++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

นักวิชาการแนะแนวทางแก้ไขการทิ้งกากอุตฯ-น้ำเสียในที่สาธารณะ



ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการ แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการทิ้งกากอุตสาหกรรม และน้ำเสียในที่สาธารณะ

จากกรณีที่นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกคำสั่งย้ายนายสุรพล สุทธจินดา อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เข้าไปช่วยราชการในกระทรวงแล้วตั้งแต่เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 31 สิงหาคม 2555 เนื่องจากเหตุการณ์การลักลอบนำขยะเคมีอุตสาหกรรม และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาทิ้งในพื้นที่ ต.หนองแหน และเกาะขนุน บริเวณลานด้านหน้า สภ.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ ตามมาค่อนข้างมาก เพราะการลักลอบนำของเสีย และน้ำเสียมาทิ้งในที่ดินสาธารณะนั้นจะต้องมีผู้มีส่วนรับผิดชอบมากมาย และกรณีเช่นนี้มีเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี สระแก้ว เป็นต้น แต่กรณีที่จังหวัดฉะเชิงเทรากลายเป็นกรณีแรกที่มีการย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดออกจากพื้นที่

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เผยเกี่ยวกับเรื่องว่า แนวทางการแก้ไขการทิ้งกากอุตสาหกรรมและน้ำเสียในที่สาธารณะดังนี้ 1.ในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำขยะเคมีอุตสาหกรรม และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาทิ้งในพื้นที่สาธารณะนั้นการบังคับใช้กฎหมายต้องมีผู้ร่วมรับผิดชอบหลายหน่วยงาน เช่น เจ้าของที่ดินที่ถูกลักลอบทิ้งขยะ หรือน้ำเสีย องค์การบริหารส่วนตำบล

เนื่องจากดูแลพื้นที่ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข 2535 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ดูแลพื้นที่ตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 และอุตสาหกรรมจังหวัดตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 การลงโทษอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และเป็นเรื่องที่ปลายเหตุ เนื่องจากทราบอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมจังหวัดมีเจ้าหน้าที่ 7-8 คนคงดูแลพื้นที่ และโรงงานได้ไม่หมด ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวนมาก จึงคิดว่าการไขปัญหาในอนาคตคงต้องเน้นที่องค์การบริหารตำบล หรือท้องถิ่นที่ต้องใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุขตรวจสอบพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการนำของเสียมาทิ้งหากพบว่ามีขยะพิษ หรือน้ำเสียมาทิ้งที่สาธารณะต้องมีส่วนรับผิดชอบตามกฎหมายด้วย นอกจากนี้ ต้องให้เจ้าของที่ดินดูแลที่ดินของตนเองให้ดี หากมีขยะพิษ หรือน้ำเสียมาทิ้งในที่ดินของตนจะต้องมีส่วนรับผิดชอบดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

2.อุตสาหกรรมจังหวัดต้องเข้มงวดกับโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะโรงงานประเภท 101 (รับกำจัดของเสียอันตราย) โรงงานประเภท 105 (เป็นการคัดแยกขยะและฝังกลบสิ่งปฏิล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว) และ 106 (เป็นการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานประเภทสารละลาย หรือเคมีภัณฑ์มาผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่จัดเป็นขยะอันตราย) โดยต้องกำกับติดตามตรวจสอบการดำเนินการพร้อมทั้งให้รายงานปริมาณ และคุณภาพของเสียที่เข้ามาในโรงงาน และการกำจัดตามแบบฟอร์มอย่างเคร่งครัด การออกใบอนุญาตโรงงานประเภทนี้ต้องพิจารณาเป็นพิเศษควรให้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อให้มีมาตรการป้องกัน และแก้ไขมาจากผลการศึกษาเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต

3.รถบรรทุกกากของเสีย หรือน้ำเสียอันตรายต้องถูกติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) เพื่อควบคุมและตรวจสอบไม่ให้ไปทิ้งกลางทาง จะต้องเคร่งครัดเรื่องใบกำกับการขนส่งกากของเสียอันตรายเริ่มตั้งแต่การกำกับดูแลของเสียที่ขนออกมาจากโรงงานจนกระทั่งส่งต่อให้โรงงานที่รับบำบัดของเสีย ด้วยการตรวจสอบดูปริมาณซึ่งต้องเท่ากัน ควรมีหน่วยงานที่ดูแลเป็นพิเศษ

4.ต้องเข้มงวดในการใช้กฎกระทรวงตามบทบัญญัติในมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบการเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2555 โดยผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต้องจัดเก็บสถิติ และข้อมูลซึ่งแสดงผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละวัน รวบรวมทุกวันส่งให้พนักงานท้องถิ่นทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน หากไม่ดำเนินการมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ซึ่งพนักงานท้องถิ่นจะต้องรวบรวมข้อมูลส่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ในฐานะพนักงานควบคุมมลพิษโดย ทสจ.จะต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป ดังนั้น หน่วยงานท้องถิ่นและ ทสจ.จะมีข้อมูลการบำบัดน้ำเสียของทุกโรงงานในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบทั้งหมด หากเกิดเหตุกรณีเช่นนี้อีกจะทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลการทำงานของโรงงานได้โดยเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น