ขึ้นชื่อว่าอาหารไทยแล้ว รสชาติที่จะขาดเสียไม่ได้คือรสเผ็ด
แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน และแกงเผ็ดชนิดต่างๆ นับเป็นอาหารคาวที่อยู่คู่คนไทยมานาน ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหารกินกันเองในครัวเรือน หรือข้าวราดแกงตามข้างทาง
ส่วนผสมหลักของแกงเผ็ดก็ได้แก่เครื่องแกง
เครื่องแกงที่เราเห็นตามท้องตลาดนั้นมีอยู่หลายชนิด ที่ทำขึ้นมาเพื่อความสะดวกสบายของแม่บ้านสมัยใหม่
ผิดกับสมัยก่อน ที่แม่บ้านจะต้องลงมือโขลกพริกกันเอง ซึ่งจะพิถีพิถันมากกว่าที่ซื้อตามท้องตลาด
ส่วนผสมหลักของเครื่องแกง อาทิ พริก กะปิ หอม กระเทียม ผิวมะกรูด หรืออาจจะมากกว่านั้น
วิธีการทำก็ไม่ยาก แค่นำมารวมกันแล้วโขลกในครกหรือปั่นในเครื่องปั่น จนเข้ากันดีและมีกลิ่นหอม
วันนี้ คอลัมน์มันมากับอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างเครื่องแกงชนิดต่างๆ ที่วางขายตามท้องตลาดสด จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 3 ย่านการค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์หาเชื้อ คลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์
ปรากฏว่า ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อชนิดนี้ (ในตัวอย่างเครื่องแกง 1 กรัม)
ตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น
กำหนดให้อาหารดิบ ซึ่งรวมถึงเครื่องแกง ต้องไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อ คลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์ ในตัวอย่างอาหาร 0.001 กรัม
อันตรายของเชื้อชนิดนี้คือ ถ้าร่างกายคนเราได้รับเชื้อเข้าไปมากๆ จะทำให้เกิดโรคท้องร่วง และกระเพาะอาหารอักเสบ อาการจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว ประมาณ 8-14 ชั่วโมง จะมีอาการปวดท้องกะทันหัน ท้องร่วง และมีไข้
วิธีการป้องกันอันตรายจากเชื้อชนิดนี้คือ ควรกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ กรณีที่ต้องอุ่นอยู่ตลอดเวลา ต้องให้อาหารมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส
เพียงแค่นี้ ก็กินแกงเผ็ดกันได้อย่างสบายใจ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น