++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

9 ม. 9 ประติมากรรม สู่“Art For The King” ศิลปะหัวใจใหม่เพื่อในหลวง



ททท.ชวน 9 สถาบันการศึกษา ร่วมเป็นตัวแทนแสดงความจงรักภีกดีต่อในหลวงผ่านงานประติมากรรมของเยาวชนยุคใหม่ “Art for the King” ในหัวข้อ“คำสอนของพ่อ สู่ความสุขที่ยั่งยืน”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จัดงาน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ในหลวงจะทรงมีพระชนมมายุครบ 85 พรรษา พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวและเพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การจัดงานและกิจกรรมนี้จึงเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้ดึงกลุ่มตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่จาก 9 สถาบันการศึกษา เข้ามามีสวนร่วมแสดงความรักภักดีต่อในหลวง ผ่านการประกวดสร้างสรรค์ชิ้นงานประติมากรรมสื่อผสม 3 มิติ ภายใต้แนวคิด “คำสอนของพ่อ สู่ความสุขที่ยั่งยืน” โดยจะตัดสินและมีกิจกรรมการแสดงอื่นๆ จากกลุ่มเยาวชน จากนั้นจะนำผลงานเหล่านี้ไปตั้งตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ของกรุงเทพฯต่อไป

นางวิไลวรรณ ทวิชศรี รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจจุบันเด็กวัยรุ่นไทยรับรู้เรื่องราวพระราชกรณียกิจต่างๆ ของในหลวงไม่มากเท่าไหร่ ทำให้ขาดความรู้สึกผูกพันลึกซึ้งเฉกเช่นคนไทยในวัยที่โตกว่า ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งได้สนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย
"เราจึงได้ริเริ่มกิจกรรมที่จะทำให้เด็กวัยรุ่นไทยได้ซึมซับคำสอนของในหลวงและมีโอกาสได้แสดงความจงรักภักดีต่อในหลวง ผ่านงานศิลป์ในรูปแบบ “ประติมากรรมสื่อผสม 3 มิติ” ภายใต้แนวคิด “คำสอนของพ่อ สู่ความสุขที่ยั่งยืน” เพื่อให้เยาวชนได้ทำการศึกษาเรื่องของในหลวงโดยลึก ก่อนที่จะตีความหมายคำสอนของท่านออกมาในรูปแบบงานประติมากรรมที่สวยงาม เสร็จแล้วเราจะมีการไปตั้งไว้ในสถานที่ท่องเที่ยวเป็นอีกจุดดึงดูด ให้คนไปถ่ายรูปในขณะเดียวกันก็ให้เป็นเหมือนอนุสรณ์ตั้งเตือนใจให้ระลึกถึงสิ่งที่ในหลวงท่านสอน"
ทั้งนี้ ททท. ได้เปิดโอกาสให้ 9 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเป็นตัวแทนในการสร้างสรรค์ผลงานทั้ง 9 ชิ้น ขนาด 2.5 x 2.5 เมตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับผลงานที่มีชื่อว่า “ทางของพ่อ” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับผลงานที่มีชื่อว่า “เชิดชู” , มหาวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกับผลงานที่มีชื่อว่า “9 มงคลชีวิต” , มหาวิทยาลัยรังสิตกับผลงานที่มีชื่อว่า”หลอดแห่งความคุ้มค่า” , มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกับผลงานที่มีชื่อว่า “ก้าวแรก” , มหาวิทยาลัยศิลปากรกับผลงานที่มีชื่อว่า “น้ำพระทัย”

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทากับผลงานที่มีชื่อว่า “น้ำหล่อเลี้ยงชีวิต” , สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์กับผลงานที่มีชื่อว่า “โลกแห่งความสุข โลกแห่งพระบารมี” และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์กับผลงานที่มีชื่อว่า “จากฟ้าสู่ดิน เพื่อวิถีแห่งความสุข” แต่ละทีมมีระยะเวลา 1 เดือนในการผลิตชิ้นงาน สุดท้ายจะมีการตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทีมที่ชนะเลิศก็จะได้รับทุนการศึกษา พร้อมโล่ห์ เกียรติยศและประกาศนียบัตร โดยมี 4 รางวัลหลัก คือ รางวัลยอดเยี่ยม รางวันดีเด่น รางวัลสร้างสรรค์ และรางวัลขวัญใจมหาชน ซึ่งรางวัลนี้จะมาจากการโหวตผ่านทางเฟสบุ๊ค ”

ในวันจัดงานนอกเหนือจากจะมีนิทรรศการโชว์ผลงานประติมากรรมสื่อผสม 3 มิติ จาก 9 สถาบัน อาทิเช่น “ทีมชมพู” จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “นายนครินทร์ ใจซื่อ” และ นางสาววิไลพร สีโสดา ผู้นำเสนอผลงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า “ทางของพ่อ”

“ประติมากรรมชิ้นนี้ประกอบขึ้นด้วยส่วนย่อยที่ยึดติดกันเกิดเป็นองค์ประกอบใหญ่ แบ่งได้เป็นสี่ส่วนใหญ่ๆ ที่หมายถึง 4 ภาคของไทย โดยเราจะใช้สัญลักษณ์เป็นลวดลายพื้นเมืองของภาคนั้นๆ ซึ่ง 4 ส่วนดังกล่าวไม่อาจตั้งอยู่ได้ หากไม่มีส่วนกลางคือ พระมหากษัตริย์ และส่วนกลางเองก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้ หากส่วนย่อยต่างๆ ไม่เกื้อหนุนกัน ซึ่ง 4 ส่วนนั้นประกอบด้วย รูปขั้นบันได โดยแต่ละขั้นมีรอยเท้าของในหลวงที่นำทางไว้ รอยเท้านั้นก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงาม ผืนดินแห้งสู่ดินชุมชื้น จากเมล็ดพันธุ์เจริญงอกงามเป็นความยั่งยืน ร่มเย็นเป็นสุข”

สำหรับอีกหนึ่งทีมที่เข้าร่วมงาน อย่าง “ทีมเพาะช่าง SCULPTURE” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง ที่มาพร้อมกับผลงานที่มีชื่อว่า “จากฟ้าสู่ดิน เพื่อวิถีแห่งความสุข” นำเสนอโดยนายเอกมงคล วอนเก่าน้อย และนายธนนันท์ แดนไธสง นำเสนอแนวคิดที่มาจากคำสอนของในหลวงที่เปรียบเสมือนพ่อสูงสุดของปวงชนชาวไทยที่สอนพวกเราทุกคนให้เป็นคนดี ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ

“คำสอนของพ่อทำให้เรารู้จักคำว่าพอดี ผมจึงเล็งเห็นถึงความงดงามในคำสอนของพระองค์ที่ดำรัสถึงเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางพออยู่ พอกิน ที่ตั้งบนรากฐานของวิถีชนบท วัฒนธรรม ธรรมชาติแบบเรียบง่าย อบอุ่นเต็มเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญา และความเข้าใจในการดำเนินชีวิตที่กลมกลืน ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์ การทำมาหากิน การเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของการดำรงชีวิต แสดงออกถึงความศรัทธาจากวิถีของความพอเพียงที่เป็นศักยภาพพื้นฐานของคนไทยและสังคมไทยที่เคยมีอยู่แต่ดั้งเดิม ผลงานจึงจำลองอุปกรณ์หาปลาของชนบท นั่นคือ “แห ยกยอ สะดุ้ง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความพอเพียง”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมน่าสนใจอื่นๆ ที่เป็นไฮไลท์ในงานซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดย ร่วมชม Live Visual Art ที่โชว์ภาพเรื่องราวเกี่ยวกับในหลวงผ่านการนำเสนอสไตล์ดิจิตัลมีเดีย : เล่านิทานของในหลวงผ่านจินตนาการของศิลปิน ถ่ายทอดให้เยาวชนมีอารมณ์ร่วมกับภาพเคลื่อนไหว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น