++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

ไอเดียเจ๋ง ! วัยรุ่นยุคใหม่โชว์วิถีไทย ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์




 ก้าวสู่ปีที่ 3 ของอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของยุครัตนโกสินทร์ โดยมุ่งหวังกระตุ้นให้เยาวชนชื่นชอบ และสนใจที่จะศึกษาค้นคว้า ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมในยุครัตนโกสินทร์ที่บรรพชนไทยได้สั่งสมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
     
       สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีความตั้งใจจะปรับปรุงภาพยนตร์ที่ใช้ในการจัดแสดงในห้องที่ 8 “เรืองรุ่งวิถีไทย” (โซนรถไฟฟ้า) ณ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และเปิดโอกาสให้เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของมรดกแห่งการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของไทย จึงจัดการประกวดออกแบบโครงร่างภาพยนตร์สั้น หรือ Story Board ภายใต้แนวคิด "วิถีไทยในใจคุณ" โดยเปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากผู้เข้าร่วมโครงการมากถึง 244 ผลงาน จากทั่วประเทศ
     
       ล่าสุดได้ประกาศผลและมอบรางวัลให้กับผลงานประกวดออกแบบโครงร่างภาพยนตร์สั้น ทั้ง 5 ผลงาน โดยการตัดสินของคณะกรรมการประกอบด้วย นางวีนา โปรานานนท์ หัวหน้าฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, นายวิวัฒน์ เอื้อวงศ์วรานนท์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์


"ไนท์ นายชานนท์ กรุดสุข"

       รางวัลชนะเลิศได้แก่หนุ่มน้อยจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย "ไนท์ นายชานนท์ กรุดสุข" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งเจ้าตัวได้เล่าถึงผลงาน Story Board ว่าตนใช้การเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักคือ แม่ลูกคู่หนึ่ง ซึ่งเด็กไม่เข้าใจในวิชาเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องของวิถีไทยที่เรียนมา จึงมาถามแม่ แล้วแม่ก็เล่าให้ฟังพร้อมกับทำขนมไทยไปด้วย ในตอนท้ายเรื่องยังแทรกการอนุรักษ์วิถีไทยเอาไว้ด้วย
     
       "ผมใช้เวลาในการคิดและวาดโครงร่างภาพยนตร์สั้นเพื่อจะส่งเข้าประกวดในครั้งนี้เพียง 3 วัน เพราะช่วงที่ต้องส่งผลงานเป็นช่วงสอบพอดี จึงใช้เวลาในการอ่านหนังสือและตั้งใจสอบให้ผ่านไปเสียก่อน จนสอบเสร็จก็เริ่มหาข้อมูลและไอเดียที่จะนำเสนอเพื่อตอบโจทย์ที่ทางนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ได้กำหนดให้ นั่นคือการสื่อสารวิถีไทยในใจคุณ เพื่อเผยแพร่ไปยังคนรุ่นใหม่ที่เห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ด้วยแนวทางการนำเสนอที่เข้าใจได้ง่าย"
     
       ไนท์เล่าต่อว่า เหตุผลที่เลือกแม่กับลูกมาเป็นตัวละครในการดำเนินเรื่อง เพราะเชื่อว่าผู้ชมทุกคนย่อมมีความใกล้ชิดและเคยผ่านเหตุการณ์ลักษณะเช่นเดียวกันนี้มาก่อน ในวัยเด็กเวลาสงสัยอะไร ก็มักจะไปถามแม่ก่อนใคร จึงคิดว่าตัวละครทั้งสองจะเป็นสื่อกลางที่สามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจและเข้าถึง จนสามารถสัมผัสสิ่งที่ตนต้องการจะสื่อสารได้ เพราะต่างก็เคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น


"อะตอม นายติณห์วัช จันทร์คล้อย"

       รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ "อะตอม นายติณห์วัช จันทร์คล้อย" นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งอะตอมเล่าถึงแนวคิดในการผลิตผลงานชิ้นนี้ว่า Story Board ใช้ว่าวเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยเล่าผ่านว่าวจุฬาที่เปรียบเสมือนการลอยผ่านยุคสมัยต่างๆ ในรัตนโกสินทร์ บอกเล่าความเจริญทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนจากยุคนั้นถึงยุคปัจจุบัน
       "ผลงานของผมจะสื่อสารด้วยการที่ว่าวจุฬาลอยอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งว่าวก็นับว่าเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมที่ผ่านยุคสมัยต่างๆ มานาน จนวันหนึ่งว่าวนั้นขายไปตกที่บ้านของชายคนหนึ่ง และอาจทรุดโทรมไม่สวยงาม แต่สุดท้ายแล้วก็จะมีมือของชาวไทยที่คอยบำรุงรักษาส่งว่าวหรือวัฒนธรรมที่ดีเหล่านี้ขึ้นไปลอยอยู่บนฟ้าอย่างสวยงามเช่นเดิม" อะตอมเล่า
     
       อะตอมเพิ่มเติมว่า การทำงานแบบเดี่ยวและแบบทีมมีข้อได้เปรียบเสีบเปรียบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งตนมองว่า ถึงแม้การทำงานคนเดียวจะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องอาศัยคำปรึกษาและคำแนะนำจากคนใกล้ชิดเพื่อเปิดมุมมองที่หลากหลาย และจะช่วยให้ผลงานชิ้นนั้นมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นด้วย
     
       ถัดมาที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายบารมี เขียนชัยนาจ, นายสัญชัย พัชนะ, นายอธิวัฒน์ สามคำ, นายภูวดล พิชัยรัตน์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม กับผลงานที่เสนอเรื่องราววิถีชีวิตของคนไทยในอดีตและปัจจุบันถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยแต่ก็ยังมีสิ่งที่ไม่เปลี่ยนไป ไม่ว่าเวลาผ่านไปเท่าไรแต่วิถีไทยในหัวใจก็ยังเหมือนเดิม นอกจากนั้นยังมีรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล ได้แก่ นายอัตตา เหมวดี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นการนำเสนอเรื่องราว ผู้ชายคนหนึ่งนั่งมองดูความศิวิไลที่มาพร้อมเทคโนโลยีในปัจจุบัน ปัจจุบันนั้นอะไรๆ ก็เปลี่ยนไปมาก เขาย้อนนึกถึงคำที่แม่เคยบอก สุดท้ายเขามองเห็นว่าแม้โลกจะเปลี่ยนไปยังไง สิ่งที่ยังไงก็ไม่เปลี่ยน ก็คือวัฒนธรรมและน้ำใจที่ยังมีให้กันทุกยุคทุกสมัย
     
       และอีกหนึ่งทีมเป็นสาวน้อยจากมหาวิทยาลัยรังสิต นางสาวจิตสุภา บรรเลง นางสาว สิรินาถ สารทอง เป็นการนำเสนอเรื่องราว ชีวิตชาวไทยแบบดั้งเดิมและบรรยากาศการใช้ชีวิตมานำเสนอในเรื่องราวของโครงร่างภาพยนตร์สั้น โดยการเรียนรู้การศึกษาสมัยก่อนที่เรียนรู้ที่วัด การละเล่น การร่ายรำประเพณีไทยโดยควบเวลา กับยุคนี้ที่ยังมีการเรียนรู้ร่ายรำอยู่
     
       ทั้งนี้นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ผู้อำนวยการอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์กล่าวว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลจะนำไปใช้ได้จริงผ่านห้องจัดแสดง “เรืองรุ่งวิถีไทย” (โซนรถไฟฟ้า) อย่างแน่นอน แต่จะมีการปรับเปลี่ยนบ้างในบางเนื้อหา และเพิ่มเติมข้อมูลให้สมบูรณ์เพื่อใช้จัดแสดงผลงานต่อไป
     
       "อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่พลาดในครั้งนี้ ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้จัดโครงการประกวดภาพถ่ายและคลิปวีดีโอ ครั้งที่ 2 ชิงรางวัลรวมมูลค่า 100,000 บาท เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน สามารถถ่ายทอดแนวความคิด และความรู้สึก เกี่ยวกับนิทรรศน์รัตนโกสินทร์อย่างสร้างสรรค์ และตระหนักถึงความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของไทยในยุครัตนโกสินทร์ โดยส่งผลงานภาพถ่ายในหัวข้อ “ห้องจัดแสดงสุดประทับใจใน นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” และคลิปวิดีโอ ไม่จำกัดรูปแบบและเพลงในหัวข้อ “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ร่วมสมัยในแบบคุณ” โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.facebook/nitasrattanakosin และ www.nitasrattanakosin.com" นายอุปถัมป์กล่าวสรุป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น