++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2548

ตำรับเด็ดแก้โรคผิวหนัง

โดย พัชรา อร่ามศรี
26 พฤษภาคม 2547 20:43 น.
เมื่อพูดถึงโรคผิวหนัง หลายคนที่เคยเป็นคงรู้ดีว่าโรคนี้สร้างความทรมานแค่ไหน และถ้าปล่อยให้ถึงขั้นเรื้อรังละก็ นอกจากจะทรมานแล้วยังน่ารำคาญอีกด้วย

ประเภทของโรคผิวหนังที่คนกลัวกันมากๆ เห็นจะเป็น “งูสวัด” ที่เกิดจากเชื้อ ไวรัสชนิดหนึ่ง คนเป็นโรคนี้จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และปวดกระดูก สร้างความทรมานแก่ร่างกายอย่างยิ่ง

“โรคเรื้อน” ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ประเภทไมโครแบคทีเรีย หรือเชื้อแบคทีเรียที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งมักจะเกิดกับคนที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน โรคนี้นอกจากจะสร้างความทรมานแล้ว ยังทำให้คนไม่กล้าเข้าใกล้ด้วย

ส่วนโรค “สะเก็ดเงิน” หรือที่เรียกว่า “โรคเรื้อนกวาง” ที่เกิดจากการหนาตัวขึ้นของชั้นหนังกำพร้า เพราะเซลล์ผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ โดยการเคลื่อนตัวจากชั้นหนังแท้ใต้ผิวหนังมาที่ผิวภายนอกจะใช้เวลาเพียง 4 วัน ทั้งที่โดยปกติแล้วจะใช้เวลา 24-26 วัน ทำให้ผิวหนังเกิดการหนาตัวเป็นปื้น เซลล์ผิวหนังขาดแรงยึดเหนี่ยว และทำให้สารเคราติน (keratin) ชั้นบนสุดของผิว หลุดลอกเป็นแผ่นได้ง่าย

ปัจจุบันมีคนเป็นโรคสะเก็ดเงินกันมาก บางคนรักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย คอลัมน์นี้จึงได้นำตำรับยาไทยที่ใช้มาแต่โบราณเพื่อรักษาโรคผิวหนัง ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย มาบอกเล่าให้ฟังกัน อาจมีลองนำไปใช้ดูก็ได้ ตามตำราแพทย์แผนไทยนั้น โรคต่างๆ จะได้รับการตั้งชื่อตามอายตนะทั้ง 5 ได้แก่ จักษุ โสรตะ ฆานะ ชิวหา และกายะ โรคผิวหนังจัดอยู่ในกลุ่มกายะนี่เอง

โรคในกลุ่มกายะนี้ยังแตกออกเป็น โรคอันเกิดกับร่างกายภายใน อวัยวะภายใน รวมทั้งกล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นเอ็น ที่เรียกว่า อันตะโรโค และโรคอันเกิดกับร่างกายภายนอก ได้แก่ ผิวหนัง กลาก เกลื้อน เป็นเม็ด เป็นตุ่ม เป็นขุย ฯลฯ ที่เรียกว่า “พหิทธะโรโค” โรค อันเกิดกับกายะภายนอกนี้ การแพทย์แผนไทยได้บอกตำรับตำรายาที่ใช้รักษาไว้ ยานี้ถือเป็นยาตำรับที่ต้องใช้เป็นชุด ไม่อาจใช้เป็นยาเดี่ยวตัวใดตัวหนึ่งได้ มีส่วนผสมดังนี้

ลูกกระเบา ตำให้ละเอียดแล้วมาคั้นน้ำ 1 ทะนาน (1 เลิตร)
กำมะถันเหลือง 11 บาท
น้ำมันงาดิบ (งาเชย) 1 ทะนาน
ลูกกระเบียน 4 บาท
ลูกลำโพงแดง 10 บาท
ขอบชะนาง แดง-ขาว 10 บาท
บวบขม 10 บาท
ใบรักขาว 10 บาท
ใบกรวยป่า 10 บาท

ให้นำตำรับยานี้มาหุงน้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าว โดยการนำน้ำมันประมาณ 1 ลิตร มาตั้งไฟแล้วเทยาตำรับนี้ลงไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 4-5 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาและน้ำมันผสมกันจนเข้าที่ จากนั้นให้นำน้ำมันที่ได้มาเก็บไว้ใช้ทาบริเวณแผลให้ทั่ว ใช้วันละ 2 ครั้ง ส่วนกากยาก็ยังนำมาใช้ได้อีก โดยนำมาบดให้ละเอียดแล้วปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเม็ดพุทรา ใช้กินวันละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีตำรับยาอีก 1 ตำรับ สำหรับรักษาโรคหนังพิการมาฝากกัน ยาตำรับนี้มีส่วนผสมคือ แป้งข้าวหมาก, เปลือกเฉียงพร้านางแอ, หอยสังข์ (หากไม่มีให้ใช้เปลือกหอยแครง), โกฐสอ, โกศหัวช้าง, ดอกพิกุล, ดอกบุนนาค, ดอกสารภี, เกสรบัวหลวง

ให้นำสิ่งละ 1 บาทเท่าๆ กันมาบดเป็นผง จากนั้นให้ปั้นเป็นแท่งไว้ เมื่อจะใช้ก็ให้ละลายน้ำดอกไม้ อาจเป็นน้ำดอกกุหลาบ น้ำดอกอัญชัน นำมาชโลมให้ทั่วแผล ส่วนตำรับยาที่ใช้รับประทานเพื่อรักษาโรคหนังพิการก็คือ ขิงแห้ง, รากมะแว้งทั้ง 2, กระดอมทั้ง 5, รากขี้กาแดง, สมอเทศ, สมอพิเภก, สมอไทย, มะขามป้อม, แห้วหมู, บอระเพ็ด, หญ้าตีนนก, โกฐสอง, โกฐก้านพร้าว, จันทน์ทั้ง 2

ให้นำสิ่งเหล่านี้ในอัตราส่วนเท่าๆ กันมาใส่น้ำแล้วต้ม จาก 3 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน สมมติว่าเราใช้น้ำ 1 ลิตรครึ่งมาต้มตัวยา เมื่อต้มแล้วให้เหลือน้ำครึ่งลิตร นำมาผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยแล้วรับประทาน ตำรับนี้ครูบาอาจารย์บอกไว้ว่าจะช่วยให้โรคผิวหนังหายได้ บรรดาส่วนผสมที่บอกมาข้างต้นนี้ หลายคนฟังแล้วอาจตกใจว่าแล้วจะไปหาได้ที่ไหม คนที่อยู่ในวงการสมุนไพร คงไม่ลำบากนักที่จะหาวัตถุดิบเหล่านี้มากจากแหล่งต่างๆ

ส่วนคนที่ไม่รู้แหล่งก็ไม่ต้องตกใจ ให้นำชื่อสมุนไพรที่บอกพร้อมด้วยน้ำหนักของแต่ละสิ่ง ไปที่ร้านยาไทย ที่รู้จักกันดีก็ร้าน “เจ้ากรมเป๋อ” เชิงสะพานพระปกเกล้าฯ เขาจะเจียดยาตามตำรับมาให้เสร็จสรรพ แล้วก็นำมาเคี่ยว มาต้ม มาปั้น เป็นลูกกลอน ตามที่บอกไว้ข้างต้น เพียงเท่านี้ โรคผิวหนังที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ อาจจะกลายเป็นเรื่องเล็กได้ไม่ยาก !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น