++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

“ตอนนี้การแพทย์เป็นการค้า เรามาผิดทาง!” สะท้อนปลุกสำนึกวิชาชีพแพทย์จากปาก “ดร.สัญญา วีระไวทยะ”



ศูนย์ข่าวศรีราชา - มุมมองปรมาจารย์แพทย์ “นายแพทย์สัญญา วีระไวทยะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ชี้ระบบการแพทย์ไทยส่อเค้าไม่สดใส หลังมองเรื่องเงินและผลประโยชน์มากกว่าจรรยาบรรณวิชาชีพ สบถ! นายแพทย์หัวหมอเห็นแก่เงินเป็นพวก “ริยำ” หลอกเลี้ยงไข้เพื่อเอาเงิน ทั้งที่ไว้ใจฝากชีวิตให้ดูแล เชื่อเป็นบาปหนักและทำการแพทย์ไทยเสื่อมถอย ฟันธงเปิด AEC คนไทยทั้งประเทศได้รับผลกระทบแน่

นายแพทย์สัญญา วีระไวทยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพัทยาอินเตอร์เนชั่นแนลฮอสพิทอล เปิดมุมมองด้านการแพทย์ผ่าน “ทีมข่าวผู้จัดการออนไลน์-ศูนย์ข่าวศรีราชา” ว่า ด้วยคลุกคลีด้านการแพทย์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยศึกษาแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย จนกลับมาบุกเบิกทำคลินิกมาตรฐานการแพทย์ระดับสากลจนพัฒนามาเป็นโรงพยาบาลร่วม 40 ปี ด้วยความมุ่งมั่นการให้บริการด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมา

“ตอนแรกผมตั้งใจเปิดเป็นคลินิกที่ได้มาตรฐานการแพทย์ระดับสากล แต่เราเน้นให้บริการคนที่อยู่ในชุมชน เราไม่ได้มองกลุ่มนักท่องเที่ยว ไม่ได้มองเม็ดเงินการเติบโตของการเปิดบริการด้านการแพทย์ นักท่องเที่ยวเป็นแค่โบนัส ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนล้วนมองเป็นธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจก็จะมองแต่เรื่องความเติบโตของยอดรายได้ เหมือนกาตอนนี้การแพทย์เป็นการค้า ผมว่าเป็นการมาผิดทาง แต่เราไม่ได้มองตรงนั้น เราต้องการเน้นการรักษา การให้ความรู้ ความเข้าใจกับคนไข้ ธุรกิจการแพทย์ที่มองแต่เรื่องยอดรายได้การเติบโต หมอที่เห็นแก่เงินหลอกชาวบ้านเลี้ยงไข้ เพิ่มขั้นตอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นในการใช้บริการเพื่อเพิ่มยอดเงิน คือเขามีความทุกข์เจ็บป่วยไม่สบายเข้ามาหาเราซึ่งเป็นหมอ แต่ไปหลอกเอาเงินเขาพวกนี้เป็นพวกหมอริยำ มันปอกลอกคนไข้แล้วมันจะโตได้ไง” กูรูการแพทย์ลั่นคำ

ปรมาจารย์ด้านการแพทย์ตระกลู “วีระไวทยะ” กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังทำอะไร การแพทย์ของไทยกำลังเดินทางเข้าหาความล้มเหลวเหมือนระบบการแพทย์ของอเมริกา การนำเอาสถานพยาบาล โรงพยาบาลหรือสถานการแพทย์นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เหมือนการแพทย์เป็นการค้า เพราะทุกอย่างตั้งแต่นำเข้าตลาดหลักทรัพย์จะต้องเป็นเงินหมด ความเชื่อของคนไทยก็คิดว่าของแพงจะเป็นของดี แต่บางครั้งความเป็นแพทย์จำเป็นต้องให้ความรู้คนไข้เพื่อไม่ให้กลับมาอีก การทำงานต้องมีทั้งหลักเกณฑ์ หลักการ และหลักฐาน แต่ตอนนี้หัวใจของความเป็นแพทย์ไม่มี จรรยาบรรณยิ่งไม่มี จะเอาแต่ตัวเลขอย่างเดียว การเอาวิชาที่เรียนมามาหลอกชาวบ้าน มันบาปมาก เพราะชาวบ้านเชื่อใจฝากชีวิตให้รักษาดูแล และจะทำให้วงการการแพทย์ไทยเสื่อมลงไปด้วย

นายแพทย์สัญญา กล่าวด้วยว่า คนไข้ที่มาใช้บริการโรงพยาบาลพัทยาอินเตอร์ฯ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติสูงถึง 60 % ซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว แต่จะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองพัทยามาอย่างยาวนาน ที่เหลือ 40 % เป็นคนไทย มาตรฐานการทำงานและการบริการของโรงพยาบาลก็เป็นมาตรฐานการแพทย์สากลนานาชาติ เรื่องการแพทย์ไม่ใช่อะไรที่เป็นความลับ เรายิ่งบอกให้คนไข้รู้มากเท่าไรยิ่งดีนั่นคือจรรยาบรรณ ราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลพัทยาอินเตอร์เป็นราคาที่ยุติธรรม อธิบายได้ คือสามารถอธิบายรายละเอียดของยอดค่าใช้จ่ายว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน ทางโรงพยาบาลจะอธิบายให้คนไข้เข้าใจทั้งหมดทุกขั้นตอนด้วยความจริงใจ

“การดำเนินการของโรงพยาบาลพัทยาอินเตอร์ฯ ไม่มีนโยบายที่ว่าความสามารถขึ้นอยู่กับจำนวนเตียง ความสามารถต้องขึ้นอยู่กับความสุขของคนไข้ เรามีความภูมิใจในแพทย์ของเราที่สร้างความเชื่อมั่นให้คนไข้ คือไม่ใช่เห็นหน้าต้องเป็นเงินตลอด มันไม่ใช่ สำคัญคือการสร้างมิตร การให้ความรู้ที่ถูกต้อง คนไข้เข้าถึงข้อมูลได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแพทย์ก็จะมีคนไข้ของตัวเองเป็นกลุ่มเป็นก้อนและก็จะกว้างขึ้น เราให้ความจริงใจกับคนไข้ เราให้ความรู้คนไข้ว่าการแพทย์ระดับโลกเขาไปถึงไหน จะเป็นจุดที่ไม่ให้คนไทยถูกเอาเปรียบๆ ได้ง่าย เทคโนโลยีใช้เมื่อจำเป็น พัฒนาและปรับปรุงเมื่อจำเป็น โรงพยาบาลมีคุณภาพต้องเน้นที่วิธีการรักษาและการอัพเดทเครื่องไม้เครื่องมือรักษาให้พร้อมและได้มาตรฐาน”

ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพัทยาอินเตอร์เนชั่นแนลฮอสพิทอล ยังพูดคุยถึงเรื่องการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีใน 2-3 ปี ข้างหน้านี้ว่า เมื่อถึงเวลานั้นซึ่งไม่อีกกี่ปีแทบจะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคือ คนไทยทั้งประเทศจะได้รับผลกระทบเรื่องค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่แพงมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานราคารักษาพยาบาลในภาพรวม ถึงเวลาแล้วที่หลายฝ่ายควรให้สำคัญกับวงการแพทย์ให้คำนึงถึงจรรยาบรรณของวิชาชีพตัวเอง โดยปลุกกระแสให้เป็นที่รับรู้ในประชาชนและสาธารณชนอย่างแพร่หลาย

“พอเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ต่อไปโรงพยาบาลจะดูแลคนไทยหรือจะสร้างให้ต่างชาติมาใช้ พอเขมร เวียนนาด พม่า ลาว แห่เข้ามา โรงพยาบาลก็มองเรื่องเงินและคิดหาโอกาสจะเพิ่มเงิน คิดว่าเป็นการนำเงินไหลเข้าประเทศ ผมว่ามันไม่ใช่ มันเพี้ยนไป คำถามคือเปิด AEC มีใครต้องการ คนไทยต้องการจริงๆ หรือเปล่า หรือนักการเมืองและนักธุรกิจที่ต้องการ เปิด AEC แล้วเงินเข้ากระเป๋าใคร ผมว่ามันกำลังทำร้ายคนไทย เปิดเสรีเหมือนทุกอย่างไม่มีลิมิต กระทบทางการแพทย์อย่างแน่นอนเพราะถึงตอนนั้นจะมีหมอริยำเห็นแก่เงินเพิ่มมากขึ้น” ดร.สัญญา วีระไวทยะ กล่าวปิดประโยคให้ฉุกคิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น