++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส : “คนใน” ต้องเป็นผู้นำถือคบไฟเพื่อสันติภาพ



มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท, โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
ฟารีดา ขจัดมาร ผู้ปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)

ในวาระที่เครือข่ายประชาสังคมซึ่งขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพในชายแดนภาคใต้กำลังจะเปิดตัว “กระบวนการสันติภาพปาตานี” (Pat[t]ani Peace Process - PPP) ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2555 นี้ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ได้พูดคุยกับ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส ผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ ผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้าง “พื้นที่กลาง” ในการพูดคุยระหว่าง “คนใน” และการสร้าง “Insider Mediator” (ตัวกลางที่เป็นคนใน) เพื่อแสวงหาข้อเสนอร่วมของคนทุกศาสนา และชาติพันธุ์ในพื้นที่เพื่อสร้างแผนที่ในการเดินทางไปสู่สันติภาพ


ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส ผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ



ในวงสนทนาหัวข้อ “PPP: Pa(t)tani Peace Process in ASEAN Context” [“พีพีพี : กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน”] ซึ่งจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ในวันที่ 7 กันยายน 2555 นี้ ดร.โนเบิร์ตจะแสดงปาฐกถาในเรื่อง “IPP in context of PPP : Insider Peacebuilding Platform in the context of Pat[t]ani Peace Process” [“ไอพีพีในบริบทของ พีพีพี : พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจาก 'คนใน' ภายใต้บริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานี”] (กรุณาดูรายละเอียดในกำหนดการที่นี่) นักวิชาการอาวุโสชาวเยอรมันผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหลายประเทศจะอธิบายแนวคิดของเขาเกี่ยวกับบทบาทของ “คนใน” ในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับบริบทในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ดร.โนเบิร์ตอธิบายว่า โดยรวมแล้ว ในยุโรปมีแนวคิด และตัวแบบเรื่องการเป็นตัวกลางของการแก้ปัญหาความขัดแย้งอยู่ ทวีปเอเชียค่อนข้างอ่อนด้อยในการรับมือกับการจัดการความขัดแย้ง แต่จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอาเซียนมีพัฒนาการในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก แม้ว่าความคิดเรื่องการมีตัวกลางในการจัดการความขัดแย้งยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับอยู่บ้าง เช่น ปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ที่แม้จะมีตัวกลาง แต่ก็ยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก

“คนใน” คือใคร
ดร.โนเบิร์ตอธิบายเรื่องนี้ด้วยการแสดงตารางภาพให้เห็นว่า ในสังคมมีคนอยู่ 3 ระดับ (3 Track) คือ ระดับบน (Track 1) ระดับกลาง (Track 2) และระดับล่าง (Track 3) ในสังคมแต่ละสังคมนั้นก็มีคนที่มีความคิดสุดโต่ง เช่น ในสังคมไทยมีทั้งคนมลายูมุสลิม และคนไทยพุทธที่สุดโต่ง แต่ระหว่างคนสุดโต่งสองกลุ่มก็มีคนที่อยู่ตรงกลางเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นคนที่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ แต่เป็นพวกที่ต้องการสันติวิธี ต้องการต่อสู้โดยไม่ต้องใช้อาวุธ

“คนที่อยู่ตรงกลางนี่แหละที่จะเป็นตัวกลางจริงๆ ในการทำงานเรื่องสันติภาพ ดังนั้น การแสดงปาฐกถาในครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มาจากคนใน ตัวกลางคือคนใน”

“ความปรารถนาของผมคือทำหน้าที่หนุนเสริมคนที่อยู่ตรงกลาง แต่ตัวผมไม่ใช่คนที่อยู่ตรงกลาง เพียงแต่หนุนเสริมให้พวกเขาได้แสดงบทบาทเท่านั้น”

ดร.โนเบิร์ต อธิบายว่า ในเรื่องการสร้างสันติภาพนั้นจำเป็นต้องให้คนส่วนใหญ่รับรู้ร่วมกัน คือ ต้องรณรงค์กับกลุ่มคนในประชาสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของ Track 1 เพียงอย่างเดียว และจะต้องให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ข้างล่างจริงๆ เพราะประชาชนมีความหลากหลาย

“ผมต้องการผลักดันเรื่องนี้ให้อยู่ในระดับโลก ในรายงานของสหประชาชาติก็ปรากฏเรื่องนี้ด้วย เพราะในระดับโลกมีการผลักดันกระบวนการใน Track 1 มากเกินไป ซึ่งมันอาจไม่สำคัญเพียงพอในตอนนี้ ผมจึงอยากผลักดันเรื่องคนใน หรือ Insider Mediator เข้าไปในระดับโลกให้มากๆ”

เมื่อถามว่าการผลักดันในระดับ Track 1 ถึงทางตันแล้วหรือ? ดร.โนเบิร์ตกล่าวว่า ถ้าใช้เฉพาะกระบวนการใน Track 1 เท่านั้น ความขัดแย้งอาจจะยืดยาวออกไปอีก เพราะ Track นี้จะมีตัวแสดงเพียงแค่ 2 ฝ่าย คือ รัฐบาลกับคนที่ใช้ความรุนแรง หรือขบวนการเคลื่อนไหวเท่านั้น

“รัฐบาลยังไม่กล้าคุยเรื่องการแก้ปัญหาในเชิงการเมืองอย่างแท้จริง ส่วนพวกขบวนการเคลื่อนไหวก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร และไม่มีทิศทางที่จะเจรจา หรือพูดคุยกันระหว่างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ตกลงให้ชัดเจน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งชัดเจน ทุกอย่างมันก็จะล้มเหลว และกลายเป็นวงจรที่เกิดขึ้นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การแก้ปัญหาจะไม่ประสบความสำเร็จ”

เมื่อเป็นเช่นนั้น ดร.โนเบิร์ตชี้ว่า จำเป็นที่จะต้องมีฝ่ายที่ 3 เข้ามาทำงานกับคนที่อยู่ตรงกลาง ผลักดันเรื่องการพูดคุย หรือการเจรจา โดยให้ทั้ง 2 ฝ่าย คือ รัฐบาลกับพวกขบวนการเคลื่อนไหวพร้อมที่จะแสดงท่าทีอะไรบางอย่างให้ชัดมากกว่านี้ เขาย้ำว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องมีตัวกลางที่จะมาให้ทั้ง 2 ฝ่าย หาทางแก้ปัญหาให้ชัดเจนขึ้น

“การแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่การหาสูตรสำเร็จมาใช้ แต่เน้นความหลากหลายของเครือข่ายประชาสังคม เพื่อค่อยๆ หาทางที่เป็นไปได้ ต้องค่อยๆ ทำไปทีละขั้นตอน ความหลากหลายตรงนี้ ต้องมาแชร์ร่วมกัน และทำงานไปด้วยกัน ไม่ใช่เพื่อจะเอามาล้มล้างความคิดเก่าๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่เป็นการใช้ความหลากหลายตรงนี้เข้ามาสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกันให้ได้ ซึ่งอาจไม่ใช่หนึ่ง สอง หรือ สามแนวทาง”

“ต้องทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกันนี้ เชื่อให้ได้ เพราะฉะนั้น ต้องมาสร้างบรรยากาศให้มีการพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาให้ชัดเจนขึ้น ต้องทำไปทีละขั้นตอน ไม่มีสูตรตายตัว แต่ต้องพูดคุยกันให้มาก จนกว่าจะหาความเห็นร่วมสำหรับทุกคนได้”

ดร.โนเบิร์ตบอกว่า “เรื่องนี้ต้องใช้เวลาหลายปี แต่บอกไม่ได้ว่ากี่ปี แต่ระหว่างนี้เราสามารถทำสิ่งเล็กๆ ได้ คือ การสร้างเครือข่ายขึ้นมา เพื่อให้เกิดกลุ่มที่เป็นตัวกลางที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในหมู่คนมลายูมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และคนไทยพุทธในพื้นที่ด้วย”

“ถ้าเราสามารถหาทางที่จะไปได้แล้ว จะต้องมีการผลักดันอย่างเข้มแข็งในเชิงข้อเรียกร้องที่สามารถทำได้ และสามารถทำให้กลุ่มที่อยู่ข้างบนยอมรับ ที่สำคัญที่สุดคือ ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับด้วย”

“ผมฝันที่จะเห็นภาพทั้งคนไทยพุทธ และมลายูมุสลิมร่วมมือกัน อาจจะสักประมาณ 1-2 หมื่นคนเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐ มีการประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์ หรือมาเดินขบวนเรียกร้องหาทางแก้ไขที่นำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง เช่น การเรียกร้องให้หยุดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือเรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงระหว่าง 2 ฝ่าย”

ต้องสร้างฉันทมติร่วมกัน
ดร.โนเบิร์ตบอกว่า เสียงของคนในพื้นที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องมีฉันทมติร่วมกันทั้งคนมลายูมุสลิม และคนไทยพุทธในพื้นที่ แล้วให้สังคมไทยทั้งหมดยอมรับ นี่คือแนวคิดที่ตนอยากจะร่วมสร้างขึ้นมา ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งก็ได้ แต่ต้องให้คนในออกมาทำเอง ไม่ใช่เป็นข้อเสนอมาจากสังคมข้างนอก

แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศมีแนวโน้มที่จะเสียงดังกว่า เราจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้เสียงส่วนใหญ่ยอมรับข้อเสนอจากพื้นที่ด้วยการผ่านกระบวนการสร้างฉันทมติร่วม และต้องสร้างบรรยากาศทางการเมืองใหญ่ให้ตอบรับเรื่องนี้ เราจะต้องเสนอโมเดลทางการเมืองเพื่อให้สังคมใหญ่ถกเถียงพูดคุย และผลักให้แนวคิดสันติภาพเข้าไปเป็นข้อเสนอทางการเมืองทั้งในระดับพื้นที่จนถึงระดับการเมืองระหว่างประเทศ

ดร.โนเบิร์ตกล่าวว่า ในการผลักดันข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมจากพื้นที่อาจต้องมีกลุ่มปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันทำงานร่วมกัน ตัวอย่างเช่น อาจเป็นการผลักดันให้มีการยอมรับข้อเสนอ 7 ข้อ ของหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ที่เคยถูกต่อต้านจากรัฐ และกล่าวหาว่าเป็นกบฏในอดีต ทั้งที่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ใช้ความรุนแรง และเป็นข้อเสนอที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ข้อเสนอในทำนองนี้ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการถกเถียงของกลุ่มคนในที่หลากหลายนั่นเอง

“เพราะฉะนั้น ข้อเสนอดังกล่าวต้องเป็นข้อเสนอที่ดี สามารถปฏิบัติได้จริง นำไปสู่สันติภาพ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย”


แผนภาพ : พีระมิดแห่งสันติภาพแสดงพื้นที่ของตัวกลางที่เป็นคนนอก และตัวกลางที่เป็นคนใน



ตัวอย่างความสำเร็จ และล้มเหลวในต่างประเทศ
ในปี ค.ศ.2002-2003 ในประเทศศรีลังกา กลุ่ม LTTE หรือกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม พยายามที่จะสร้างสาธารณรัฐของตนเองขึ้นมา แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ และต้องพ่ายแพ้ไป ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพวกเขาไม่ได้สร้างยุทธศาสตร์ที่ดี ไม่ได้สร้างกลุ่มปัญญาชน หรือกลุ่มคนที่ใช้ความรู้ และประสบการณ์จากต่างประเทศมาร่วมกันสร้างยุทธศาสตร์ที่ดี

“หากย้อนมาดูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เรากำลังสร้างกระบวนการนี้อยู่ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะสร้างกลุ่มปัญญาชน และเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศเพื่อนำมาสร้างเป็นแนวคิดในการแก้ปัญหาของตนเอง ซึ่งยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอในการปกครองตนเอง ที่นำเสนอต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย หรือคนในพื้นที่ที่มีความคิดแบบกลางๆ ไม่ใช่คนที่มีความคิดสุดโต่ง”

เมื่อได้ข้อเสนอแล้ว และให้สาธารณชนรับรู้และนำเสนอต่อผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือผู้นำฝ่ายค้านอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งผู้คนในสถาบันหลักของสังคมไทยให้เขาเห็นว่า ข้อเสนอ หรือความต้องการนี้มาจากเสียงที่อยู่ตรงกลางจริงๆ มีความเป็นเหตุเป็นผล ผ่านกระบวนการศึกษา และปรึกษาหารือมาแล้ว

แม้การทำยุทธศาสตร์ที่ดีดังกล่าวต้องใช้เวลา แต่ก็มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น กลุ่ม ETA ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคว้นบาสก์ของประเทศสเปนได้ดำเนินกระบวนการสร้างยุทธศาสตร์ และนำไปสู่ข้อตกลงกับรัฐบาลกลางของสเปน ในที่สุดได้นำไปสู่การเปลี่ยนแนวคิดจากการแบ่งแยกดินแดนมาสู่การกำหนดเป็นเขตปกครองพิเศษ หรือรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นไปได้

“ในกรณีชายแดนภาคใต้ของไทย ผมเชื่อว่าสถานการณ์จะสงบลงภายใน 2 ปี หากทุกฝ่ายดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ได้วางร่วมกัน” โนเบิร์ตย้ำ

ในอดีต กลุ่มติดอาวุธในแคว้นบาสก์ต้องการที่จะแบ่งแยกดินแดนเหมือนกับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งในการต่อสู้ก็มีการสังหารผู้บริสุทธิ์ด้วย ซึ่งทำให้กระทบต่อความชอบธรรมของพวกเขา ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับขบวนการบีอาร์เอ็น หากว่าขบวนการเคลื่อนไหวยังใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ต่อไป ข้อเรียกร้องของพวกเขาก็อาจจะยากที่จะได้รับการตอบสนอง

วิธีการทางทหาร “ใช้ไม่ได้แล้ว”
ดร.โนเบิร์ตตั้งคำถามว่า จะดีกว่าหรือไม่ หากจะมาร่วมกันสร้างพื้นที่กลางเพื่อเปิดพื้นที่การพูดคุยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายขบวนการ เพราะมีตัวอย่างอยู่ในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นแล้วว่าการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนด้วยการใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้น้อยมาก

เขาชี้ว่า ข้อเสนอและกระบวนการที่ทำขึ้นมาจะได้รับการตอบรับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมิติทางการเมืองด้วย ต้องใช้เวลา และสร้างกระบวนการให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยง หากฝ่ายรัฐบาลยังใช้มาตรการด้านความมั่นคงและการปราบปรามอยู่อย่างเดียว กระบวนการนี้ก็คงจะไม่สำเร็จ หรือหากฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวยังใช้ความรุนแรงอยู่เหมือนเดิม กระบวนการนี้ก็คงไม่สำเร็จอีกเช่นกัน

ดร.โนเบิร์ตชี้ว่า วิธีการทางทหารของทั้ง 2 ฝ่าย มันใช้ไม่ได้แล้ว มันต้องใช้แนวทางการเมืองที่มีอย่างหลากหลายเข้าไปแก้ปัญหา และเพื่อที่จะหยุดช่องทางการใช้ความรุนแรง หน้าที่ของตนคือ เข้าไปทำงานกับ Track 2 และ Track 3 เพื่อสนับสนุน และสร้างบรรยากาศการทำงานใหม่ เพื่อให้การเป็นตัวกลางเกิดขึ้นและผลักดันให้กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงหันมาใช้วิธีการนี้

กระบวนการนี้ได้ถูกนำไปใช้ และประสบความสำเร็จแล้วในบางประเทศ เช่น ในประเทศเนปาลเมื่อปี 2005 ซึ่งใช้กระบวนการสร้างสันติภาพจากคนในที่มีตัวกลางเชื่อมระหว่างรัฐบาลกลาง กลุ่มกษัตริย์นิยม และกลุ่มกบฏลัทธิเหมา นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังประสบความสำเร็จในกรณีความขัดแย้งแอฟริกาใต้เมื่อปี 1990 ส่วนในกรณีการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในหมู่เกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการผลักดันอยู่

ส่วนในระดับโลก ตอนนี้ก็ยังคงมีการดำเนินการกระบวนการสร้างสันติภาพโดยมีคนนอกเป็นหลักอยู่ แต่ในบางทวีปก็มีกระบวนการที่เน้นบทบาทคนในมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังกรณีกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น ลิเบีย เลบานอน เป็นต้น ที่พยายามจะแสวงหาการเชื่อมโยงเครือข่ายประชาสังคมอยู่เช่นกัน

“ความฝันของผมคือ ในอนาคตผมอยากเห็นกระบวนการ Insider Mediator ในภาคใต้ของไทยประสบความสำเร็จ และสามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่มีความขัดแย้งได้ด้วย นอกเหนือไปจากกรณีของเนปาลกับแอฟริกาใต้”

ส่วนการจัดการความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังมีทิศทางสวนทางกับการสร้างความร่วมมือเป็นประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ.2015 นั้น ดร.โนเบิร์ตมองว่า ในปี 2015 จะมีการแข่งขันกันมากขึ้นระหว่างประเทศต่างๆ ในเชิงเศรษฐกิจ คนต่างชาติจะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ในขณะที่คนไทยเองก็จะออกไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะฉะนั้น ปี 2015 จะมีบรรยากาศของการแข่งขัน และทุกประเทศมุ่งที่จะขจัดอุปสรรคในการลงทุน

การที่ต่างชาติจะมาลงทุนในไทยนั้น เขาจะดูเสถียรภาพทางการเมืองว่ามีมากพอหรือไม่ ความขัดแย้งได้รับการจัดการอย่างไรในแต่ละประเทศ ซึ่งวิธีการจัดการความขัดแย้งจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการตัดสินใจของต่างชาติในการเลือกที่จะเข้า หรือไม่เข้ามาลงทุนในประเทศหนึ่งๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น