++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ในชายแดนใต้ (1)



โดย...“กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า”
บทความชี้แจงทำความเข้าใจต่อสาธารณชน และประชาคมโลก เรื่อง “ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”





สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนไม่มากนักที่นิยมใช้ความรุนแรง เหตุการณ์ไม่ได้รุนแรงอย่างที่สื่อกัน ประชาชนยังคงทำมาหากิน เปิดร้านค้า การบริการ และเดินทางไปมาอย่างปกติ สถิติเหตุการณ์ที่กรรมการกล่าวนั้น เป็นสถิติเดียวกันที่เรามีอยู่ แต่ตัวเลขเป็นการนับประทุษร้ายต่อชีวิตทุกคน จึงดูเหมือนมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

เมื่อตรวจสอบโดยละเอียดแล้วมีข้อเท็จจริงว่า สถิติเหตุการณ์หมื่นกว่าเหตุการณ์นั้น เป็นเหตุรุนแรงประมาณ 8% เท่านั้น และจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีการวิตกกันนั้น เป็นผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงประมาณ 28% เท่านั้น ที่เหลือเป็นเหตุการณ์ และการสูญเสียจากการทะเลาะวิวาท การขัดแย้งส่วนตัว การขัดแย้งผลประโยชน์อิทธิพลท้องถิ่น และความขัดแย้งเรื่องการค้ายาเสพติด





และตามที่กล่าวแล้วว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่ความขัดแย้งด้วยอาวุธ หรือไม่ใช่พื้นที่สงคราม เราจึงไม่ได้เคลื่อนย้ายประชาชนออกนอกพื้นที่ ทุกคนยังคงใช้ชีวิตไปตามปกติ ทั้งนี้ เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง และจะนำวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับสู่สภาวะปกติในไม่ช้า และจะพิจารณาลดกำลังลงในแต่ละปีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยที่ผ่านมาได้ปรับลดกำลังตามลำดับ

ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั้งโลกที่มีคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา หลายภาษา หลายวัฒนธรรม อยู่ในประเทศเดียวกัน เช่นเดียวกับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีคนหลายเชื้อชาติ โดยส่วนใหญ่ประมาณ 82% เป็นเชื้อสายมลายู ซึ่งถือว่าเป็นชนส่วนใหญ่ในจังหวัดภาคใต้ ที่เหลือเป็นเชื้อสายจีน ไทย อินเดีย ผสมปนกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดมา โดยประเทศไทยระลึกเสมอว่า ทุกคนล้วนเป็นพลเมืองไทย





ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 6 ข้อได้แก่ 1) การเสริมสร้างความเข้าใจ 2) การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 3) การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน 4) การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน 5) การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 6) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

จากยุทธศาสตร์ 6 ข้อดังกล่าว จะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่อง สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และความเท่าเทียมกันของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมาย และด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทั้งก่อนลงไปในพื้นที่ และระหว่างปฏิบัติงานปีละหลายครั้ง พร้อมกับเปิดโอกาส และยินดีให้ทุกภาคส่วนเช่น UN, OIC, UNHCR, NGOS, นักวิชาการ, นักวิจัย และคณะทูตานุทูต ฯลฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตาม ดูแล รายงาน และแนะนำในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมา ทุกคณะได้ให้ความร่วมมือ และเข้าใจสถานการณ์และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเป็นอย่างดี





สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถึงแม้จะมีประชาชนเชื้อสายมลายูในจำนวนที่มากที่สุด โดยประชาชนทุกคนจะได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกันดังนี้

1.ศาสนา ไม่มีการกีดกัน หรือขัดขวางการประกอบศาสนกิจใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่จะส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ตามที่ตนเองศรัทธา หรือนับถือ ได้แก่ การปฏิบัติศาสนกิจประจำวัน เช่น ละหมาดวันละ 5 ครั้ง การทำบุญใส่บาตรของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ การปฏิบัติศาสนกิจในห้วงเทศกาล หรือวันสำคัญ เช่น การสนับสนุนอาหารและสิ่งของในห้วงถือศีลอด (รอมฎอน) การสนับสนุนเงินค่าเดินทาง และการอำนวยความสะดวกไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย การประกอบพิธีในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ การประกอบพิธีของประชาชนเชื้อสายจีนในเทศกาลกินเจ และไหว้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นต้น

2.ด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ส่งเสริมขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชนทุกเชื้อสาย เช่น การทักทายทั้งแบบไทย และแบบมุสลิม การรับประทานอาหารตามแบบอย่างของแต่ละศาสนา การแต่งกายทั้งแบบไทย แบบสากล และที่สำคัญ คือ การอนุญาตให้แต่งกายแบบมลายูที่มีการคลุมศีรษะ และปกปิดร่างกายมิดชิดได้





3.ด้านภาษา ส่งเสริมให้ประชาชนพูดและใช้ภาษาท้องถิ่นได้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ทั้งเชื้อสายจีน และไทยพุทธก็สามารถพูดได้ทั้งภาษาไทย และภาษามลายู มีการสื่อสารกันได้เป็นอย่างดีในชีวิตประจำวัน โดยไม่มีปัญหาในด้านภาษาแต่อย่างใด ทั้งนี้ มีการใช้ภาษามลายูในโรงเรียน ในสถานที่ราชการ ในโรงพยาบาล ในศาล และในที่อื่นๆ เนื่องจากเรามีเจ้าหน้าที่ที่เป็นมุสลิมอยู่แล้วในทุกที่ และมีการจัดล่ามด้วยในที่ที่ต้องใช้ภาษาเป็นการเฉพาะ เช่น ในศาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีล่ามประจำในหน่วยทหารที่อยู่ในหมู่บ้านอีกด้วย

4.ด้านการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนอยู่ 3 ประเภทคือ 1) โรงเรียนของรัฐในทุกระดับจนถึงมหาวิทยาลัย 2) โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาซึ่งสอนทั้งด้านศาสนา และวิชาการทั่วไป 3) โรงเรียนที่ศึกษาทางศาสนาอย่างเดียว ได้แก่ ตาดีกา สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน และปอเนาะ สำหรับเด็กทั่วไป เด็กนักเรียนแต่ละคนสามารถเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนตามที่ตนเองต้องการ

นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรแบบทวิภาษา (ภาษาไทยและภาษามลายู) ในบางโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ และใช้ภาษาทั้งสองภาษาได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการส่งเสริมมีการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้ทันโลก และเทคโนโลยีด้วย

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ส่งเสริมและสนับสนุนทุนการศึกษา ทั้งการศึกษาภายในประเทศ และการศึกษาในต่างประเทศ เช่น วิทยาลัยพยาบาล โรงเรียนทหาร และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในต่างประเทศ เช่น ในประเทศมาเลเซีย บาห์เรน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฯลฯ ซึ่งในปีที่ผ่านมา นักเรียนทุนพยาบาล 3,000 คน ได้จบการศึกษาและกลับไปทำงานในโรงพยาบาลในภูมิลำเนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้





5.ส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา มีสิทธิเลือกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบล/จังหวัด) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ในการปกครอง บริหาร ดูแลท้องถิ่นของตนเองทุกระดับ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นได้ทุกเชื้อชาติและศาสนา เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิต และความรู้สึกของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสำคัญ

โดยในปัจจุบัน ข้าราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจากจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเป็นผู้บริหารระดับชาติได้ เช่น เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และแม้กระทั่งในหน่วยงานด้านความมั่นคงก็มีผู้บัญชาการทหารที่เป็นมุสลิมเช่นกัน เช่น ผู้บัญชาการทหารบก เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้แต่งตั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นเมื่อ พ.ค.54 ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นมลายู ปัจจุบัน ข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประมาณ 55,000 คน เป็นมลายูประมาณ 40%





6.ด้านกระบวนการยุติธรรม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนจะได้รับความเป็นธรรม และการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยังได้อนุญาตให้ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม สามารถใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยทรัพย์สินในครอบครัวได้ สำหรับการดำเนินคดีความ ประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีทั้งทนายความทั่วไป และทนายความมุสลิมที่จัดตั้งขึ้นเป็นชมรมศูนย์ทนายความมุสลิม เพื่อช่วยเหลือลูกความที่เป็นมุสลิมให้ได้รับความเป็นธรรมอีกทางหนึ่งด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น