++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

อุบาย“หักอาลัย”ในเนื้อคู่ของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ












เคยมีคำทำนายเกี่ยวกับเนื้อคู่ของหลวงปู่แหวน เมื่อสมัยที่เรียนมูลกัจจายน์ที่จังหวัดอุบลราชธานี
ได้มีหมอดูทำนายว่าเนื้อคู่ของท่าน
จะมีรูปร่างสันทัด ผิวเนื้อขาวเหลือง ใบหน้ารูปใบโพธิ์ แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจอะไร
ด้วยชีวิตนี้ท่านได้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อพระศาสนาแล้ว
จึงขอกล่าวถึงข้อความตอนหนึ่งในหนังสืออนุสรณ์หลวงปู่แหวน
เกี่ยวกับในช่วงที่จิตของท่านนึกเห็นแต่หน้าของหญิงนางนั้น
ที่สุดท่านก็ได้บังคับจิตของท่านให้หลุดออกจากห้วงนั้น
โดยใช้อุบายธรรมพิจารณาเหตุผลในทีละอย่าง
จนท่านก็ประสบความสำเร็จ เนื้อความในหนังสือที่ยกมากล่าวอ้างนี้ความว่า

วันหนึ่ง หลวงปู่แหวนได้มาพักบำเพ็ญอยู่ที่บ้านนาสอง เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่พอสมควร
พวกชาวบ้านถิ่นนั้นมีแปลกอยู่อย่างคือ
เวลาเห็นพระไปบิณฑบาต พวกเขาจะป่าวร้องกันมาใส่บาตรว่า

“มาเน้อมาใส่บาตร ญาธรรมมาแล้ว
หาน้ำอ้อยน้ำตาลมาใส่บาตร ญาธรรมมาแล้ว ท่านชอบของหวาน”

เมื่อได้ยินคนร้องประกาศเช่นนั้น ต่างก็เอาของมาใส่บาตรจนเต็ม
พวกนี้เหมือนกับพวกไทยใหญ่ ไทยใหญ่ถ้าเห็นพระไปบิณฑบาต
เขาจะใส่บาตรด้วยน้ำอ้อยน้ำตาลกับข้าวเช่นกัน พวกเขาถือว่าเจ้บุ๊นไม่กินเนื้อสัตว์
กินแต่ของหวาน แต่อย่างไรก็ตาม การฉันข้าวกับน้ำอ้อยน้ำตาลนั้นวันสองวันแรกก็ฉันได้ ดี แต่วันที่สามที่สี่รู้สึกเบื่อ

วันหนึ่งใกล้ค่ำได้ไปสรงน้ำที่แม่น้ำงึม มีหญิงสองคนแม่ลูกถ่อเรือมาตามลำน้ำงึม
ถึงที่พระกำลังสรงน้ำอยู่ ก็ชำเลืองตามาทางพระหนุ่ม
เมื่อสายตาของทั้งฝ่ายประสานกันเข้า ก็มีอานุภาพลึกลับและรุนแรงพอที่จะตรึงคนทั้งสองฝ่าย ให้ตะลึงไปได้
ระหว่างทางที่เดินกลับที่พักในใจยังคิดถึงหญิงงามนั้นอยู่
เมื่อมาถึงที่พัก
จึงกลับได้สติหวนระลึกถึงคำนายของหมอดูเมื่อครั้งเรียนมูลกัจจายน์อยู่เมืองอุบล ที่ทำนายว่า

“เนื้อคู่ของท่านอยู่ทางทิศนี้ รูปร่างสันทัด ผิวเนื้อขาวเหลือง ใบหน้าเหมือนใบโพธิ์”

หญิงที่เราพบเห็นเมื่อตอนเย็นก็มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับคำทำนายของหมอดู เห็นจะเป็นหญิงคนนี้แน่
เพราะเมื่อเราเห็นเป็นครั้งแรกก็ทำให้เรามีจิตแปรปรวนแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางกลับไทย
เมื่อข้ามมายังฝั่งไทยได้ขึ้นไปทางอำเภอศรีเชียงใหม่
ไปพักอบรมตนอยู่ที่พระบาทเนินกุ่มใหม่ ไปพักอยู่ที่พระบาทเนินกุ่มหมากเป้ง
ณ ที่นั้นได้พบกับหลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต ซึ่งท่านได้ปลีกตัวออกจากหมู่คณะ
มาภาวนาอยู่บริเวณนั้น เมื่อได้พบกับอาจารย์อีก จึงดีใจมาก

การพักอบรมตนอยู่กับหลวงปู่มั่น ก่อนเข้าพรรษาทำให้จิตสงบลง ไม่ฟุ้งซ่านเหมือนก่อน
แต่ภาพของหญิงงามนั้นยังปรากฏขึ้นเป็นครั้งคราว แต่เมื่อเร่งภาวนาเข้าภาพนั้นก็สงบลง
หลังจากเข้าพรรษาแล้ว ตั้งใจปรารถความเพียรอย่างเต็มที่
การเร่งความเพียรในระยะแรก จิตที่ยังไม่มีอะไรมาวุ่นวายคงสงบตัวได้ง่าย
มีอุบายทางปัญญาพอสมควรเมื่อเร่งความเพียรหนักเข้าเอาจริงเอาจังเข้า กิเลส ก็เอาจริงเอาจังกับเราเหมือนกัน
คือแทนที่จิตจะดำเนินไปตามที่เราต้องการ กลับพลิกไปหานางงามที่บ้านนาสอง ฝั่งแม่น้ำงึมนั้นอีก





ทีแรกได้พยายามปราบด้วยอุบายต่างๆ แต่ไม่สำเร็จ ยิ่งเร่งความเพียรดูเหมือนเอาเชื้อไปใส่ไฟ
ยิ่งกำเริบหนักเข้าไปอีก
เผลอไม่ได้เป็นต้องหาหญิงนั้นทันที บางครั้งมันหนีออกไปซึ่งๆ หน้า
คือขณะที่คิดอุบายการพิจารณาอยู่นั่นเอง มันก็วิ่งไปหาหญิงนั้นเอาซึ่งๆ หน้ากันทีเดียว

อุบายการปฏิบัติวิชาต่างๆ ที่นำมาใช้ในการทรมานจิตในครั้งนั้น เช่น
เว้นการนอนเสีย มีเฉพาะเวลานั่ง ยืน เดิน ทำอยู่เช่นนั้นหลายวันหลายคืน
คอยจับดูจิตว่ามันคลายความรักในหญิงนั้นแล้วหรือยัง ปรากฏว่าไม่ได้ผล
จิตยังคงวิ่งออกไปหาหญิงงามอยู่เช่นเคย เผลอสติไม่ได้
ต่อมาเพิ่มไม่นั่งไม่นอน มีแต่ยืนกับเดิน
ทำความเพียรอยู่อย่างนี้จิตมันก็ไม่ยอม มันคงไปตามเรื่องตามราวของมันเช่นเคย

คราวนี้เปลี่ยนวิธีใหม่เปลี่ยนเป็นอดอาหาร ไม่ฉันอาหารเลยเว้นไว้แต่น้ำ อุบายการพิจารณาก็เปลี่ยนใหม่
คราวนี้เพ่งเอากายของหญิงนั้น
เป็นเป้าหมายในการพิจารณาหายคลายสติ
โดยแยกยกพิจารณาทีละอย่างในอาการ ๓๒ ขึ้นโดยอนุโลมปฏิโลม พิจารณาเทียบเข้ามาหากายของตน
พิจารณาให้เห็นถึงความเป็นจริงว่าอวัยวะอย่างนั้นๆ ของตนก็มี ของหญิงก็มี
ทำไมจะต้องไปรักไปหลง ไปคิดถึง เพ่งพิจารณาทีละส่วนๆ
พิจารณาอยู่อย่างนั้นทั้งกลางวันกลางคืนทุกอริยาบท
การพิจารณาจนละเอียดอย่างไรขึ้นอยู่กับอุบายความแยบคายของปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

ตอนหนึ่งพิจารณามาถึงหนังได้ความว่า คนเราหลงอยู่ที่หนัง หนังเป็นเครื่องปกปิดสิ่งที่ไม่น่าดูไว้
ถ้าถลกหนังออก อวัยวะทุกส่วนก็หาส่วนที่น่าดูไม่ได้เลย เพ่งพินิจอยู่จนเห็นความเปื่อยเน่าผุพังสลายไป
ไม่มีส่วนไหนที่จะถือว่าเป็นของมั่นคง ในขณะนั้นจิตซึ่งเคยโลดโผน โลดแล่นไปอย่างไม่มีจุดหมายมาก่อน

พลันก็ยอมรับตามความจริง ตามเหตุผลของปัญญา
ยอมตัวอย่างนักโทษผู้สำนึกผิด ยอมสารภาพถึงการทำตนแต่โดยดี






ฉะนั้น นับแต่วินาทีการพิจารณาได้ยุติลง จิตยอมรับเหตุผลของปัญญาแล้ว
เพื่อเป็นการทดสอบว่า “จิตยอมแล้ว” จึงได้ส่งจิตออกไปหาหญิงนั้นหลายครั้ง
จิตคงสงบตัวไม่ยอมออกไป ความกำเริบความทรนงตัว ความโลดโผนของจิต
จึงถึงความสงบลงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ไม่กำเริบอีกต่อไป
จิตคงทรงเห็นตามสภาพความเป็นจริงของธรรมอยู่ทุกเมื่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น