แม้ว่าความคิดหรือการกระทำนั้นจะผิดก็ตาม เนื่องจากเรามักเข้าใจว่าสิ่งที่เราคิดหรือกระทำลงไปนั้นถูกต้องแล้ว คนเราจะกระทำสิ่งใดย่อมีเหตุผลของตนเองเสมอ แต่เป็นเหตุผลในแง่ความนึกคิดของแต่ละคน ฉะนั้น ความคิดของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันได้ ด้วยเหตุนี้การตำหนิผู้อื่นเมื่อคิดว่าเขากระทำผิดนั้น นับว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากความคิดเห็นของแต่ละบุคคลต่างกัน อาจทำให้ผู้ถูกตำหนิไม่พอใจและรู้สึกว่าเป็นการทำลายเกียรติของตน ฉะนั้น เมื่อธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบให้ใครมาตำหนิตนเช่นนี้ เราควรงดการตำหนิผู้อื่น ควรรู้จักนำใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน
2.2 อยากมีชื่อเสียงเด่น คนเรามักชอบให้ผู้อื่นยกย่องสรรเสริญตนว่า เป็นคนเก่งหรือมีเกียรติ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนเราเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ที่อำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตน อย่างไรก็ตาม เราควรรู้จักประมาณตนและมีความมานะพยายามในทางที่ถูก ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นด้วย
2.3 ชอบคนที่อารมณ์ดีมากกว่าอารมณ์เสีย คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใสหรือมีนิสัยร่าเริงอยู่เสมอนั้น เป็นบุคคลที่น่าคบหาสมาคมมากกว่าคนที่มีแต่ความทุกข์ อารมณ์ไม่มั่นคง หงุดหงิดและโกรธง่าย
การยิ้มของคนเรานั้น นับว่าสำคัญมาก ดังสุภาษิตของจีนกล่าวไว้ว่า "คนที่ยิ้มไม่เป็นจะค้าขายขาดทุน" เพราะการยิ้มแสดงถึงการมีความสุข การต้อนรับ การมีน้ำใจโอบอ้อมอารี ทำมห้ผู้ที่พบเห็นอยากสมาคมด้วย ดังนั้น เราควรยิ้มแย้มแจ่มใสกับบุคคลที่เราสมาคมด้วยเสมอ เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลนั้น
2.4 ไม่ชอบให้ใครโต้เถียง โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น ไม่ชอบให้ใครมาพูดขัดแย้งหรือโต้เถียงตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อหน้าที่ประชุมหรือในกลุ่มคน และหากผู้โต้เถียงเป็นบุคคลที่มีฐานะต่ำกว่าด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความไม่พอใจมากยิ่งขึ้น
ผู้สูงอายุซึ่งเป็นบุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตใจ มักยึดมั่นในความคิดดั้งเดิมของตน ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเดิม อาจต่อต้านการเปลี่ยนแปลงแนวทางชีวิตใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ที่ขัดแย้งกับความคิดเดิมของตน ดังนั้น จึงมักมีปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้สูงอายุกับผู้เยาว์อยู่เสมอ เราจึงควรเข้าใจถึงสภาพทางธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ เพื่อให้เราสามารถปฏิบัติตนในการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆได้
2.5 อยากให้บุคคลอื่นเคารพนับถือและยกย่องตน คนเราส่วนใหญ่ปรารถนาให้ผู้อื่นเคารพนับถือและยกย่องว่าตนเป็นคนดี มีน้ำใจโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุมักปรารถนาให้บุตรหลานและบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวเคารพยกย่องนับถือตนและคิดว่าตนยังมีประโยชน์ต่อครอบครัว ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้เยาว์ควรให้ความเคารพนับถือและยกย่องท่าน รับฟังความคิดเห็นของท่าน และขอคำปรึกษาในเรื่องที่เหมาะสมตามสมควร ก็จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเรากับผู้สูงอายุ และช่วยป้องกันปัญหาขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวได้
2.6 ชอบเห็นการรับผิดเมื่อกระทำผิด ผู้ที่กระทำผิดแล้วยอมรับผิดนั้น เป็นบุคคลที่ควรให้อภัย น่าสรรเสริญ เพราะการยอมรับผิดนั้น มิได้ทำให้ตนต้องเสียเกียรติหรือแสดงถึงความบกพร่องและความอับอาย แต่เป็นการแสดงถึงความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา เป็นบุคคลที่น่าเคารพนับถือของคนทั่วไป
2.7 ต้องการให้เป็นกันเองกับทุกคน การปฏิบัติตนเป็นกันเองกับผู้อื่น ไม่วางตัวข่มเหงผู้อื่น จะช่วยสร้างมนุษยสัมพันธฺกับผู้อื่นได้ง่าย กล่าวคือ บุคคลที่วางตัวได้เหมาะสมกับฐานะของตนโดยไม่ถือตัว ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกหรือฐานะทางเศรษฐกิจ จะสามารถเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ปเนที่รักใคร่ของคนทั่วไปและสร้างความประทับใจให้ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตนเป็นกันเองกับผู้อื่นนั้น ควรเหมาะสมกับระดับของบุคคลและกาลเทศะ เช่น การปฏิบัติตนเป็นกันเองกับเพื่อนๆ ครู ผู้สูงอายุ เป็นต้น
2.8 ชอบให้ผู้อื่นพูดในเรื่องที่ตนสนใจ คนเรามีความแตกต่างกันในด้านความคิด การศึกษา การอบรม ฐานะและความเป็นอยู่ จึงทำให้ความพอใจและความสนใจของคนเราแตกต่างกัน ดังนั้น เรื่องที่เราจะสนทนากับบุคคลต่างๆนั้น ควรสอดคล้องกับความพอใจและความสนใจของเขาให้มากที่สุด จึงจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกัน
2.9 ชอบให้ผู้อื่นฟังเมื่อตนพูด การพูดคุยหรือการแสดงความคิดเห็นร่วมกันนั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูดหรือแสดงความคิดเห็นบ้าง โดยตนเป็นผู้สนใจฟัง ควรตั้งคำถามในเรื่องที่เขากำลังพูดจะช่วยส่งเสริมให้ผู้พูดเกิดความพอใจ เพราะมีผู้อื่นสนใจฟังขณะที่ตนพูด
ลักษณะต่างๆของคนเราโดยทั่วไป ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงในการวสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือการคบมิตร นอกจากนี้ การนำหลักมนุษยสัมพันธ์ของแอนดรู คาร์เนกี้ ที่ว่า "ให้สิ่งที่เขาต้องการแล้วท่านจะได้สิ่งที่ท่านต้องการ" มาใช้ในการสร้างมนุษยสัมพันธ์นั้น เราควรรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตจริงจะช่วยสร้างมนุษย์สัมพันธ์ กับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น

3. การผูกมิตร หลักเบื้องต้นในการผูกมิตร เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันให้ยั่งยืน มีดังนี้

3.1 ความจริงใจต่อกัน นับเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในการผูกมิตร เนื่องจากความจริงใจต่อกันช่วยสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติตนอย่างเป็นกันเอง เปิดเผย และไม่ระแวงกัน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถปรึกษากันได้ ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
3.2 การช่วยเหลือกัน คนเราเมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน บางครั้งเคนเราไม่สามารถทำงานบางอย่างให้สำเร็จลุล่วงได้โดยลำพัง ดังนั้น เราจึงควรช่วยเหลือกัน การช่วยเหลือกันช่วยทำให้คนเราได้มีโอกาสใหล้ชิดสนิทสนมกันและสร้างความ สัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการผูกมิตรกับผู้อื่น
3.3 ความมีน้ำใจต่อกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีจิตเมตตากรุณาไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น และการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อน นับเป็นการแสดงความมีน้ำใจที่ดีต่อเพื่อน ซึ่งเราควรปฏิบัติเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันสืบไป
3.4 การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ในการผูกมิตรเราควรให้เกียรติแก่เพื่อนตามสมควร ไม่ควรลบหลู่ดูถูกกัน ไม่ควรเปิดเผยความลับของเพื่อนให้ผู้อื่นทราบ ไม่ควรล้อเลียนให้เพื่อนอับอายหรือแสดงความเป็นกันเองมากเกินไปจนขาดความ เกรงใจ ซึ่งทำให้เพื่อนเบื่อหน่าย ดังนั้น การให้เกียรติซึ่งกันและกันช่วยให้เรารู้จักปฏิบัติตนตามฐานะเพื่อนได้ อย่างเหมาะสม

ข้อควรคำนึงในการผูกมิตร


การผูกมิตรควรคำนึงถึงเรื่องที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
  1. ไม่ล้อเลียนเพื่อให้รู้สึกอับอาย
  2. ไม่พูดเหน็บแนม เสียดสี เยาะเย้ย หรือโต้เถียงกับเพื่อน
  3. ควรรักษาคำพูด ไม่พูดเท็จและตรงต่อเวลา
  4. ไม่โอ้อวดว่าตนมีความรู้หรือมีอำนาจมากกว่าเพื่อน หรือพยายามอบรมสั่งสอนเพื่อน
  5. สามารถควบคุมอารมณ์และจิตใตตนเองได้เสมอ มีความอดกลั้นต่ออารมณ์ที่ไม่พอใจได้ และยิ้มเสมอ
  6. มีจิตใจผ่องใสปราศจากอคติต่างๆ ไม่ระแวงสงสัยเพื่อนจนเกินไป
  7. ไม่ก้าวก่ายในธุรกิจส่วนตัวของเพื่อน และไม่ปฏิบัติตนเป็นกันเองกับเพื่อนมากเกินไป
  8. มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อน หรือให้ความช่วเหลือซึ่งกันและกัน
ข้อควรคำนึงในการผูกมิตรทั้ง 8 ประการนี้ หากเรารู้จักนำมาปฏิบัติจริงแล้ว จะช่วยเสริมสร้างมิตรภาพอันดีต่อกันให้ยั่งยืน

ตอนที่ 3 การปรับปรุงส่งเสริมสุขภาพจิตและการใช้จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน


บุคคลที่มีสุขภาพดีนั้น สามารถปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีและสามารถแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ได้ การปรับปรุงส่งเสริมสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ และการนำจิตวิยทยามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จะช่วยให้คนเราสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข สามารถดำเนินงานให้สำเร็จไปด้วยดี และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การปรับปรุงส่งเสริมสุขภาพจิต


การปรับปรุงส่งเสริมสุขภาพจิตสามารถปฏิบัติได้หลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีลดความตึงเครียดทางอารมณ์และการบริหารจิต ซึ่งมีดังนี้

1. วิธีการลดความตึงเครียดทางอารมณ์
ความตึงเครียดทางอารมณ์อาจเกิดขึ้นกับทุกคนได้เสมอในชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดอารมณ์ตึงเครียดเราควรรีบแก้ไข เพื่อรักษาสุขภาพจิตของเราให้ดีอยู่เสมอ ซึ่งอาจปฏิบัติได้ดังนี้

1.1 ระบายอารมณ์ออกมา โดยพูดกับบุคลที่เข้าใจปัญหาของเราและสามารถให้คำแนะนำที่น่าเชื่อถือได้ เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน ครู เป็นต้น การพูดหรือเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนให้บุคคลดังกล่าวฟัง จะช่วยทำให้เราเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น และอาจได้รับคำตอบในการแก้ไขปัญหานั้นๆอีกด้วย
1.2 เก็บปัญหาไว้ชั่วคราว โดยหันไปสนใจเรื่องอื่น เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ การาเดินเล่น เป็นต้น เพื่อช่วยให้อารมณ์ที่ตึงเครียดนั้นมีสภาพดีขึ้น และสามารถกลับไปเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนนั้นได้อีกครั้ง นอกจากนี้ การพักผ่อนนอนหลับจะช่วยให้สมองแจ่มใสและมีอารมณ์ดีขึ้นได้
1.3 ละความโกรธ การแสดงความโกรธเป็นการแสดงที่ไม่ฉลาด เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับจิตใจได้ การจัดความโกรธจะทำให้แก้ปัญหาได้ดีขึ้น วิธีการที่ดีที่สุด ได้แก่ การออกกำลังกาย เช่น การเล่นกีฬา การเดินทางไกล การทำงานอดิเรก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะช่วยระบายความโกรธออกมาได้
1.4 ยอมรับผิดเมื่อรู้ว่าตนผิด ไม่ดื้อรั้นหรือปัดความผิดที่เกิดขึ้นไปให้ผู้อื่น การที่คิดว่าตนถูกต้องเสมอนั้น เป็นการแสดงออกของเด็กเล็กๆ ที่มีแต่ความผิดหวังเท่านั้น เนื่องจากจิตใจของเด็กยังไม่เจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ ฉะนั้น การยอมรับผิดเมื่อรู้ว่าตนผิดจะช่วยทำให้จิตใจคลายความตึงเครียดได้
1.5 สนใจต่อผู้อื่นบ้าง หากพบว่าตนเองมีจิตใจที่มุ่งสนใจตนเองมากเกินไป ควรหันไปสนใจผู้อื่นที่อยู่รอบๆตัวเราบ้าง เพื่อสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น จะช่วยให้สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลต่างๆ ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีจิตใจแจ่มใส
1.6 ให้ความสนใจต่องานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หากพบว่ามีงานต้องทำหลายๆอย่างพร้อมกัน ควรเลือกทำงานที่สำคัญตามลำดับ ไม่ควรทำหลายๆอย่างพร้อมกัน เพราะจะทำให้ขาดสมาธิและไม่มีเวลามากพอที่จะทำงานเหล่านั้นให้เสร็จไปได้
1.7 อย่าตั้งความหวังไว้สูงเกินไป ไม่มีใครสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้หมดเสมอไป หรือทำได้ถูกต้องเรียบร้อยทุกประการ ฉะนั้น ควรมีสมาธิและให้ความสนใจต่องานที่ทำและพยายามทำให้ดีที่สุด ไม่หวังว่าตนเป็นบุคคลที่เก่งเกินกว่าบุคคลธรรมดา หรือเป็นอัจฉริยะบุคคลที่จะสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ครบถ้วนไม่ผิดพลาดเลย
1.8 วิจารณ์ผู้อื่นด้วยความสุขภาพอ่อนโยน ไม่ควรหวังให้ผู้อื่นมีความสามารถสูงเกินไป อาจทำให้ผิดหวังได้ ควรคำนึงว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพัฒนาทางด้านความคิดตามกำลังและขอบเขตความ สามารถของตนเอง หากหวังไว้สูงเกินไปแล้วเกิดผิดหวังในตัวเขา ให้พยายามมองหาข้อดีแล้วพยายามส่งเสริมข้อดีของผู้นั้น จะทำให้เขามีกำลังใจและทำงานได้ดีขึ้น
1.9 ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คนเราเกิดมาย่อมหนีความตายไม่พ้น เมื่อมีชีวิตอยู่ร่วมกันควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พยายามหลีกเลี่ยงการชิงดีชิงเด่นและการเห็นแก่ตนเองมากเกินไป ควรร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและเร็วยิ่งขึ้น
1.10 ควรเตรียมแผนสำหรับการพักผ่อน ในแต่ละปีควรมีเวลาพักผ่อนบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพักผ่อนทางจิตใจ เพื่อคลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อาจกระทำได้หลายวิธี เช่น การทัศนาจรตามชายทะเลและภูเขา เป็นต้น การเปลี่ยนสถานที่จะช่วยให้ห่างจากที่ทำงานประจำวัน ทำให้สมองและร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

2. การบริหารจิต
การบริหารจิต เป็นการปรับปรุงและส่งเสริมสุขภาพจิตให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ได้อย่างมีความสุข การบริหารจิตโดยทั่วไป อาจปฏิบัติตามหลักดังต่อไปนี้

2.1 การรักษาสุขภาพ การกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน การเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการและการพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอนั้น ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีความต้านทานโรคดี ีะบบประสาทปราศจากความตรึงเครียด จิตใจแจ่มใสและร่าเริง จะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตดีอยู่เสมอ
2.2 การประกอบอาชีพสุจริต การประกอบอาชีพโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ขยันหมั่นเพียร อดทน และทำงานอย่างมีความสุข ปราศจากความเบื่อหน่ายหรือหงุดหงิด จะช่วยให้ทำงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและความเป็นสุขใจแก่ผู้ประกอบอาชีพ
2.3 การปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม คนที่คิดหรือหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตนเองตลอดเวลา เช่น กลัวจน กลัวขาดทุน กลัวคนไม่รัก กลัวไม่มีชื่อเสียง เป็นต้น ย่อมทำให้จิตใจไม่เป็นสุขและเจ็บป่วยได้ง่าย ฉะนั้น จึงควรหักห้ามใจจากเรื่องของตนเองให้มากที่สุด เพื่อให้จิตใจสบาย ควรนึกถึงผู้อื่นที่มีความทุกข์และน่าสงสาร พยายามช่วยเหลือเขาโดยวิธีต่างๆ เท่าที่สามารถทำได้ เช่น ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ให้สิ่งของ ทำบุญ ทำทาน เป็นต้น การปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยลดความเห็นแก่ตัว มีจิตใจสบาย และคลายความตึงเครียดของจิตใจลงได้
2.4 กาารปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา การดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันนั้น นอกจากควรปฏิบัติตนตามกฏหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีอัรดีงามของสังคมแล้ว เราควรมีหลักธรรมประจำใจ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจและอารมณ์

โดยทั่วไปเชื่อว่า ศาสนาที่ตนนับถือนั้น สามารถช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งของคนเราได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต หลักธรรมของแต่ละศาสนาต่างช่วยอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี มีจิตใจเมตตาต่อผู้อื่น รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งคุณธรรมต่างๆ เหล่านี้ย่อมช่วยให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้อย่างดี

นอกจากนี้ การสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่ตนนับถือโดยให้จิตใจมุ่งอยู่ที่คำสวด ซึ่งช่วยให้จิตใจสงบนั้น เรียกว่า สมาธิ การฝึกสมาธิมีหลายวิธี แต่วิธีที่นิยมปฏิบัติกันมาก คือ กำหนดให้รู้ลมหายใจเข้าออกที่เรียกว่า อานาปนสติ โดยเมื่อหายใจเข้าก็ให้รู้ว่าตนหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก ปฏิบัติซ้ำนานๆจนจิตสงบ

ขั้นที่เหนือกว่าสมาธิ คือ การเกิดปัญญา ซึ่งนับว่า เป็นการพัฒนาจิตโดยสมบูรณ์ การรู้สิ่งทั้งหลายตามความจริง คือ ไตรลักษณ์ ซึ่งหมายถึง ลักษณะที่เป็นจริงของสังขารและจิต อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผู้ที่มีความเข้าใจในไตรลักษณ์จะทำให้สามารถมองเห็นความจริงของสิ่งต่างใน โลกว่า เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ (อนิจจัง) ไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิมได้ (ทุกขัง) และไม่ใช่ตัวตนหรือแก่นสาร ทั้งยังไม่สามารถบังคับควบคุมไว้ตลอดไปได้ (อนัตตา) ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมข้อนี้ จะทำให้สามารถขจัดความโลภ ความโกรธ และความหลงตัวเองให้น้อยลงหรือหมดไปได้ ทำให้จิตใจอยู่ในภาวะแจ่มใส สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

การใช้หลักจิตวิทยาในชีวิตประจำวัน


ในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมนั้น จำเป็นต้องติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ ฉะนั้น จำเป็นต้องรู้จักการปฏิบัติตนต่อกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น การนำจิตวิทยามาใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยให้เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมต่างๆที่แสดงออกของตนเองและผู้อื่นได้ดี ยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถปฏิบัติตนต่อผู้อื่นได้เหมาะสมและดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

การนำจิตวิทยามาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยทั่วไป มีดังนี้

1. รู้จักตนเองอย่างแท้จริง ควรสำรวจตนเองว่า มีความสามารถหรือความถนัดทางด้านใดแค่ไหน มีความสนใจและต้องการอะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ควรยอมรับข้อบกพร่องของตนและแก้ไขส่วนนั้น รวมทั้งส่งเสริมส่วนดีของตนจะช่วยให้เราสามารถตั้งเป้าหมายของชีวิตได้ เหมาะสมกับความจริง และมีโอกาสสำเร็จได้มาก
2. ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรพยายามทำงานอดิเรกที่ตนสนใจ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกีฬ่า อ่านหนังสือ เข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการเป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวช่วยส่งเสริมให้จิตใจแจ่มใสและสงบสุข การใช้เวลาในการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมหรือส่วนรวม เช่น การร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เจริญก้าวหน้า การทำบุญ ทำทาน หรือสงเคราะห์แก่คนยากจน เป็นต้น ทำให้จิตใจผ่องใส สบายใจ และมีความสุข
3. รู้จักปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในสังคมอย่างเหมาะสม การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนั้น ควรเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม กฏเกณฑ์และระเบียบอันดีงามของสังคม เพื่อสามารถปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้เหมาะสมและดำรงชีวิต อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เช่น การปฏิบัติตนของผู้เยาว์ต่อผู้สูงอายุ เป็นต้น
4. กล้าเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิตประจำวัน ในการดำรงชีวิตของคนเรานั้น มีสิ่งต่างๆมากมายที่อาจทำให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคได้ ดังนั้น เมื่อเราประสบปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ควรพยายามพิจารณาว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานั้นคืออะไร ไม่ควรท้อถอยหรือหนีปัญหาโดยไม่มีเหตุผล แล้วพยายามแก้ปัญหานั้นโดยใช้เหตุผลด้วยวิธีต่างๆอย่างรอบคอบ ก็จะสามารถแก้ปัญหานั้นได้และสร้างความภาคภูมิใจให้กับตน
5. ปรับปรุงบุคลิกภาพของตนให้เข้ากับบุคคลอื่นได้เมื่อ สำรวจพบข้อบกพร่องเกี่ยวกับบุคลิกภาพของตน ก็ควรพยายามปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงกิริยา ท่าทาง การวางตัว การแต่งกาย การพูด ให้เหมาะสมกับเพศ วัย และกาลเทศะ เพื่ออยู่ร่วมกับผู้สูงอายุได้อย่างมีความสุข

ในสังคมไทยถือว่า ผู้สูงอายุนั้น อยู่ในฐานะผู้อาวุโสที่สำคัญของครอบครัว เป็นสัญลักษณ์ของความอบอุ่นและอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นที่ปรึกาษาปัญหาต่างๆของผู้เยาว์ แต่ในปัจจุบัน สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ผู้เยาว์และผู้สูงอายุมีปัญหาขัดแย้งกันได้ หากต่างฝ่ายขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น ในฐานะผู้เยาว์ควรเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจของผู้สูงอายุ เพื่อสามารถปฏิบัติต่อผู้สูงอายุได้เหมาะสม และช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของสมาชิกในครอบครัว

การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจของผู้สูงอายุมักมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยน แปลงทางด้านร่างกาย ดังนั้น ผู้สูงอายุมักแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา ซึ่งอาจสังเกตได้ดังนี้

1. ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุส่วนใหญ่สนใจต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกับคนในวัยอื่นๆ คือ เลือกสนใจในสิ่งที่ให้ความสนใจแก่ตน ความสนใจอันดับแรก คือ ความสนใจตนเอง เพราะการออกจากตำแหน่งหน้าที่ และสังคมทำให้ผู้สูงอายุมีเวลานึกคิดถึงตนเองมากขึ้น และมักยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของความคิดและความกังวล กล่าวคือ ผู้สูงอายุมักชอบเล่าเรื่องของตนเองเกี่ยวกับประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมาใน ชีวิตของตน ให้บุตรหลานหรือเพื่อนวัยเดียวกันฟัง การเล่านี้จะกระทำซ้ำๆ อาจเนื่องจากความหลงลืม ท่านจะภาคภูมิใจมากถ้ามีคนฟังและให้กำลังใจในความสำเร็จที่ท่านประสบมา

2. การแสดงออกทางอารมณ์ การเปลี่ยนแลปงทางอารมณ์ของผู้สูงอายุ ไม่เพียงแต่เกิดจากสภาพร่างกายเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการถูกตัดออกจากสังคมทางอายุด้วย เช่น การออกจากงาน การหมดความรับผิดชอบในหน้าที่เดิม ความเจ็บป่วย เป็นต้น ทำให้อารมณ์ของผู้สูงอายุไม่มั่นคง มีความเปล่าเปลี่ยว เมื่อมีสิ่งมากระทบกระเทือนจิตใจเพียงเล็กน้อยก็จะโมโฆ หงุดหงิด โกรธง่าย หรือน้อยใจง่าย นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการซึมเศร้าด้วย

3. มีความกลัว ผู้สูงอายุมักแสดงพฤติกรรมถึงความไม่แน่ใจในความสามารถของตน กลัวถูกผู้อื่นทอดทิ้ง กลัวความว้าเหว่ เนื่องจากต้องอยู่ตามลำพังเพราะบุตรหลานต่างแยกย้ายไปมีครอบครัวหรือไป ประกอบอาชีพของตน จึงทำให้ผู้สูงอายุมีจิตใจไม่มั่นคง ในขณะเดียวกันประสาทรับสัมผัสต่างๆ อาจแปรปรวนตามไปด้วย เช่น การได้กลิ่น การได้ยิน เป็นต้น ทำให้เกิดความหวาดระแวงสิ่งต่างๆ อย่างไร้เหตุผล เช่น เกิดเพลิงไหม้ก็ไม่รู้สึกตัว เป็นต้น จึงทำให้เกิดความกลัวมากยิ่งขึ้น

4. ต้องการมีส่วนร่วมในสังคม เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุที่แสดงออกเพื่อให้เห็นว่า ตนยังมีคุณค่ต่อครอบครัวและสังคม ต้องการการยอมรับ การดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัวและสังคม และต้องการความอิสระในการตัดสินใจ หากไม่ได้รับการตอบสนอง จะทำให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว และน้อยใจง่าย

การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจของผู้สูงอายุดังกล่าวมานี้ นับว่า เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้เยาว์ที่ควรศึกษาให้เข้าใจ เพื่อสามารถปฏิบัติตนต่อผู้สูงอายุได้ถูกต้อง

ข้อควรปฏิบัติของผู้เยาว์ต่อผู้สูงอายุ มีดังนี้
  1. ควรให้ความรักและอุปการะเลี้ยงดูผู้สูงอายุอย่างดี และให้ความเคารพยกย่องนับถือต่อผู้สูงอายุตามสมควร
  2. ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการทำงานอดิเรก เช่น การทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ เขียนหนังสือ หรือประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความเพลิดเพลินใจ และรู้สึกว่าตนยังเป็นบุคคลที่มีคุณค่าหรือมีประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคม อีกด้วย
  3. ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ปฏิบัติตามหลักธรรม เพื่อให้ท่านมีสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจและเข้าถึงความจริงของชีวิต ช่วยขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใสมั่นคงและช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตแก่ผู้สูงอายุด้วย
  4. สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีโอกาสร่วมกิจกรรมต่างๆทางสังคม เช่น งานอาสาสมัคร หรืองานสมาคม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้พบปะสังสรรค์กับคนในวัยเดียวกัน และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับตน รวมทั้งศึกษาชีวิตของตนในบั้นปลายด้วยตัวเอง

6. ควบคุมอารมณ์และจิตใจได้ บุคคลที่สามารถควบคุมอารมณ์และจิตใจได้ เป็นบุคคลที่มีจิตใจมั่นคง อารมณ์ไม่อ่อนไหวง่าย แม้มีสิ่งใดมากระทบจิตใจก็สามารถควบคุมอารมณ์ได้ โดยมีสติคอบเหนี่ยวรั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ทุกเวลา ตรงกันข้าม บุคคลที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และจิตใจได้ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบจิตใจ ก็จะแสดงออกตามอารมณ์ที่อาจรุนแรง ขาดสติเหนี่ยวรั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาแก่ตนเองและสังคมได้ เราจึงควรฝึกจิตใจตนเองให้มั่นคง อารมณ์ไม่อ่อนไหวง่าย ก็จะเป็นบุคคลที่สามารถพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาหรือสถานการณ์ต่างๆในชีวิต ประจำวันได้อย่างดี

7. ทำจิตใจให้ร่าเริงอยู่เสมอ ช่วยให้อารมณ์และจิตใจได้ผ่อนคลายความตรึงเครียดได้ดี เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ การออกกำลังกาย การทำงานอดิเรก เป็นต้น กาารปฏิบัติดังกล่าวทำให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส ซึ่งช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ

ตอนที่ 4 แนวโน้มของการบริการสุขภาพจิตในงานสาธารณสุขมูลฐาน แหล่งและการใช้บริการสุขภาพจิตในชุมชน


แนวโน้มของการบริการสุขภาพจิตในงานสาธารณสุขมูลฐาน


จิตใจมนุษย์เป็นสิ่งละเอียดอ่อน สิ่งที่จะกระทบกระเทือนต่อจิตใจได้ง่ายและมากที่สุด คือ การกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง ฉะนั้น ความรับผิดชอบต่อสุขภาพจิตของประชาชนทั้งปัจจุบันและในอนาคตจึงเป็นของทุกคน ทุกสถาบันและทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เริ่มจากครอบครัวและสถาบันการศึกษา มีความสำคัญในการเสริมสร้างคุณภาพของจิตใจและภูมิคุ้มกันสุขภาพจิตแก่เด็ก และเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่สามารถส่งเสริมสุขภาพจิตแก่คนทั้งประเทศได้ โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ สถาบันศาสนา เป็นเครื่องค้ำจุนและประคับประคองจิตใจของคนไทยมาโดยตลอด และยึดเหนี่ยวให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยสถาบันสูงสุดของชาติ ความหวังที่จะให้ประชาชนของชาติมีสุขภาพจิตดีถ้วนหน้า จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งจะให้บริการสุขภาพจิตแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

ได้กล่าวแล้วว่าองค์การอนามัยโลกได้ตระหนักถึงปัญหาอนามัยที่ทั่วโลกประสบ อยู่ การประชุมที่กรุงอัลมาอตา ประเทศรุสเซีย เมื่อปี 2520 ได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือจากท้องถิ่น และการพึ่งตนเอง โดยมุ่งที่จะให้แต่ละบุคคล ครอบครัว และชุมชน เพิ่มความรับผิดชอบในเรื่องสุขภาพอนามัยของตนเอง

บริการในการสาธารณสุขมูลฐานในแต่ละชุมชน แต่ละประเทศอาจจะแตกต่างกันตามความเหมาะสมและสภาพปัญหา แต่อย่างน้อยที่สุดจะประกอบไปด้วยบริการ ดังต่อไปนี้
  • การส่งเสริมในเรื่องอาหารและโภชนาการ
  • การจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดและปลอดภัย
  • การสุขาภิบาลขั้นพื้นฐาน
  • การอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งการวางแผนครอบครัว
  • การให้ภูมิคุ้มกันโรคติดต่อที่สำคัญๆ
  • การให้สุขศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพอนามัย รวมทั้งวิธีการป้องกัน และควบคุมปัญหาเหล่านั้น
  • การรักษาพยาบาลโรค และบาดแผลที่พบได้บ่อยๆ
  • การจัดหายาที่จำเป็น

ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 32 ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการสาธารณสุขมูลฐาน และมีมติเกี่ยวกับมาตรการและกลวิธี ซึ่งจะนำไปสู่ "สุขภาพดีถ้วนหน้า เมื่อ 2543" (Health for all by the year 2000) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

สำหรับประเทศไทยได้เพิ่มบริการจากที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้อย่างน้อย 8 อย่าง นั้น เพิ่มอีก 4 อย่าง คือ
  • บริการด้านทันตสาธารณสุข หรือ ทันตสุขภาพ
  • บริการด้านสุขภาพจิต
  • บริการด้านสังคมสงเคราะห์ : กลุ่มผู้บริการที่ควรได้รับกาารฟื้นฟูสภาพ
  • การป้องกันและควบคุมสภาวะที่เหมาะสมของสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า แนวโน้มของสุขภาพจิตในงานสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญและจำ เป็นอย่างยิ่งของสังคมปัจจุบัน เนื่องจากประเทศเรากำลังพัฒนาจำเป็นจะต้องมีกำลังที่มีคุณภาพ การเสริมสร้างคุณภาพของคนมิใช่เป็นเรื่องที่จะกระทำกันได้โดยง่าย การพัฒนาประชากรของชาติให้มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจริยธรรมอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการเสริมสร้างประชากรให้มีคุณภาพ นอกจากควรมีแผนงานระยะยาวและแนวทางการดำเนินงานที่ดีแล้ว ยังต้องอาศัยเวลาอันยาวนาน อาศัยความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจังและรอบคอบจากทุกฝ่าย และอาศัยความอดทน อดกลั้นของผู้ใหญ่ในการทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป

อย่างไรก็ตาม กำลังคนที่มีคุณภาพถ้าขาดขวัญและกำลังใจหรือมีความกดันทางอารมณ์และจิตใจ ก็ไม่อาจใช้คุณภาพของตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อประเทศชาติได้อย่างเต็มที่ สภาพของจิตใจที่สมบูรณ์หรือสุขภาพจิต จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง และมักจะถูกมองข้ามไปเสมอ เนื่องจากเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและยากแก่การประเมินคุณค่าที่แท้จริงมาแสดง ให้เห็นอย่างชัดได้

ประเทศไทยได้รับเป้าหมายสำคัญจากองค์กรอนามัยโลกในการพัฒนาสาธารณสุขของ ประเทศ เพื่อสนองเป้าหมายทางสังคม กระทรวงสาธารสุขจึงได้จัดให้มีการสัมมนาระดับชาติขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติให้งานบริการด้านสุขภาพจิตเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่ม เข้าไป เพื่อบรรลุเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้า เมื่อ 2543 ดังกล่าวมาแล้ว

ปัญหาทางสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ


กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้รายงานเกี่ยวกับจิตวิทยาของผู้สูงอายุ พบความบกพร่องทางด้านจิตใจ 2 ทางด้วยกัน คือ ทางชีววิทยา และทางสังคม ทางชีววิทยา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระ เช่น การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย ระบบหายใจ ระบบประสาทและสมอง เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำไปสู่ความเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ ความเสื่อมทางด้านสังคม ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่าง รวดเร็วได้ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีปฏิกิริยาที่แสดงออกสองอย่าง คือ ปฏิกิริยาการเก็บตัวและปฏิกิริยาโต้ตอบ

ดังนั้น การใช้จิตวิทยาที่เหมาะสม และการให้ความเข้าใจแก่ผู้สูงอายุอย่างเพียงพอนับเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีความอ่อนแอ ขาดความกระปี้กระเปร่า อาจเนื่องมาจากความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ ความว้าเหว่และการขาดที่อยู่อาศัย การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ทัน

ข้อเสนอที่น่าจะนำไปปฏิบัติได้ คือ การช่วยเหลือผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและ การให้บริการทางสังคมแก่ผู้สูงอายุ ปัจจุบันนี้พบว่ามีผู้สูงอายุที่ป่วยโรคจิตอยู่จำนวนมาก และปัญหาที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลโรคจิต มีดังนี้
  1. จิตเภท (Schizophrenia)
  2. โรคจิตเนื่องจากวัยชราและก่อนชรา (Senile & Presenile Psychosis)
  3. ภาวะซึมเศร้า (Depressive Disorder)
  4. โรคจิตทางอารมณ์ (Affective Psychosis)
  5. โรคระแวงจากพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholic Paranoid)
  6. โรคระแวง (Paranoid)
  7. โรคประสาท (Neurotic Disorder)
  8. ภาวะการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว (Transent Organic)

สาเหตุที่ผู้สูงอายุมารับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติทางอารมณ์คือ วิตกกังวงล่วงหน้า มีความกลัวตาย กลัวภัย ขาดความรู้สึกอบอุ่น ขาดความปลอดภัย กลัวการไม่ทัดเทียมผู้อื่น รู้สึกว่าตนไม่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือเป็นบุคคลที่ไร้ค่า กลัวถูกทอดทิ้ง หลงผิด กลัวลูกหลานรังเกียจ กลัวไม่มีใครนับถือ เอาแต่ใจตนเอง โลภ ตระหนี่ ระแวงว่ามีคนปองร้าย ไม่เข้าสังคม เศร้าซึม เชื่อว่าอาการเศร้าเป็นผลการเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญอาหารในร่างกายที่ เรียกว่า ทริปโทเฟน เมตาโบลิซึม (Tryptophan metabolism) ทำให้มีการสร้างสารชนิดหนึ่ง เรียกว่า ซีโรโตนิน (Serotonin) ในสมองน้อยลง จึงทำให้อารมณ์อ่อนไหวง่าย คล้ายอาการทางโรคประสาท

นอกจากนั้นผู้สูงอายุยังมีปัญหาเกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ต้องออกจากงานปลดเกษียณ เป็นหม้าย ขาดเงิน ขาดที่อยู่อาศัย ขาดสารอาหาร และไม่มีผู้คอยดูแลเอาใจใส่

ปัญหาทางจิตใจของผู้สูงอายุที่กล่าวมานี้มีผลต่อการรักษาทางจิตวิทยา โดยการกระตุ้นให้ผู้สูงอายุรู้สึกตนเองมีค่า เป็นที่ปรึกษาของบุคคลในครอบครัว เป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตมาก่อน เป็นผู้มีความสุขุมรอบคอบ เป็นหลักให้ความอบอุ่นแก่ครอบครัว สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ผู้สูงอายุมีความภาคภูมิใจอยู่บ้าง

นอกจากนั้น ควรแก้ปัญหาทางจิตแก่ผู้สูงอายุ โดยงดเว้นการอยู่โรงพยาบาลนานเกินไป ควรอยู่กับลูกหลานให้เกิดความภาคภูมิใจ ปรับปรุงให้เข้าสังคมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ให้ศึกษาเหตุการณ์ใหม่ๆเพื่อปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น ใช้ความสามารถที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ระบบการสาธารณสุขขั้นมูลฐาน แก้ปัญหาทางสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและอายุยืน

แหล่งบริการสุขภาพจิตสำหรับผู้สูงอายุ


สำหรับแหล่งบริการสุขภาพจิตประเภทสถานสงเคราะห์คนชราในประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์ (Public welfare) ของรัฐมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนโดยไม่จำกัดวัยและเพศ และจะเน้นในเรื่องบริการที่พักอาศัย โดยจัดเป็นสถานสงเคราะห์คนชรา กรมประชาสงเคราะห์มีหน่วยงานคนชราอยู่ 6 แห่ง ทั่วประเทศ ดังนี้

1. สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร รับคนชราในภาคกลาง ตั้งเป็นแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2496 รับคนชราทั้งประเภทสามัญ (อนาถา) ประเภทเสียเงิน (คนละ 425 บาทต่อเดือน ทำในรูปหอพัก) ประเภทอยู่บ้านปลูกเองในที่ดินของสถานสงเคราะห์ สถานบริการแห่งนี้ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไปแก่คนชรา ให้คำแนะนำแก่คนชราที่มีปัญหาหรือความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ให้คนชราเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การบรรยายธรรมะ การฝึกสมาธิจิต การทำงานอดิเรก งานรื่นเริงและทัศนาจร

2. สถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์เชียงใหม่ มีประเภทอนาถาประเภทเดียว ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 รับคนชราในภาคเหนือ เป็นสถานที่ที่ให้บริการสุขภาพทางด้านร่างกายและจิตใจแก่คนชราทั้งหญิงและ ชาย

3. สถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์โพธิ์กลาง นครราชสีมา รับอนาถาประเภมเดียว โดยรับเฉพาะคนชราชายที่มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคอีสาน เป็นสถานที่ที่ให้บริการสุขภาพทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจแก่คนชราชาย

4. สถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์วัดม่วง นครราชสีมา รับอนาถาประเภทเดียว ตั้งขึ้นเมือ่ปี พ.ศ. 2498 รับเฉพาะคนชราหญิงทีมีภูมิลำเนาอยู่ทางอีสาน เป็นสถานที่ที่ให้บริการสุขภาพทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจแก่คนชราหญิง เท่านั้น

5. สถานสงเคราะห์คนชราบ้านทักษิณ ยะลา รับอนาถาประเภทเดียว รับคนชราในเขตภาคใต้ เป็นสถานที่ที่ให้บริการสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่คนชราหญิงและชาย

6. สถานสงเคราะห์คนชราภาคตะวันออก บางละมุงรับ อนาถาประเภทเดียว ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 ให้บริการสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่คนชราหญิงและชาย ที่มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคตะวันออก
นอกจากสถานสงเคราะห์ของทางราชการแล้ว ยังมีบริการสงเคราะห์คนชราเอกชน ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิเอกชน ได้แก่ สถานสงเคราะห์คนชรามูลนิธิปอเต็กตึ้ง ปากเกร็ด นนทบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น