++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

ปัญหาปากท้อง-ครอบครัวแตก ดันสถิติเด็กชลฯ ท้องก่อนวัยพุ่งติด 1 ใน 3 ของ ปท.




ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชี้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และครอบครัวแตกแยกกำลังเป็นปัจจัยสำคัญจากการขยายตัวของเมือง และภาคอุตสหากรรมในพื้นที่ชลบุรี ที่ทำให้เยาวชนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อขาดความอบอุ่น และการเอาใจใส่จากครอบครัว ทำให้สถิติการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 13-18 ปี พุ่งสูงจนติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ขณะที่การเติบโตของภาคอุตฯ การเข้ามาของแรงงงานต่างด้าวทั้งถูก และผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดปัญหาเด็กเกิดใหม่ไม่มีสถานะทางทะเบียนพุ่ง
     
       นางจันจิรา ไทยบัณฑิตย์ นักสังคมสงเคราะห์ ชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มสวัสดิการสังคมและพิทักษ์คุ้มครองสิทธิ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี เผยถึงปัญหาสังคมซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรีว่า ปัจจุบัน มีความซับซ้อน และยากแก่การแก้ไขมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวต้องออกทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ และการขยายตัวของเมือง และภาคอุตสหากรรม ควบคู่การเป็นเมืองเกษตรกรรม ที่ทำให้มีประชากรแฝง แรงงานต่างถิ่น แรงงานต่างด้าวเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็นจำนวนมาก
     
       “เป็นธรรมชาติของเมืองที่เจริญแล้ว ก็คือ ปัญหาสังคมที่ตามมาจากประชากรแฝง ซึ่งจำนวนประชากรที่ระบุในทะเบียนราษฎรของจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีประมาณ 1.25 ล้านคน แต่จริงๆ แล้วเรากลับพบว่า จำนวนประชากรแฝงก็มีมากเป็นเท่าตัว และจากการเข้ามาของกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย ส่งผลกระทบทั้งเรื่องของการศึกษาเด็กที่เกิดจากกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องให้การช่วยเหลือ รวมทั้งเด็กที่ไม่มีสถานทางทะเบียน ซึ่งในแต่ละปีจังหวัดชลบุรี ต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลให้แก่คนกลุ่มนี้โดยที่ไม่สามารถเบิกจากใครเพราะส่วนหนึ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมาย”
     
       และจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนในปัจจุบันดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ก็ทำให้สถาบันครอบครัวเกิดความอ่อนแอ จากการที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน ผลที่ตามมาคือ สถิติการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของกลุ่มวัยรุ่น และเยาวชนในพื้นที่ที่มีอายุระหว่าง 13-18 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน พุ่งสูงติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งจำนวนเยาวชนตั้งครรภ์เหล่านี้ สำนักงานฯ เก็บสถิติได้จากการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ ไม่นับรวมส่วนที่ไม่เข้ารับการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่บางกลุ่มที่มีการทำแท้ง
     
       “การทำงานแก้ไขปัญหาเยาวชนในปัจจุบัน เป็นการดำเนินการที่ค่อนข้างยาก เพราะเด็กแต่ละคนมีปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากพ่อ-แม่ ที่ไม่มีความพร้อมในการดูแลบุตร หรือแม้แต่พ่อ-แม่ที่มีบุตรในช่วงอายุที่น้อยเกินไป ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้จัดโครงการเพื่อแก้ปัญหาเด็กตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมเหล่านี้ คือ การกำหนดแผนงานดูแล และให้ความรู้แก่กลุ่มคนที่เป็นพ่อ-แม่ เพื่อสร้างความพร้อม และการเป็นพ่อ-แม่ที่มีคุณภาพที่จะสร้างความอบอุ่นในครอบครัวได้ ซึ่งเราก็ได้ขอความร่วมมือไปยังนิคมอุตสหากรรมต่างๆ เพื่อส่งวิทยากรเข้าไปอบรม เพราะเราเชื่อว่า การสร้างพ่อ-แม่ที่ดี และมีความพร้อมจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้”
     
       ส่วนปัญหาของเยาวชนในปัจจุบันนั้น เราได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งทางจังหวัด ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ รวมถึงสถานศึกษาเชิญชวนให้ร่วมกันจัดโครงการค่ายจริยธรรมในโรงเรียน และสถานประกอบการ โดยดึงหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ไปจนถึงกลุ่มคนทำงาน
     
       “เราได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีทั้งจากท่านผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ในการช่วยเหลือเรื่องการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่ แต่ก็ดูเหมือนผลสัมฤทธิ์จะยังไม่เป็นไปตามเป้า ทั้งนี้เป็นเพราะปัญหาสังคมที่เกิดจากการเติบโตของเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้ปัญหาต่างๆ ยากแก่การแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันเรายังพบว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดค่านิยมในกลุ่มคนทำงานโรงงานเรื่องการเปลี่ยนคู่ ส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กถูกทิ้งตามโรงพยาบาล และปัญหาสังคมต่างๆ ที่สำคัญปัจจุบัน เรายังพบปัญหาโสเภณีเด็กซึ่งมีผลมาจากปัญหาความยากจน และการอยู่นอกระบบสถานศึกษาเพิ่มขึ้นด้วย” นางจันจิรากล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น