++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

เสวนาจานส้มตำ ๒๕๕๕/๔ - สื่อต้นแบบการ์ตูนไทยสร้างสุข


 .... กลับมาพบกับ เสวนาจานส้มตำ บันทึกบนความแตกต่าง

คู่สนทนา 1 - มีข่าวเล็กๆ เกี๋ยวกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนนะ เรื่องของ พรบ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มีร่างของรัฐบาลและของภาคประชาชน ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนกำลังติดตามเรื่องนี้อยู่ เพื่อจะได้มีกองทุนที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วม สร้างสื่อที่ดีๆ

คู่สนทนา 2 - อ้าว ที่มีอยู่แล้วมันไม่ดีพอหรือ มีสื่อมากมายให้เลือกดูนี่นา

คู่สนทนา 1 - สื่อที่มีเนื้อหาที่ดีๆ มีน้อยไป ส่วนใหญ่เป็นสื่อบันเทิงที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์มากนัก เน้นความสนุกสนานเป็นหลัก

คู่สนทนา 2 - ก็ในเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียมนั่นไง มีรายการดีๆมากมาย ช่องความรู้ ช่องสารคดีก็มี

คู่สนทนา 1 - แต่สื่อเหล่านั้น หลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึง ไม่มีโอกาสที่จะได้ดูนะ เพราะรายได้ไม่มากพอที่จะซื้อสื่อเหล่านั้นได้

คู่สนทนา 2 - เห็นสื่อที่ผลิตออกมา ใช้งบสูงมากๆ แล้วการที่เราจะมีสื่อที่ดีๆ จะต้องใช้งบเท่าไหร่ถึงจะพอล่ะ มาหวังกับกองทุน มันจะพอหรือ ถ้าไม่ร่วมกับเอกชน

คู่สนทนา 1 - สื่อที่ว่า ไม่ใช่แค่สื่อทีวีเท่านั้นนะ ยังมีสื่ออีกหลายรูปแบบที่ทำได้ อย่างที่เอามาให้ดูนี่ คือ สื่อต้นแบบการ์ตูนไทยสร้างสุข

เสวนาจานส้มตำ

เสวนาจานส้มตำ

เสวนาจานส้มตำ

เสวนาจานส้มตำ



คู่สนทนา 2 - การ์ตูนเล่มละ 5 บาท เออ เข้าท่าดี ถูกกว่าการ์ตูนขายหัวเราะด้วย

คู่สนทนา 1 - นี่เป็นสื่อต้นแบบการ์ตูนไทยสร้างสุข (ฉบับ ฉลาดรู้อยู่กับสื่อ) มีคณะทำงานโครงการ อาทิ สถาบันสื่อเด็ก เยาวชน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก, สมาคมการ์ตูนไทย, สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก, แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

คู่สนทนา 2  -  เออ คอยได้ยินชื่อหลายองค์กรที่ว่ามาอยู่นะ ถ้าร่วมมือกันแบบนี้ น่าจะดีเหมือนกัน ราคาก็ถูก ให้ความรู้ที่อ่านง่าย มีหน้าสาระความรู้ในเล่ม เป็นสื่อที่เข้าถึงเด็ก เยาวชนในโรงเรียนได้ดีทีเดียวนะ นำเสนอด้วยมุมมองที่ต่างออกไป เออ ดูรายละเอียดในหลังปก ผลิตชุดนี้ออกมาได้ 10 เล่ม รวม 20 เรื่อง ดีเหมือนกันนะ

คู่สนทนา 1 - สื่อมีหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่สื่อทีวีเท่านั้นนะ สื่อหนังสือการ์ตูนแบบนี้ก็มี

คู่สนทนา 2 - น่าจะผลิตร่วมกับเอกชน เช่น บริษัทที่ทำการ์ตูนขายหัวเราะ แบบนั้นน่าจะกระจายในตลาดได้ เข้าถึงคนมากขึ้น ราคาก็ถูก ซื้อมาอ่านได้ง่าย

คู่สนทนา 1 - มันไม่ง่ายแบบนั้นสิ นี่เป็นการให้ความรู้กับผู้บริโภค ให้รู้เท่าทันสื่อต่างๆ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอางค์ มือถือ หรือเทคโนโลยีต่างๆ มันไปประทบกับผลประโยชน์กับบริษัทต่างๆด้วยสิ เลยต้องทำ หาช่องทางเองแบบนี้ ทำโครงการเองแบบนี้ล่ะ

คู่สนทนา 2 -  ถ้าเป็นธุรกิจ ก็คงต้องเอื้อกับบริษัทธุรกิจอื่นๆด้วย อือ แต่ดูรูปเล่ม เชยๆไปนิด ถ้าเป็นแบบหนังสือขายหัวเราะ คงน่าอ่านมากขึ้น

คู่สนทนา 1 - อันนั้น เค้าเป็นธุรกิจ มีทุนผลิตให้สินค้าออกมาดี แต่สื่อต้นแบบการ์ตูนนี้ เป็นโครงการที่พึ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของ พรบ.กองทุนสื่อ ที่ภาคประชาชน ต้องมีส่วนร่วมในกองทุนนี้ เพื่อจะได้ผลิตสื่อที่ดีๆ ดีขึ้น จากที่เห็นอยู่นี้

คู่สนทนา 2 -  ออ เป็นสื่อต้นแบบที่รอเวลาพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีกเหรอ เริ่มต้นก้าวแรกในตอนนี้ เพื่อก้าวต่อไปในอนาคตสินะ แม้ว่า ยุคนี้ คนไทยจะอ่านหนังสือน้อยลง หรือไม่อ่านเลย แต่เด็กนักเรียนที่ต้องเรียนหนังสือ ยังไงก็ต้องอ่าน ต้องเรียน หนังสือการ์ตูนต้นแบบ มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเหมือนกัน ถ้าเอาไปวางขายบนแผงหนังสือ ก็ไม่รู้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหนเนาะ แบบนั้นคงเสียค่าใช้จ่ายเยอะเหมือนกัน


++++++++++เพิ่มเติม ++++++++++++++

ย น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.) บอกกับเราว่า สังคมปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสื่อและเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะ โฆษณาทางอินเทอร์เนต โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ เคเบิลท้องถิ่น หรือรถเร่ที่เข้าไปตามหมู่บ้าน จากผลสำรวจพบว่าเด็กเห็นโฆษณา 23% ของรายการทั้งหมด และอยู่หน้าจอทั้งโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์นาน 7-8 ชั่วโมง จากตัวเลขนี้จะเห็นได้ว่า สื่อมีอิทธิพลอย่างมาก เมื่อเด็กดูโฆษณาแล้ว เด็กก็จะไปซื้อขนมกินสูงถึง 9,800 บาทต่อปี ต่างจากค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ใช้เพียง 3,024 ต่อปี เด็กกินขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมมากกว่ากินผัก และมีแนวโน้มในการเป็นโรคต่างๆ มากยิ่งขึ้นและอายุต่ำลงเรื่อยๆ รวมถึงเสี่ยงที่จะเป็นทั้งโรคเบาหวาน อ้วน และโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งในแต่ละปีพบว่าต้องเสียค่ารักษาโรคอ้วนแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท
“แนวทางการรู้เท่าทันสื่อนั้น เราต้องตระหนักว่า เนื้อหาของสื่อล้วนถูกสร้างขึ้น มีวิธีการ แต่ละคนรับรู้เนื้อหาของสื่อต่างกัน เนื้อหาถูกซ่อนและปลูกฝังความคิด ค่านิยมบางอย่างไว้เสมอ เนื้อหาสื่อหวังประโยชน์บางอย่าง ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้คนรับสื่อตระหนักตรงนี้ ทำอย่างไรให้คนรับสื่อกระตุกความคิดและแยกแยะก่อนเชื่อในสื่อทั้งหมด” น.ส.เข็มพรบอก
น.ส.เข็มพร บอกต่อว่า เมื่อการ์ตูนเป็นสื่อหนึ่งที่มีพลัง และสามารถเข้าถึงคนทุกวัยได้ จึงเป็นที่มาของการชวนนักเขียนการ์ตูนมาร่วมผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ ใช้สื่อนี้สร้างความเข้าใจในสื่อที่ถูกต้อง โครงการนี้จึงเป็นโครงการต้นแบบ โดยการนำสื่อการ์ตูนเล่มละบาท ซึ่งเป็นสื่อดั้งเดิมของไทยมาประยุกต์ใหม่เพื่อสร้างสังคม โดยประเด็นที่จะใช้ในการสร้างผลงาน จะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น อาหาร อาหารเสริม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง บริการสุขภาพ/ความงาม ยา/สมุนไพร แฟชั่น เครื่องมือสื่อสาร การเงิน/บัตรเครดิต ทั้งหมด 20 เรื่องด้วยกัน
“ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว งานของเราคือความพยายามทำให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทุกคนรู้เท่าทันสื่อ สามารถเข้าใจเนื้อหาที่สื่อเสนอ วิเคราะห์ แยกแยะ ประเมินค่า สามารถใช้ประโยชน์และพัฒนาสื่อในแบบฉบับของตนเองได้ เป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพทางความคิด และการเรียนรู้ จนกระทั่งเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้” น.ส.เข็มพรบอก
เมื่อการ์ตูนดีๆ เหล่านี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปแล้วนั้นน.ส.เข็มพร บอกทิ้งท้ายไว้ว่า ตนคาดหวังไว้ว่าอย่างน้อยคนอ่านในระดับล่างที่ไม่มีเงินซื้อหนังสือดีๆ เล่มที่มีราคาแพง จะได้อ่านและเกิดกระบวนการพัฒนาทางความคิด ปรับเปลี่ยนความเชื่อผิดๆ รวมถึงกลุ่มคนอื่นๆด้วย และในอนาคตหากการ์ตูนได้รับความนิยม มันก็จะเกิดเป็นกระแส คึกคัก มีนักเขียนมากขึ้น มีความหลากหลายในเนื้อหา คนในสังคมก็จะได้พัฒนาความคิด สติปัญญาและรู้เท่าทันสื่อมากขึ้นไปเรื่อยๆ
นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อ “การ์ตูน” เป็นสื่อที่มีพลังและสามารถให้ความรู้ ความบันเทิงได้ในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญสามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนทัศนะคติ ความเชื่อผู้คนในสังคมได้จาก “ภาพ” ที่สื่อออกมา ดังนั้นเราจึงควรหันมาร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อดีให้เกิดขึ้นในสังคมให้มาก เพื่อการเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง และเท่าทันสถานการณ์ความเป็นไปรอบตัวนั่นเองนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น