++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเด็นที่สังคมไทยควรเรียนรู้ คือ การไม่เตรียมพร้อมให้เพียงพอ และจุดอ่อนของระบบรองรับอุบัติภัย

ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่อยู่ที่ สังคมไทยไม่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวและสึนามิมากเหมือนประเทศญี่ปุ่น ประเด็นที่สังคมไทยควรเรียนรู้ คือ การไม่เตรียมพร้อมให้เพียงพอ และจุดอ่อนของระบบรองรับอุบัติภัย และที่สำคัญคือวิธีคิดและวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย (Safety culture) แต่ต้องไปให้ถึงวัฒนธรรมแห่งธรรมาภิบาล (governance culture)

คำถามคือ สังคมไทยจะใช้กลไก กระบวนการ รวมทั้งกฎหมายใด เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่สำคัญเหล่านี้ ให้มีความพร้อมในการรับมือกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ด้วย
ศุภกิจ นันทวรการ นักวิจัยพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
-----------
มองนิวเคลียร์ญี่ปุ่น: บทเรียน “การเชื่อฟังแบบอัตโนมัติ” ตัวการ “ฟุกุชิมะ”

เปิดรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ดูบทเรียนที่นอกจากความน่ากลัวของกัมมันตรังสี และคำพูดที่ว่า “ขนาดญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าก็ยังเจอวิกฤติ” สังคมไทยได้เรียนรู้อะไร

จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 แผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ได้เขย่าผืนแผ่นดินชายฝั่งภาคตะวันออกของเกาะญี่ปุ่น จนทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 11 เครื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่งหยุดเดินเครื่องโดยอัตโนมัติ แต่ไม่ถึง 1 ชั่วโมงต่อมา คลื่นยักษ์สึนามิสูง 14 เมตรก็โถมเข้าสู่ชายฝั่ง สร้างความเสียหายต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ จนระบบป้องกันภัยเกิดการขัดข้อง นำไปสู่การระเบิดของอาคารเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีสู่บรรยากาศจนสร้างความแตกตื่นไปทั่วโลก

ศุภกิจ นันทวรการ นักวิจัยพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้หยิบยกเหตุการณ์เกี่ยวกับนิวเคลียร์ญี่ปุ่นดังกล่าว มานำเสนอถึงการผูกขาดความรู้ด้านพลังงาน กับ “กรณีความ (ไม่) ปลอดภัยของนิวเคลียร์ญี่ปุ่น” จากรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ของรัฐสภาญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 ก.ค.55 ในเวทีสนทนาสาธารณะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรม “แก๊สกับน้ำมัน: ทำไมถึงแพง” ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก จุฬา เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

นักวิชาการจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระซึ่งจัดตั้งโดยรัฐสภา เป็นชุดแรกในประวัติศาสตร์รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ the Act Regarding the Fukushima Nuclear Accident Independent Investigation Commission มีองค์ประกอบของคณะกรรมการ ทั้งอดีตประธานสภาวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว รังสี นักกฎหมาย อัยการ หมอ การต่างประเทศ หอการค้าและอุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมทั้งสื่อมวลชนด้านวิทยาศาสตร์

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ถึงแม้แผ่นดินไหวและสึนามิจะเป็นภัยธรรมชาติ แต่อุบัติภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เป็นอุบัติภัยที่เกิดจากคน ซึ่งสามารถและควรจะคาดการณ์และป้องกันได้ รวมทั้งลดผลกระทบได้ด้วยระบบรับมืออุบัติภัยที่ดีกว่านี้

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ สาเหตุที่เป็นรากฐานของอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ อยู่ที่วิธีคิดที่ฝังอยู่ในขนบธรรมเนียมของวัฒนธรรมของญี่ปุ่น อันได้แก่ การเชื่อฟังแบบอัตโนมัติ การลังเลที่จะตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ การอุทิศทุ่มเทเพื่อ ‘ยึดติดกับโปรแกรม’ ความเป็นกลุ่มเดียวกัน และการทำอะไรอย่างโดดเดี่ยว หากไม่แก้ไขรากของปัญหาเหล่านี้ การป้องกันอุบัติภัยในลักษณะเดียวกันนี้จะไม่มีทางสมบูรณ์ได้ รายงานระบุชัด

ศุภกิจ กล่าวต่อมาว่า ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่อยู่ที่ สังคมไทยไม่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวและสึนามิมากเหมือนประเทศญี่ปุ่น ประเด็นที่สังคมไทยควรเรียนรู้ คือ การไม่เตรียมพร้อมให้เพียงพอ และจุดอ่อนของระบบรองรับอุบัติภัย และที่สำคัญคือวิธีคิดและวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย (Safety culture) แต่ต้องไปให้ถึงวัฒนธรรมแห่งธรรมาภิบาล (governance culture)

คำถามคือ สังคมไทยจะใช้กลไก กระบวนการ รวมทั้งกฎหมายใด เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่สำคัญเหล่านี้ ให้มีความพร้อมในการรับมือกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ด้วย

ในแง่ความรู้ รายงานนี้สรุป ถึงความ (ไม่) ปลอดภัยของนิวเคลียร์ญี่ปุ่นว่า มาตรการความปลอดภัยพื้นฐาน ซึ่งควรจะมี กลับไม่มีการพัฒนาขึ้นมาให้ถูกต้อง กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ กลับไม่มีกลไกในการบังคับให้นำเทคโนโลยีล่าสุดในระดับโลก รวมทั้งระบบรองรับอุบัติภัยและมาตรการความปลอดภัยในระดับมาตรฐานนานาชาติมาใช้ ดังนั้นจึงเป็นผลให้ความเสี่ยงที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ กลับไม่มีการดำเนินการป้องกัน

“เดิมเราไม่เข้าใจนิวเคลียร์ เรื่องญี่ปุ่นแบบนี้ เราเข้าใจว่าญี่ปุ่นคือสุดยอดระดับโลกแล้วเรื่องนิวเคลียร์ แล้วเราก็เชื่อกันแบบนั้น แต่ว่ารายงานชิ้นนี้สรุปขอมูลออกมาที่ไม่เป็นไปตามนั้น แล้วในสังคมเรา ในสื่อมวลชนเรากลับไม่มีเรื่องนี้ออกมามากนัก” นักวิจัยพลังงานกล่าว และว่าเราควรช่วยกันเรียนรู้เรื่องนี้

รายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ รัฐสภา

3 กรกฎาคม 2555 www.naiic.jp/en

ข้อสรุป (Conclusions) ของรายงานการสืบสวน
• ภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์
• ผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ไม่เฉพาะจากสึนามิเท่านั้น)
• ปัญหาในการดำเนินงาน
• ปัญหาของระบบตอบสนองภาวะฉุกเฉิน
• ปัญหาของระบบการอพยพ
• ประเด็นต่อเนื่องด้านสาธารณสุขและสวัสดิภาพของประชาชน
• ความจำเป็นในการปฏิรูปหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ
• แนวทางแบบ ‘ผิวเผิน’ จะไม่ช่วยแก้ปัญหาได้

ข้อเสนอแนะของรายงานการสืบสวน
1 การติดตามตรวจสอบองค์กรกำกับดูแลนิวเคลียร์โดยรัฐสภา
ปฏิรูประบบจัดการภัยพิบัติ
2 ความรับผิดชอบของรัฐบาลในด้านสาธารณสุขและสวัสดิภาพของประชาชน
3 การติดตามตรวจสอบผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
4 หลักเกณฑ์สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลใหม่
5 ปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์
6 พัฒนาระบบคณะกรรมการสืบสวนที่เป็นอิสระ

แนวทางในการศึกษาและสืบสวนอย่างอิสระ
• ดำเนินการสืบสวน โดยไม่มีอคติสนับสนุนหรือต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
• รักษากระบวนการสืบสวนให้ปลอดจากอิทธิพลภายนอก
• ผลจากการสืบสวน ควรให้ข้อเสนอแนะที่มุ่งประโยชน์ต่ออนาคตของชาติ
• ควรมุ่งเน้นมุมมองระดับโลก เพื่อให้ผลการศึกษาช่วยป้องกันอุบัติเหตุนิวเคลียร์ในประเทศอื่นๆ ได้ด้วย

ความโปร่งใสของกระบวนการสืบสวน
ระยะเวลาการทำงาน 6 เดือน
• รับฟังความคิดเห็นรวม 900 ชั่วโมงและสัมภาษณ์ 1,167 คน
• ลงพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างๆ 9 ครั้ง
• การประชุมทั้ง 19 ครั้งของคณะกรรมการ เปิดให้สาธารณะเข้าสังเกตการณ์ได้ และถ่ายทอดสดทาง internet ทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ โดยมีผู้รับชมรวมทั้งหมด 800,000 คน
• ใช้ social media และได้รับข้อคิดเห็นรวม 170,000 comments
ระยะเวลาการทำงาน 6 เดือน
• สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบ มีการจัดประชุมใน 3 เมือง และลงพื้นที่ 12 เทศบาล จัดทำแบบสำรวจประชาชน 10,633 คน และคนงานในพื้นที่โรงไฟฟ้าอีกประมาณ 500 คน
• มี 3 ทีมไปศึกษาเรียนรู้ในต่างประเทศ รวมทั้งสัมภาษณ์และรับฟังผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส
ที่มา www.prachatai.com/journal/2012/08/42342

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น