++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2548

โมกหลวง แก้บานทะโรค

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง



บานทะโรค เป็นชื่อเรียกริดสีดวงทวารเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นตรงปลายลำไส้ใหญ่ ถึงขั้นที่ดากหรือทวารหนักบานเบอะออกมาข้างนอกจนทำให้ผู้ที่เป็นริดสีดวง ชนิดนี้ นั่งไม่สะดวก เพราะลมมันเย็นดังที่เป็นโจ๊กล้อเลียนกันในโฆษณา ขายยาแก้ริดสีดวงทวาร

แน่นอนว่าคนยุคนี้เป็นริดสีดวงทวารมากกว่าคนยุคก่อน เพราะชอบกินอาหารฟาสต์ฟูด มีไขมันสูง แต่มีกากใยน้อย ทำให้ท้องผูก แรงเบ่งในขณะขับถ่าย ทำให้เส้นเลือดดำฝอยที่ปลายลำไส้ใหญ่โป่งพอง เมื่อถูกก้อนอุจจาระแข็งๆ ครูดบ่อยๆ เข้าก็เป็นแผลอักเสบเรื้อรัง ที่เรียกว่า ริดสีดวงนั่นแหละ

เข้าทำนองกินตามปากดากเดือดร้อน

ริดสีดวงทวารมิใช่โรคร้ายแรงอะไรนัก เมื่อเทียบกับโรคในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบ เป็นต้น ยกเว้น ริดสีดวงทวารที่มีเลือดออกมาคราวละมากๆ ขณะขับถ่าย อาจเกิดอาการช็อก เพราะเสียเลือดมาก และอาจถึงตายได้ ถ้าแก้ไขไม่ทัน

แม้ริดสีดวงทวารจะมิใช่โรคอันตราย แต่คนที่เป็นสมาชิกประจำของโรคนี้ ย่อมรู้ดีว่ามันก่อความทุกข์ทรมานในชีวิตประจำวันขนาดไหน ทำให้สูญเสียบุคลิกภาพที่ดี ขาดความมั่นใจในตนเอง จะนั่งจะยืนจะเดินจะนอนก็ไม่เป็นสุข และเวลาที่ทุกข์มากที่สุดก็คือ ตอนไปสุขานั่นเอง เพราะต้องใช้เวลาปลดทุกข์นานกว่าคนอื่น

ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่เป็นง่ายหายยาก แม้ผ่าตัดก็ไม่หายขาด หากไม่ควบคุมการกิน การถ่ายอย่างเข้มงวด ในทางการแพทย์แผนไทยนั้น มีสมุนไพรหลายตัวและสูตรยาโบราณหลายตำรับที่ใช้เยียวยาริดสีดวงทวารหนักได้ เช่น เพชรสังฆาต อัคคีทวาร ดอกต้นตีนเป็ดน้ำ ใบรักขาว รากเจตมูลเพลิงแดง เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นริดสีดวงทวารชนิดบานทะโรค หมอยาไทยมักแนะนำให้ใช้ตำรับยาประสะโมกหลวง ซึ่งมีกล่าวไว้ใน "พระคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด" ของ พระยาพิศณุประสาทเวช หรือที่หมอไทยรู้จักท่านในนาม หมอคง แพทย์หลวงประจำพระองค์รัชกาลที่ 6 กล่าวว่า

"โมกหลวง มีคุณมากกับชายหญิงอันเป็นไข้ บานทะโรค มีโลหิตออกมา บางทีกลับกลายเป็นหนอง บางทีเป็นน้ำคาวปลา น้ำล้างเนื้อ น้ำเหลือง บางทีเป็น หัวยื่นย้อย ออกมา บางทีเป็น จุกผาม มิได้สำแดงออกมา บางทีเป็นอย่างดอกแคแตรบานก็มี บางทีเปื่อยที่ทวารก็มี"

ต้องขออธิบายความในพระคัมภีร์เพิ่มเติมเพื่อบอกให้รู้ว่า ต้นโมกหลวง มิใช่มีสรรพคุณแก้โรคริดสีดวงทวารบานทะโรค ที่มีโลหิตออกมาเท่านั้น แต่ริดสีดวงทวารชนิดที่เป็นหนอง เป็นน้ำเหลืองเยิ้ม หรือมีเลือดออกจางๆ คล้าย น้ำล้างเนื้อหรือน้ำคาวปลาของสตรีหลังคลอด โมกหลวงก็สามารถรักษาได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีริดสีดวงที่งอกในทวารเป็นลักษณะเดือยไก่ หรือกลีบมะไฟ หรือเป็นหัวยื่นห้อยออกมา ยัดกลับเข้าไปไม่ได้ เวลาถ่ายอุจจาระแต่ละทีก็น้ำตาเล็ด

ส่วนที่เป็นจุกผามนั้น คือเป็นริดสีดวงทวารแบบไม่มีหัวแต่บวมอักเสบอยู่ภายใน (อันที่จริงคำว่าจุกผาม มักใช้กับโรคตับโตและม้ามโต) และอย่างดอกแคแตรบานนั้น ถ้าเป็นคนโบราณก็นึกภาพออกทันที แต่คนสมัยนี้ส่วนใหญ่คงไม่เคยเห็นต้นแคแตร ซึ่งเป็นแคป่าที่มีลักษณะเหมือนต้นแคบ้านนั่นเอง ต่างกันที่รูปลักษณ์ของดอก แคป่าจะมีดอกสีขาวเมื่อบานเต็มที่ในเวลากลางคืน จะเหมือนปากแตรหรือปากลำโพง จึงมีชื่อเรียกว่าแคแตร

คิดดูก็แล้วกันว่า ริดสีดวงทวารที่บาน เหมือนปากแตรนั้นสาหัสเพียงใด



ริดสีดวง ทวารที่จาระไนมาทั้งหมดนั้น สามารถรักษาเยียวยาได้ด้วย สมุนไพรโมกหลวง ซึ่งเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ดาษดื่นทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทางเหนือเรียกหนามเนื้อ หรือมูกมันหลวง ภาคกลางเรียกโมกใหญ่ ทางใต้เรียกพุทธรักษา หรือพุด ทางอีกสานเรียกมูกมันน้อย

ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเดียวกันว่า Holarrina antidysenterica ซึ่งในชื่อพฤกษศาสตร์ เองก็บ่งบอกไว้ชัดว่ามีสรรพคุณ แก้บิด

ส่วนต้นโมกที่เรารู้จักกันดีนั้นเป็นไม้ประดับอยู่วงศ์เดียวกัน แต่เป็นคนละต้น เรียกว่าโมกบ้าน มีขนาดเล็กกว่าโมกหลวงมาก โมกหลวงนั้นเป็นไม้ป่าที่คนสมัยก่อนรู้จักกันดี

หมอยาไทย รู้จักใช้เปลือกต้นโมกหลวงต้มกินแก้บิดมูกเลือดมานานแล้ว ภายหลังจึงพบว่าในเปลือกต้นของสมุนไพรชนิดนี้มีสารแอลคาลอยด์ ชื่อ "โคเนสซีน" (Conessine) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิดได้ เปลือกต้นไม้ชนิดนี้จึงมีชื่อพิเศษว่า เปลือกโคเนสซี (Conessi Bark)

ตัวอย่างของแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้เปลือกต้นโมกหลวงแก้โรคบิด คือ คุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ตอนที่ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเชียงรายประชานุเคราะห์ เคยนำเปลือกโมกหลวงมาบดผงบรรจุแคปซูล รักษาโรคบิด แก่เหล่าทหารและประชาชนในคราวสงครามโลกครั้งที่ 2

น่าเสียดายที่ต่อมามีงานวิจัยพบว่า สารโคเนสซีน มีฤทธิ์ข้างเคียงต่อระบบประสาท เมื่อใช้มากเกินไปทำให้นอนไม่หลับ สมุนไพรตัวนี้จึงไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นตำรับยา ของแพทย์แผนปัจจุบัน

อันที่จริงถ้านักวิจัยรุ่นใหม่ ศึกษาอีกสักหน่อย ก็จะรู้ว่า หมอแผนโบราณมิได้ใช้เปลือกโมกหลวงเป็นยาเดี่ยวๆ หากใช้ร่วมกับสมุนไพรอีกหลายตัว เป็นยาตำรับ เพื่อเบรกพิษข้างเคียงของเปลือกโมกหลวง ในขณะที่ยังมีฤทธิ์ในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างในกรณีที่นำมารักษาโรคริดสีดวงทวาร ต้องประกอบกับตัวยาอื่นๆ ดังนี้

เอาเปลือกไม้แดง ดีปลี พริกไทย เหง้าขิง เมล็ดพรรณผักกาด เทียนดำ อย่างละ 1 ส่วน เท่าๆ กัน สำหรับเปลือกโมกหลวงนั้น ใช้จำนวนเท่ายาทั้ง 6 ตัว คือใช้ 6 ส่วน จึงเรียกยาตำรับนี้ว่า "ยาประสะโมกหลวง" เพราะประสะในที่นี้หมายถึง การใช้ตัวยาสำคัญในน้ำหนักที่เท่ากับยาอื่นๆ รวมกัน

วิธีใช้ยาตำรับนี้ง่ายมาก คือ บดผงละลายน้ำสุกกินครั้งละ 1 ช้อนชา 3 เวลา ก่อนอาหาร

สมุนไพรบางตัวในตำรับนี้ อาจจะไม่คุ้นหู เช่น ไม้แดง เมล็ดพรรณผักกาด และเทียนดำ ก็ไม่ต้องวิตก เพราะร้านขายยาไทยทั่วไปมีจำหน่าย

ไม้แดงในที่นี้ก็คือ ต้นแดงไม้เนื้อแข็งชั้นดี ที่รู้จักกันดีในหมู่ช่างไม้ดำ

ส่วนเมล็ดพรรณผักกาดนั้นเรานำเข้าจากอินเดีย และจีน ในบ้านเราก็มีปลูกตามภาคเหนือ เรียกว่า ผักกาดจ้อน ผักกาดดำ หรือผักกาดโป้ง เมล็ดพรรณผักกาดมีสารกำมะถันชื่อ สินิกริน (Sinigrin) มีรสเผ็ดร้อน ช่วยขับลม เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยแก้รสฝาดของเปลือกโมกหลวงที่อาจทำให้เกิดท้องผูกได้

ส่วนเทียนดำนั้น เป็นสมุนไพรหาง่าย ช่วยขับมูกเสมหะในร่างกายให้ลงสู่คูธทวาร บำรุงโลหิตให้สมบูรณ์ ช่วยขับลมในลำไส้เสริมฤทธิ์ ขับลมแก้ท้องผูกร่วมกับ เมล็ดพรรณผักกาดและสมุนไพรตัวอื่นๆ

ข้อสำคัญคือ การใช้โมกหลวงทำยานั้น ต้องใช้เฉพาะส่วนเปลือกต้นที่ไม่ติดเนื้อไม้

และควรเป็นโมกหลวงที่มีอายุประมาณ 8-12 ปี จึงจะมีโอสถสารที่ออกฤทธิ์ดี



อย่าง ไรก็ตาม อย่างที่รู้ๆ กันว่าโรคริดสีดวงชนิดบานทะโรคหรือบานเหมือนดอกแคแตรนั้น เป็นโรคเรื้อรังที่เยียวยายาก หากจะใช้ยาประสะโมกหลวงให้ได้ผล ต้องกินยาต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดพิษข้างเคียงจากโมกหลวง

ที่สำคัญต้องควบคุมของแสลงควบคู่กันไป เช่น งดอาหารฟาสต์ฟูด ของทอดๆ มันๆ เหล้า เบียร์ ของหมักดอง เป็นต้น

ส่วนยาระบายอย่างอื่นไม่ต้องใช้ เพราะยาขนานนี้ เป็นยาระบายอยู่ในตัวแล้ว

ท่านผู้ใดใช้ยาขนานนี้ดับทุกข์ทางทวารได้ผลดี ก็ขอแสดงความยินดีด้วย แล้วอย่าลืมทำบุญใส่บาตรอุทิศไปถึง "หมอคง" ปรมาจารย์แพทย์แผนไทย ผู้รวบรวมตำรับยาขนานนี้ เผื่อแผ่มาถึงลูกหลานไทยยุคปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น