++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

ลือหึ่ง! ปิดตำนาน “ช้างเผือกอัสสัมชัญศรีราชา”



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ลือหึ่ง! ส่อปิดตำนานอภิมหาลูกหนังขาสั้นเมืองไทย อัสสัมชัญศรีราชา โดยมีข่าวลือหนาหูว่า โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา มีแผนเตรียมยุบนักฟุตบอลโครงการช้างเผือก ที่สร้างชื่อเสียงมายาวนานเกือบ 20 ปีลงแล้ว โดยจะไม่รับนักกีฬาในโครงการนี้เพิ่มนับตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไป ซึ่งถ้าเป็นความจริง อาจทำให้ในอนาคตจะไม่มีนักเตะอัสสัมชัญศรีราชาวาดลวดลายในวงการลูกหนังขาสั้นก็เป็นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา เตรียมยกเลิกโครงการช้างเผือกด้านกีฬาฟุตบอล ซึ่งจะไม่มีการดำเนินโครงการต่อไปแล้วนับตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 นี้เป็นต้นไป โดยจะไม่มีการรับนักกีฬาโครงการช้างเผือกเข้ามาอีก ทั้งด้านฟุตบอล หรือแม้แต่เซปักตะกร้อ แต่จะปล่อยให้นักเตะช้างเผือกที่มีอยู่เดิมหมดรุ่น หรือแยกย้ายไปเรียนที่ต่างๆ ให้หมดรุ่นกันไปเอง ซึ่งในตอนนี้ มีนักเตะในโครงการประมาณกว่า 100 คน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็หมายถึงเป็นการปิดตำนานอภิมหาลูกหนังขาสั้น นามว่า “อัสสัมชัญ ศรีราชา” ของเมืองไทยไปโดยปริยาย

สำหรับประวัติส่วนหนึ่งของโครงการช้างเผือกอัสสัมชัญศรีราชา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2535 มีภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม เป็นผู้อำนวยการ ได้ติดต่อ นายธนศักดิ์ สุระประเสริฐ และนายอรรนพ สิงห์โตทอง เข้ามาช่วยดูแล และมี ม.ฤทธิ์ ชมน้อย เป็นผู้ฝึกสอน ซึ่งมีนักฟุตบอลในยุคแรกเพียง 14 คน เช่น ครองพล ดาวเรือง, จตุพงษ์ ทองสุข, อรรถกร เสนเพ็ง, ตาล นครดี, ธนเศรษฐ์ อมรสินชัย เป็นนักเตะในรุ่นแรก ก็สามารถได้แชมป์นักเรียนกรมพลศึกษาประเภท 18 ปี ข. มาครองพร้อมเลื่อนขึ้นสู่ 18 ปี ก. ปี 2537 ในปีต่อมา

พร้อมประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์นักเรียนกรมพลศึกษา 18 ปี ก. มาครองได้สำเร็จเพียงปีแรกที่ก้าวขึ้นมาทันที รวมทั้งรางวัลอื่นๆ อีก เช่น ชนะเลิศฟุตบอลชิงถ้วยผู้บัญชาการทหารอากาศ 18 ปี ก. ชนะเลิศบอลนักเรียนกรุงเทพมหานคร 18 ปี ก. สร้างประวัติศาสตร์เป็นทริปเปิลแชมป์ในปีเดียวกัน รวมทั้งแชมป์ฟุตบอลควีนส์คัพ เยาวชนพานาโซนิคที่เล่นให้แก่สโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในปี 2538-39 ได้รองชนะเลิศนักเรียนกรมพลศึกษา 18 ปี ก.

ปี 2540-41 ชนะเลิศฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษา 18 ปี ก.
ปี 2542 ไม่มีการแข่งขัน
ปี 2543 ชนะเลิศ 18 ปี ก. BROOR LEAGUE กรมพลศึกษา
ปี 2544 ชนะเลิศ 18 ปี ก. BROOR LEAGUE กรมพลศึกษา
ปี 2545 ชนะเลิศ บอล KFC LEAGUE กรมพลศึกษา รุ่น 18 ปี ก. สามสมัยซ้อนเป็นทีมแรก รุ่นอายุ 16 ปี ก. 14 ปี ก. เป็นทีมเดียวที่ชนะเลิศทั้งสามรุ่นในปีเดียวกัน
ปี 2546 แชมป์เขตการศึกษา แชมป์ 16 ปี ปตท.พลังก๊าซธรรมชาติคัพ 4 สมัยซ้อน
ปี 2547 แชมป์โค้กคัพ แชมป์เขตการศึกษา แชมป์ 18 ปี ก. และรองแชมป์ฟุตบอลไพรมินิสเตอร์คัพ
ปี 2548 แชมป์เขตการศึกษา รองแชมป์ไพรมินิสเตอร์คัพ รอบชิงชนะเลิศประเทศไทย ประเภทประชาชน
ปี 2549 ชนะเลิศฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พรีเมียร์ คัพ 2006 แชมป์บอลกรมพลศึกษา 18 ปี ก.
ปี 2550 แชมป์บอลไพรมินิสเตอร์คัพ รอบชิงชนะเลิศประเทศไทย แชมป์เขตการศึกษา รองแชมป์ เอซีเอสคัพ แชมป์ฟุตบอลไฮสคูล แชมป์เยาวชนแห่งชาติ แชมป์เคเอฟซี 14 ปี แชมป์ฟุตบอลโค้กคัพ ได้ไปประเทศบราซิล
ปี 2551 อันดับที่ 3 บอลกรมพลศึกษา 18 ปี ก. รองแชมป์บอลเขตการศึกษา แชมป์บอลไพรมินิสเตอร์คัพ ประเภทประชาชน

ปี 2552 ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลเยาวชน 18 ปี กรมพลศึกษา ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารแชมป์ แชมป์ฟุตบอลเอซีเอสคัพ ครั้งที่ 8 ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอล KFC SEVEN SHOOT ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนและประชาชนประจำปี 2552, ชนะเลิศฟุตบอลไพรมินิสเตอร์คัพ 2010 ระดับเขต รุ่น 16 ปี ชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์กีฬา 7 สี

ปี 2553 ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลฮอนด้า เรด แชมป์เปี้ยนระดับภูมิภาค แชมป์ฟุตบอล เอซีเอสคัพ ครั้งที่ 9 รุ่น 18 ปี ชนะเลิศฟุตบอล KFC SEVEN SHOOT 2 ชนะเลิศฟุตบอลนักเรียน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ชนะเลิศฟุตบอลกรมพลศึกษารุ่น 18 ปี ก. ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนและประชาชน กรมพลศึกษา รุ่น 18 ปี และรุ่น 16 ปี ชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนแห่งชาติ

ปี 2554 ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลเอซีเอสคัพ ครั้งที่ 10 รุ่น 18 ปี เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน
ปี 2555 ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลไพรมินิสเตอร์คัพ ประเภทอายุไม่เกิน 16 ปี

สำหรับโครงการช้างเผือกส่งผลให้มีนักกีฬาติดทีมชาติมาแล้วเป็นจำนวนมา เช่น เช่น ครองพล ดาวเรือง จตุพงษ์ ทองสุข อรรถกร เสนเพ็ง นเรศ สุขงาม สุริยันต์ แจ่มแจ้ง ถวัลย์ บุญกลม นิกร อนุวรรณ สินทวีชัย หทัยรัตนกุล สุรีย์ สุขะ สุรัตน์ สุขะ ณัฐพร พันธ์ฤทธิ์ ณัฐพงษ์ สมณะ เอกพันธ์ อินทเสน ศราวุฒิ จันทพันธ์อาทิตย์ สุนทรพิธไพศาล โพธิ์นาจักรพันธ์ ปั่นปี พิภพ อ่อนโม้ วันทอน อินอุเทน ภานุวัฒน์ จินตะ อุดร พิมพ์ภาค และภูริทัตน์ จาริกานนท์ เป็นต้น

ด้านนายจเด็จ มีลาภ เฮดโค้ชวัวชน ยูไนเต็ด อดีตผู้ฝึกสอนช้างเผือกอัสสัมชัญศรีราชา (2538-2549) เปิดเผยว่า “เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่โครงการนี้เคยสร้างเกียรติประวัติ สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชามาอย่างยาวนาน มีการวางโครงสร้างไว้อย่างเข้มแข็ง เป็นแหล่งที่ผลิตนักกีฬาที่มีคุณภาพออกมาสู่สังคมอย่างมากมาย สร้างอนาคต สร้างทรัพยากรให้แก่วงการฟุตบอลของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมากที่จะยุติโครงการนี้ และมีความเห็นว่าไม่ควรจะยกเลิกโครงการนี้”

นายสุรพงษ์ ทุมมานนท์ ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เปิดเผยว่า “เมื่อได้ทราบข่าวว่าจะยุบโครงการนักเตะช้างเผือก ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากนักฟุตบอลเหล่านี้ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชามาอย่างยาวนาน สร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้านฟุตบอลให้แก่จังหวัด ให้แก่ประเทศ ให้คนต่างประเทศได้รู้จัก หลายคนที่อยากมาเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ก็เพราะผลงานด้านฟุตบอล ไม่เชื่อลองไปถามว่ารู้จักโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาเพราะอะไร ร้อยทั้งร้อยก็ต้องบอกว่า รู้จักเพราะมีทีมฟุตบอลที่เก่ง มีนักกีฬาทีมชาติหลายคนเคยเรียนที่นี่

ถ้าหากยุบโครงการช้างเผือกไป ถามว่าจะให้โรงเรียนไปมีชื่อเสียงทางด้านไหน ทั้งที่นักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ทั่วโลกแล้ว ถ้าถามว่างบประมาณตรงจุดนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูง ผมว่าลองกลับไปคิดดูใหม่ว่ารายรับที่เข้ามาของโรงเรียนนั้นต่อปีเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ คุ้มกันไหมกับชื่อเสียงที่โรงเรียนได้รับจากนักฟุตบอลพวกนี้ และตนเองได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ศิษย์เก่าหลายๆ คน ทุกคนก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจในครั้งนี้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น