เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ข่าวคราวของการปนเปื้อน ไดออกซินในอาหารสัตว์ของประเทศเบลเยียม กลายเป็นวิกฤติครั้งร้ายแรงของอุตสาหกรรมอาหาร
หลายประเทศสั่งห้ามจำหน่ายอาหารนำเข้าจากเบลเยียม รวมถึงอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่เกิดกระแสการตื่นกลัวสารไดออกซินดังกล่าว
สืบเนื่องจากเมื่อปี 2537 สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา US EPA ได้รายงานไว้ว่า
ไดออกซินเป็นสารก่อมะเร็งในคน ก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง ต่อการสืบพันธุ์ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันระบบฮอร์โมนของร่างกาย
นอกจากนี้ IARC (The International Agency for Research on Cancer) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ WHO ได้ออกประกาศเมื่อปี 2540 ว่า Dioxin, 2, 3, 7, 8-TCDD เป็นสารก่อมะเร็งในคน
เห็นโทษอย่างนี้แล้ว คงต้องอธิบายเพิ่มเติมกันอีกนิดถึงที่มาของเจ้าตัวปัญหา
ไดออกซินเกิดจากการฟอร์มตัวขณะที่มีการเผาไหม้ ของสารประกอบจำพวกคลอรีน และไฮโดรคาร์บอน หรือเกิดจากกระบวนการผลิตกระดาษที่ใช้ คลอรีนฟอกสีและกระบวนการผลิตพลาสติกชนิด PVC
สำหรับมนุษย์นั้น มีโอกาสได้รับไดออกซินจากการกินอาหาร เริ่มจาก ไดออกซินสามารถละลายได้ในไขมัน และสามารถสะสมได้ในสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติในระบบของห่วงโซ่อาหาร ทำให้ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา พบว่ามีการปนเปื้อนของไดออกซิน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อคนได้รับไดออกซิน คือจำนวนสเปิร์มของเพศชายลดลง 50% เมื่ออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะเป็นมะเร็งที่อัณฑะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า
และมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น 2 เท่า และในเพศหญิงมีโอกาสในการเป็นมะเร็งที่หน้าอกเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้เป็นโรค Endometriosis มีอาการปวดมดลูกอย่างรุนแรงขณะมีประจำเดือน
วันนี้สถาบันอาหารได้ทำการสุ่มตัวอย่างน้ำมันและไขมันจากสัตว์ เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณการปนเปื้อนไดออกซิน
นับเป็นสิ่งที่น่ายินดี ผลการสำรวจไม่พบการปนเปื้อนแต่อย่างใด... เท่านี้ก็โล่งใจได้เปลาะหนึ่ง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น