++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

“วิถี สุพิทักษ์” ประธานสโมส ตรัง เอฟซี ต้นแบบสร้างฟุตบอลปลอดการเมือง



กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ คณะผู้บริหารของสโมสรฟุตบอล ตรัง เอฟซี หรือ “พะยูนพิฆาต” ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการมาต่อเนื่องถึง 3 ปี จนกระทั่งถึงวันที่ฝันเป็นจริง เมื่อสามารถขึ้นชั้นดิวิชัน 1 เพื่อไปแข่งขันในรอบแชมเปียนส์ลีกได้สำเร็จในฤดูกาล 2012 นี้ ภายใต้การนำพาทีมของแม่ทัพที่ชื่อว่า “วิถี สุพิทักษ์”

แม้เขาจะถือเป็นหน้าใหม่สำหรับวงการกีฬาในจังหวัดตรัง เพราะแท้จริงแล้วด้วยประสบการณ์ชีวิตในช่วงประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา จะมุ่งเน้นไปเรื่องการทำงานด้านธุรกิจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ทั้งน้ำยาง ยางแผ่น และไม้ยาง จนถือได้ว่ามีความโชกโชนคนหนึ่งของจังหวัดตรัง





เพราะนอกจากจะนั่งเก้าอี้เป็นประธานบริหาร กลุ่มบริษัทวู้ดเวอร์ค และบริษัท ตรังลาเท็กซ์ จำกัด แล้ว เขายังดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรังด้วย ซึ่งจากความพร้อมทางด้านฐานะ ประกอบกับความนิยมชมชอบเรื่องฟุตบอลจึงถูกชักชวนให้มาร่วมงานกับสโมสร ตรัง เอฟซี เมื่อปี 2552

ทั้งนี้ เกิดขึ้นจากสุดยอดดาราตลกชาวตรังแห่งยุค “ธัญญา โพธิ์วิจิตร” หรือ “เป็ด เชิญยิ้ม” ได้ชักชวนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจรักกีฬาฟุตบอล และต้องการให้จังหวัดตรังโด่งดังจากกีฬาชนิดนี้อีกครั้ง เหมือนกับเมื่อ 32 ปีที่แล้ว สมัยที่ไปคว้าแชมป์กีฬาเขต ครั้งที่ 13 ที่จังหวัดลำปาง หรือกีฬาแห่งชาติ ในปัจจุบัน

นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งสโมสรฟุตบอล เพื่อส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ หรือดิวิชัน 2 ภูมิภาค โดยแรกๆ “วิถี สุพิทักษ์” ถูกชักชวนให้มานั่งเป็นรองประธานสโมสร และแม้ว่าผลงานในฤดูกาล 2010 จะทำให้ ตรัง เอฟซี ได้เป็นรองจ่าฝูงภาคใต้ แต่ก็ไม่สามารถก้าวไปแข่งขันในรอบแชมเปียนส์ลีก








ถ่ายคู่กับนายระลึก หลีกภัย






กุนซือพะยูนพิฆาตลงสนามให้คำแนะนำและกำลังใจแก่ทีม



สถานการณ์มาทรุดลงเมื่อ “เป็ด เชิญยิ้ม” ขอถอนตัวจากสโมสร และทำให้ “วิถี สุพิทักษ์” จำต้องก้าวขึ้นมาเป็นประธานสโมสรคนที่ 2 แบบขัดตาทัพ กระทั่งท้ายสุดในฤดูกาล 2011 ก็ร่วงไปอยู่อันดับที่ 12 ของโซนภาคใต้ แต่เขากลับไม่ยอมท้อถอย และขอโอกาสจากคณะผู้บริหาร รวมทั้งเที่ยวล่าสุดนี้ นอกจากได้พลังทีมงานหลักๆ อย่าง “ถวัลย์ พรหมมา” รองประธานสโมสร และ “โกเหลือ” หรือ “พิทักษ์พงษ์ ชัยคช” ผู้จัดการสโมสรแล้ว ยังเป็นช่วงจังหวะที่ “โค้ชปอนด์” หรือ “สฤษดิ์ วุฒิช่วย” ซึ่งเคยทำทีมเชียงใหม่ เอฟซี และเชียงราย ยูไนเต็ด โด่งดังมาแล้ว อาสาลงใต้รับหน้าที่กุนซือให้ ตรัง เอฟซี

และไม่ผิดคาด ทันทีที่ออกสตาร์ทในฤดูกาลนี้ “พะยูนพิฆาต” นำเป็นจ่าฝูงโซนภาคใต้มาโดยตลอด และได้ขึ้นชั้นดิวิชัน 1 อย่างแน่นอน หลังลงแข่งแค่นัดที่ 18 สร้างความยินดีให้แก่คณะผู้บริหาร และแฟนคลับอย่างยิ่ง แม้หนทางข้างหน้าอีก 10 นัด ในรอบแชมเปียนส์ลีกยังไม่รู้ว่าจะเดินทางไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน


เมื่อครั้งที่นายชวน หลีกภัย ร่วมเกาะติดขอบสนามชมลวดลายการเล่นของทีม



“วิถี สุพิทักษ์” บอกด้วยความภาคภูมิใจว่า ตรัง เอฟซี ก้าวมาถึงวันนี้ได้ เพราะชาวตรัง และถือเป็นสโมสรต้นแบบของประเทศไทยที่ปลอดจากการเมือง เพราะคณะผู้บริหารเป็นเพียงแค่นักธุรกิจ และนักกีฬา ที่มิได้หวังชื่อเสียงเงินทองอะไรจากสิ่งที่ทำลงไป นอกจากเพื่อให้จังหวัดตรังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเท่านั้น

ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เขา และแกนนำหลักๆ ต้องควักเงินส่วนตัวนับ 10 ล้านบาท เพื่อให้สโมสรเดินหน้าไปได้ โดยเฉพาะฤดูกาลที่แล้วหนักมาก เพราะผลงานก็ไม่ค่อยดี ส่วนสปอนเซอร์ก็หายาก แถมไม่มีผู้ใหญ่มาเหลียวแลด้วย ซึ่งการได้ขึ้นชั้นดิวิชัน 1 จะช่วยให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น





อย่างไรก็ตาม ภาระด้านทุนก็ยังไม่จบ เพราะจะต้องใช้เงินราวๆ 5 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือเงินเดือน โดย “วิถี สุพิทักษ์” ร่วมกับ “ถวัลย์ พรหมมา” และ “พิทักษ์พงษ์ ชัยคช” จะช่วยกันรับผิดชอบ โดยส่วนหนึ่งอาจมีการจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อหารายได้เสริม

สำหรับทีมดังๆ ที่เข้าสู่รอบแชมเปี้ยนส์ลีกในฤดูกาลนี้ ซึ่งมีศักยภาพใกล้เคียงกับ “พะยูนพิฆาต” นั้นมีอยู่ 4-5 ทีม ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ เอฟซี, ร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด, อยุธยา เอฟซี หรือ ระยอง เอฟซี ล้วนอยู่ในระดับที่เล่นกันได้แบบสูสี และมีโอกาสแพ้ชนะได้เท่าๆ กัน แต่ก็พร้อมที่จะลงเล่นกับทีมชั้นนำเหล่านี้

เพียงแค่หากมีการแบ่งสายแล้ว ต้องออกไปเยือนทีมที่อยู่ไกลๆ ก็จะส่งผลต่อการเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายที่อาจสูงขึ้น แต่เบื้องต้นได้ประสานไปยังสายการบินแอร์เอเชีย หนึ่งในสปอนเซอร์ เพื่อขอสนับสนุนการเดินทางไปยังจังหวัดเหล่านั้นแล้ว เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย และถนอมร่างกายนักเตะ

“วิถี สุพิทักษ์” มองว่าแม้ศักยภาพของ ตรัง เอฟซี ในเวลานี้จะบริหารงานดิวิชัน 2 ได้ดีเด่นในระดับแนวหน้า แต่เมื่อขึ้นไปดิวิชัน 1 แล้วถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน จึงจำเป็นที่จะต้องหามืออาชีพ หรือออแกไนซ์มาช่วยเสริมเพื่อวางโครงสร้างหรือการบริหารงานใหม่ โดยเปลี่ยนจากระดับภูธรไปเป็นระดับประเทศ

ขณะที่ตัวของผู้เล่นเองก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน โดยต้องกล้าเล่นบอลสั้นๆ หรือเท้าต่อเท้ามากขึ้น แม้รูปแบบเดิมจะดีตรงที่ไม่ค่อยเสี่ยง และหากหลุดจากแดนกลาง คู่แข่งก็อาจลากบอลเข้าทำประตูได้ง่าย แต่แฟนคลับกลับอยากเห็นการโชว์ความสามารถที่เด่นยิ่งขึ้น เหมือนอย่างเช่นที่ทีมอื่นๆ ทำได้ในระดับเดียวกัน








ร่วมกับแฟนคลับเชียร์ทีมที่กำลังเตะอยู่ในสนาม



อีกส่วนหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจของการทำทีมก็ คือ การพัฒนาสนามกีฬากลางเทศบาลนครตรังให้ได้มาตรฐาน เพราะต้องใช้รองรับนัดเหย้าครึ่งหนึ่งของการแข่งขันทั้งหมด และเป็นนัดที่เจ้าบ้านได้เปรียบมากกว่าทีมเยือน แต่หากสภาพสนามไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น โอกาสตรงส่วนนี้ก็คงลดน้อยถอยลงไป

ทั้งนี้ การที่ผลักดันให้ ตรัง เอฟซี ประสบความสำเร็จได้ “วิถี สุพิทักษ์” บอกว่าคงมิใช่อยู่ที่คณะผู้บริหารของสโมสรเพียงอย่างเดียว แต่ทุกหน่วยงานราชการ เอกชน หรือประชาชนชาวตรังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยกันสร้างความยิ่งใหญ่ให้เป็นจริง สำหรับการได้เข้าไปสู่รอบแชมเปียนส์ลีกในสมัยแรก

โดยเฉพาะทุกๆ นัดที่แข่งในบ้านจะต้องระดมแฟนคลับมาเชียร์ให้มากที่สุด เพื่อสร้างกำลังใจให้แก่นักเตะ และยังจะส่งผลต่อการทำเกมด้วย พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า ในฤดูกาลหน้ายังคงมีทีมชั้นนำในระดับภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 4-5 ทีม ได้เล่นในดิวิชัน 1 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานของวงการฟุตบอลที่ไม่เป็นรองใครในระดับประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น