บาทหลวง นิพจน์ เทียมวิหาร พูดถึงภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับข้าว 9 เมล็ด ในเทปโทรทัศน์รายการ ช่อง 11
ชุมชนเข้มแข็งจังหวัดพะเยา : จะร่วมคิดร่วมทำให้เป็นจริงเป็นจังได้อย่างไร เมื่อต้นเดือนกันยายนศกนี้
นับเป็นครั้งที่สามในชีวิตที่ผู้เขียนได้ยินการนับข้าวเป็นเมล็ด
ครั้งแรกเมื่อตอนเป็นเด็ก แม่บอกว่าตอนที่มีลูก แม่ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด
แม้ในยามบ้านเมืองคับขันถึงขั้นต้องนับเมล็ดข้าวกิน แม่ก็จะไม่ให้ลูกอด
ครั้งที่สอง เมื่อเร็วๆ นี้เองที่มีการพูดถึงข้าวจีเอ็มโอ ซึ่งก็คือข้าวดัดแปลงพันธุกรรมที่กรมวิชาการเกษตรของไทย
ร่วมกับสถาบันวิจัยการเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพเขตร้อนสหรัฐอเมริกา นำเอาข้าวหอมมะลิไปยิงยีน Xa21
เพื่อให้ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรนำข้าวจีเอ็มโอมาปลูกเรียบ ร้อยแล้ว เก็บเกี่ยวได้ 123 เมล็ด
เก็บไว้ที่ศูนย์วิจัยข้าว จ. ปทุมธานี
ข้าวจีเอ็มโอหรือพันธุ์พืชอื่นๆ เช่น ฝ้าย ถั่วเหลือง ข้าวโพด ฯ ที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมนี้เป็นเรื่องใหญ่
บ้างก็ว่าทำเพื่อให้พืชแข็งแรงเพื่อเพิ่มผลผลิตมากๆ คนจะได้มีกินไม่ต้องอด บ้างก็ต่อต้าน
บอกว่าพืชจีเอ็มโอนี่แหละที่เป็นมหันตภัยคุกคามชีวิต ที่ว่าจะได้กินน่าจะต้องอดมากกว่า
เพราะจะสร้างปัญหาตามมาเป็นพรวน เช่น ข้าวดัดแปลงพันธุกรรมสามารถจดสิทธิบัตรตามกฎหมาย
กลายเป็นว่าพันธุ์พืชเป็นลิขสิทธิ์ของคนอื่น จะปลูกก็ต้องซื้อพันธุ์ นอกจากนั้น การใช้พันธุ์ข้าวใหม่นอกจากพันธุ์พื้นเมือง
ก็จะมีส่วนทำให้พันธุ์พื้นเมืองสูญหายไปเรื่อยๆ ดังที่เคยเกิดมาแล้ว ส่วนจะมีผลร้ายต่อสุขภาพหรือไม่อย่างไร
ยังถกเถียงกันอยู่ ปัจจุบันสหภาพยุโรปห้ามนำเข้าผลผลิตจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม
ในเมืองไทยเราก็เพิ่งจะมีการประท้วงครั้งใหญ่ไปเมื่อเร็วๆ นี้
ส่วนข้าว 9 เมล็ดที่บาทหลวงนิพจน์ เทียมวิหาร กล่าวถึง
ดูจะมีความหมายกว้างขวางทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการบริโภค ในแง่สังคมวัฒนธรรมและในแง่เศรษฐกิจ
เป็น ความหมายในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับข้าวที่ลึกซึ้งกว่าข้าวในฐานะเป็นพืช บริโภคเป็นพืชเศรษฐกิจในสองความหมายดังกล่าวข้างต้นมากมายนัก
บาทหลวงนิพจน์บอกว่าข้าว 9 เมล็ด เป็นคติชาวบ้าน บอกปากต่อๆ กันมา ให้ช่วยกันตีความด้วย
คติชาวบ้าน ข้าว 9 เมล็ดในการปลูกข้าวของชาวบ้านในท้องถิ่นจังหวัดพะเยา ตามที่บาทหลวงนิพจน์นำมาบอกเล่า คือ
ข้าวเมล็ดที่ 1 สำหรับการบริโภค
ข้าวเมล็ดที่ 2 สำหรับเลี้ยงครอบครัวตัวเอง
ข้าวเมล็ดที่ 3 สำหรับเลี้ยงเพื่อนบ้าน
ข้าวเมล็ดที่ 4 สำหรับคนยากคนจนมาเยือน
ข้าวเมล็ดที่ 5 สำหรับบวชลูกแก้วของตนเอง
ข้าวเมล็ดที่ 6 สำหรับสร้างบ้านแปงเมือง
ข้าวเมล็ดที่ 7 สำหรับแลกแก้วแหวนเงินทอง
ข้าวเมล็ดที่ 8 สำหรับสร้างสังคมพระศรีอารย์
ข้าวเมล็ดที่ 9 สำหรับทำบุญเผื่อเราตาย
จากคติชาวบ้าน ข้าว 9 เมล็ดนี้ ข้าวสำหรับผู้คนในท้องถิ่นแต่เดิมจึงปลูกเพื่อการบริโภค คือเป็นการกินในความหมายกว้าง
จะตีความไปถึงการเก็บเมล็ดพันธุ์ก็น่าจะได้ เพราะเป็นวิถีของชาวบ้านผู้ปลูกข้าวมานมนานไม่ว่าในภูมิภาคไหน
ที่ต้องเก็บพันธุ์ข้าวไว้เพื่อปลูกในฤดูกาลเพาะปลูกครั้งหน้า การบริโภคจึงจะยั่งยืน
สังเกตได้จากการจักสานสร้างภาชนะตลอดจนยุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวและพันธุ์ข้าว
การปลูกข้าวชนิดไม่ได้ปลูกเพื่อบริโภคหรือไม่ได้เก็บเมล็ดพันธุ์เดิม จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่
ย่อมจะเป็นภัยต่อการบริโภคที่ยั่งยืน เพราะไหนพันธุ์จะกลาย ไหนจะต้องซื้อต้องหา ไหนจะต้องดูแลรักษาตามชนิดพันธุ์
ยิ่งเป็นพืชจีเอ็มโอ มีหลักฐานยืนยันว่าพืชจีเอ็มโอนั้นมาพร้อมๆ กับปุ๋ยและสารเคมีที่ต้องใช้เข้าชุดกัน
ส่งผลไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม
ส่วนการกินในความหมายแคบลงมา คือกินในครอบครัว คือข้อ 2 ตามมาด้วยการแบ่งปันเผื่อแผ่ถึงพี่น้องเพื่อนบ้าน
และคนยากคนจนมาเยือน จากนั้นจึงเป็นการกินในงานครอบครัวและสถาบันศาสนา คือ ข้อ 5 ข้อ 8 และข้อ 9
การปลูกข้าวเพื่อการกินเองนี้สำคัญนัก คนในท้องถิ่นให้ข้อมูลในรายการเสวนาวันนั้นว่า เมื่อทำการผลิตพืชเพื่อขาย
ไม่ได้กินเอง ก็จึงใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงขนาดจนที่ว่าเมื่อผลผลิตเหลือจากการขายในตลาด ก็ไม่นำกลับไปบ้านให้หมูกิน
เพราะกลัวหมูจะตาย เป็นต้น
ข้อ 6 การสร้างบ้านแปงเมือง น่าจะหมายถึงร่วมสร้างชุมชนสร้างสังคม
อาจจะหมายความถึงการส่งผลผลิตให้บ้านเมืองด้วย
ในแง่พืชเศรษฐกิจ ข้อ 7 บอกไว้ชัด ในสมัยก่อนที่จะมีการซื้อขายโดยผ่านระบบเงินตรา เรานำสิ่งของมาแลกกัน
ในที่นี้เอาข้าวไปแลกเป็นแก้วแหวนเงินทองได้ เชื่อว่าเงินทองในที่นี้น่าจะหมายถึง โลหะเงินโลหะทอง
ทั้งในลักษณะรูปโลหะและรูปพรรณ ไม่น่าจะใช้
ในความหมายเงินตราอย่างเช่นที่อาจจะเป็นได้อีกหนึ่งความหมายในโลกที่ใช้เงินตราเป็นตัวกลางหลักในการแลกเปลี่ยนอย่างเช่นทุกวันนี้
การแลกเป็นแก้วแหวนเงินทอง ก็คือเป็นการสะสมออมทรัพย์และใช้ประโยชน์ประดับประดาด้วย
ข้าว 9 เมล็ดนี้เป็นคติเตือนใจได้ดีว่า เมื่อปลูกข้าวในเงื่อนไขสังคมที่ยังเป็นการแลกเปลี่ยนไม่ได้ใช้เงินตรา
ไม่ได้ปลูกเพื่อจุดประสงค์เดียว แต่มีหลายจุดประสงค์หลายความหมาย
ผิดจากเมื่อปลูกข้าวในสังคมที่ใช้เงินตราเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าได้ทุกอย่างได้
ความหมายในเชิงเดี่ยวคือขายเป็นเม็ดเงิน เงินตราจึงได้กลายมาเป็นความหมายหลัก ส่วนความหมายทางสังคม ทางสิ่งแวด
ล้อมอื่นๆ ก็ด้อยค่าลงและเลือนหายไปในที่สุด
เป็นโจทย์ให้คิดว่าถ้าจะนำภูมิปัญญาข้าว 9 เมล็ดนี้ มาฟื้นฟูปฏิบัติใหม่จะทำได้สักเพียงไหนถ้ายังอยู่ในเงื่อนไขสังคมเงินตรา
ในเงื่อนไขวัฒนธรรมที่ครอบครัวอยู่แยกเป็นแรงงานย้ายถิ่นกันคนละทิศละทาง ไม่ได้กินข้าวด้วยกัน แม้เพื่อนบ้าน
คนยากคนจน ก็ไม่มีเวลาจะเห็นหน้าสบตากัน สร้างบ้านแปงเมืองหรือก็เก็บเป็นเงินภาษี หาใช่การส่งข้าวไปให้ไม่
หรือแม้แต่ตอนตาย การทำบุญก็เหมาบริการอาหารได้สะดวกดาย ไม่เห็นจำเป็นจะต้องปลูกข้าวเก็บข้าวไว้
ภูมิปัญญาจึงเป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่เพียงความคิดลอยๆ
จะฟื้นฟูแต่ภูมิปัญญา แต่ไม่เอาวิถีชีวิต จะเป็นไปได้สักกี่มากน้อยแค่ไหน
การใช้เบี้ยและการแลกเปลี่ยนแทนการใช้เงินตราในสังคมชาวกุดชุม
จึงน่าจะมีความหมายส่งผลกว้างไกลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ลึกซึ้งเสียยิ่งกว่าเพียงในแง่เศรษฐกิจอย่างแน่นอน
Krungthep Turakij Newspaper
โดยคุณ : สุกัญญา หาญตระกูล
ว้าว บังเอินจัง กำลังทำข้อมูลเกี่ยวกับกองบุญข้าว เรื่องเดียวกันนี้เลย
ตอบลบแต่ตอนนี้มีเม็ดที่ 10 แล้วนะคะ