++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

จากพระไตรปิฏก ในพระสุตตันตปิฏก เรื่อง นิททสวัตถุ สูตรที่ ๑ (ปฐมนิททสสูตร)

จากพระไตรปิฏก ในพระสุตตันตปิฏก



เรื่อง นิททสวัตถุ สูตรที่ ๑
(ปฐมนิททสสูตร)


ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตราวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "การเที่ยวบิณฑบาต ในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดีเราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก" ครั้งแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร


สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า "นิททสภิกษุ"

ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า "เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค" ท่านพระสารีบุตรครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "การเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก" ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า "นิททสภิกษุ" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า "เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจหรือหนอที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่งเดียว"


พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สารีบุตร ไม่อาจเลยที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ ในธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศไว้
นิททสวัตถุ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานสิกขา และได้ความรักในการสมาทานสิกขาต่อไป

๒. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการใคร่ครวญธรรม และได้ความรักในการใคร่ครวญธรรมต่อไป

๓. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการกำจัดความอยาก และได้รับความรักในการกำจัดความอยากต่อไป

๔. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการหลีกเร้น และได้ความรักในการหลีกเร้นต่อไป

๕. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการปรารภความเพียร และได้ความรักในการปรารภความเพียรต่อไป

๖. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน และได้ความรักในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนต่อไป

๗. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการแทงตลอดด้วยทิฎฐิ และได้ความรักในการแทงตลอดด้วยทิฎฐิต่อไป

สารีบุตร นิททสวัตถุ ๗ "


เรื่อง นิททสวัตถุ สูตรที่ ๒
(ทุติยนิททสสูตร)

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงสัมพี ครั้งนั้นแลเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตราวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "การเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพียังเช้านักทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก" ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร


สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า "นิททสภิกษุ"

ท่านพระอานนท์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า "เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค" ท่านพระอานนท์ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตราวาสก ถึอบาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "การเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก" ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถียร์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า "นิททสภิกษุ"

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า "เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจหรือหนอที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว"

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ ไม่อาจเลยที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ ในธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศไว้
นิททสวัตถุ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา

๒. เป็นผู้มีหิริ

๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ

๔. เป็นพหูสูต

๕. เป็นผู้ปรารภควรเพียร

๖. เป็นผู้มีสติ

๗. เป็นผู้มีปัญญา

อานนท์ นิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศไว้

ภิกษุประกอบด้วยนิททสวัตถุ ๗ ประการนี้แล
หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า "นิททสภิกษุ"
หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า "นิททสภิกษุ"
หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๓๖ ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า "นิททสภิกษุ"
หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๔๘ ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า "นิททสภิกษุ"
ที่มา: หนังสือธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๓๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น