++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

นักวิชาการชี้จีนเตรียมปรับแนวทาง ศก. แนะไทยจับตา-ศึกษาเตรียมรับมือ



ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิชาการเผยในเวทีสัมมนาจีนที่เชียงใหม่ อนาคตจีนเตรียมปรับแนวทางเศรษฐกิจแน่ เหตุปัจจุบันแม้เศรษฐกิจเติบโตแต่ปัญหาเพียบ ชี้จีนจะเปลี่ยนจากโรงงานของโลกเป็นตลาดของโลกคนไทยต้องเร่งทำความเข้าใจเตรียมพร้อมรับมือ ด้านกงสุลจีนระบุจีนมุ่งหวังก้าวหน้าไปกับเพื่อนบ้าน เล็งภายในปี 2015 ยอดการค้า-การท่องเที่ยวกับอาเซียนต้องเพิ่มขึ้นอีก

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และสภาธุรกิจไทย-จีน จัดการสัมมนาเรื่อง “การผงาดขึ้นของจีนในศตวรรษที่ 21 : โอกาสและท้าทาย” ขึ้น โดยมีนายจาง เหว่ยฉาย กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และสาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ร่วมกล่าวปาฐกถาในงานดังกล่าว

การจัดการสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งริเริ่มโดยสภาธุรกิจไทย-จีนและมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรตินั้น ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสาธารณรับประชาชนจีนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลทั้งต่อจีนและประเทศอื่นๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ส่วนรายละเอียดในการจัดงาน ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ และการบรรยายและอภิปรายของนักวิชาการทั้งไทยและจีน รวมถึงตัวแทนจากภาคธุรกิจที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอย่างดี เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งการจัดงานที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการสัมมนาเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีการจัดงานในส่วนภูมิภาคขึ้นตามมา

นายจาง เหว่ยฉาย กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในตอนหนึ่งของขอวงการปาฐกถาต่อที่ประชุมว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย และที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างได้เสริมสร้างความร่วมมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างราบรื่นมาโดยตลอด

ทั้งนี้ จีนมุ่งหวังที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตรและช่วยเหลือกเกื้อกูลกัน โดยในส่วนของอาเซียนนั้นจีนมีความคาดหวังที่จะเสริมสร้างการค้าแบบทวิภาคี และการแลกเปลี่ยนผู้คนระหว่างทั้งสองฝ่ายให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นภายในปี 2015

ส่วนกรณีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเขตแดนระหว่างจีนและประเทศในอาเซียน จีนหวังที่จะแสวงหาหนทางบรรเทาปัญหาความขัดแย้งผ่านการเจรจากันอย่างสร้างสรรค์

ด้าน นายวิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวในการบรรยายในหัวข้อ “การเปลี่ยนโฉมรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนกับผลกระทบต่อไทยและภูมิภาค” ว่า ในอนาคตแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาระยะที่ 12 ในปี 2011-2015 จีนจะหันมาพัฒนาประเทศภายใต้ปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่ ภายในประเทศมีเสถียรภาพ และภายนอกประเทศมีสันติภาพ โดยมุ่งให้สังคมจีนมีประชาชนที่มีฐานะพออยู่พอกินอย่างทั่วถึง

ขณะเดียวกันก็จะทำการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเป็นไปอย่างไม่สมดุล กล่าวคือ 1. มีโครงสร้างการผลิตที่ด้อยประสิทธิภาพและสิ้นเปลืองพลังงาน 2. การเติบโตทางเศรษฐกิจอาศัยต้นทุนแรงงานต่ำและใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง 3. เน้นการขายเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ 4. นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญายังล้าหลัง

5. โครงสร้างเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับการขยายตัวของโครงสร้างด้านการบริโภค 6. การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้และความไม่ยุติธรรมในการใช้ทรัพยากร 7. อัตราการจ้างงานยังคงต่ำ 8. อุปสงค์ในประเทศยังต่ำและต้องพึ่งพาต่างประเทศมาก และ 9. การส่งเสริมให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศทำให้ผู้ประกอบการออกไปแข่งขันกันเอง

นายวิบูลย์กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เมื่อหันมาพิจารณาดูแนวทางของจีนตามแผนพัฒนาระยะที่ 12 จะพบว่ามีการให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา การวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีแนวทางที่จะเปลี่ยนโฉมรูปแบบทางเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิดที่จะพัฒนาให้จีนเปลี่ยนจากโรงงานของโลกมาเป็นตลาดของโลก ทั้งจากการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้ากับภูมิภาค การปรับโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตหรือออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจแนวทางดังกล่าว เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น