++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2548

ลูกประคบสูตรเฉพาะโรค

โดย พัชรา อร่ามศรี
27 พฤษภาคม 2547 22:14 น.
คราวที่แล้วได้นำเรื่องการทำลูกประคบใช้เอง พร้อมสูตรลูกประคบที่ถือเป็นสูตรยอดนิยมมาฝากกัน หลายคนถามไถ่ว่า แล้วลูกประคบที่ใช้บรรเทาอาการบางชนิด เช่น เมื่อยหล้า เหน็บชา เส้นยึด ฯลฯ ที่ถือเป็นสูตรเฉพาะนั้น มีบ้างไหม คอลัมน์นี้จึงขอเอาใจ “แฟนานุแฟน” ด้วยการนำสูตรลูกประคบเฉพาะอาการมาฝากกัน

ยาประคบแก้อาการเหน็บชา ชาตามปลายมือปลายเท้า ให้นำสมุนไพรเหล่านี้มาทำลูกประคบ แล้วประคบไปตามบริเวณปลายมือปลายเท้า หรือบริเวณที่มีอาการเหน็บชา สมุนไพรดังกล่าวประกอบด้วย
เปลือกกุ่มทั้ง 2 เปลือกมะรุม เปลือกทองหลาง เถาวัลย์เปรียง เถาว์เอ็นอ่อน ไพล เกลือ
สมุนไพรดังกล่าวข้างต้นให้ใช้สัดส่วน “เสมอภาค” หมายถึง หากใช้อัตราส่วน 1 บาท (อัตราชั่งน้ำหนักยาไทย) ก็ให้สมุนไพรทุกชนิดในอัตรา 1 บาทเช่นกัน โดยการนำสมุนไพรทั้งหมดนี้มาหั่นหรือซอยเป็นชิ้นเล็กๆ หรือตำพอเป็นชิ้นๆ ไม่ต้องละเอียดมาก เสร็จแล้วให้นำไปคั่วในกระทะพอได้ที่ก็เทสุราผสมลงไปแล้วคนให้ทั่วจนเข้ากัน เนื่องจากสมุนไพรดังกล่าวมีเปลือกแข็งเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องใช้สุราเข้าไปดึงตัวยาออกมา

จากนั้น ก็ให้แบ่งสมุนไพรออกเป็นส่วนๆ ไปห่อด้วยผ้าทำเป็นลูกประคบๆ ตามบริเวณที่เป็นเหน็บชา แต่เนื่องจากการทำลูกประคบสูตรนี้มีการเติมสุราลงไปแล้ว และสุราก็มีฤทธิ์ร้อนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรนำลูกประคบไปนึ่งก่อนนำมาประคบ เมื่อห่อด้วยผ้าเหมือนลูกประคบแล้วก็ให้ประคบได้เลย

ยาประคบแก้ลมอัมพฤกษ์-อัมพาต อาการที่เรียกว่า “ลมอัมพฤกษ์และอัมพาต” ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยได้ยินนี้ ลักษณะอาการก็คือมือและเท้าไม่มีแรง บางครั้งแม้แต่จะหยิบจับอะไรก็ทำไม่ได้ บางคนยังมีอาการชาตามมือตามเท้าควบคู่ไปด้วย เรียกง่ายๆ ว่าเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นและระบบประสาท

สาเหตุของอาการเหล่านี้ก็เนื่องมาจากตามปลายมือปลายเท้าโลหิตไหล เวียนไม่สะดวก หรือมีโลหิตคั่งค้าง ทำให้ไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงจนเกิดอาการมือเท้าไม่มีแรงในที่สุด โดยคนที่มักจะมีอาการลมอัพฤกษ์-อัมพาตนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอาการเส้นเลือดในสมองแตก, คนที่ประสบอุบัติเหตุจนทำให้การสั่งการของสมองบกพร่อง นอกจากนี้ คนที่มีความดันโลหิตสูง รวมทั้งคนที่มีอาการเครียดเป็นประจำ ก็เสี่ยงต่อการเป็นลมอัมพฤกษ์-อัมพาตด้วย สมุนไพรที่นำมาทำลูกประคบเพื่อรักษาอาการดังกล่าว ประกอบด้วย
ไพล 1 บาท ว่านน้ำ 1 บาท การบูร 4 บาท ใบพลับพลึง 3 ใบ กุยช่าย 1 กำมือ
สมุนไพรทั้ง 4 สิ่งในสัดส่วนที่ระบุไว้ นำมาตำให้แหลกจนเข้ากันดี จากนั้นให้นำการบูรและต้นกุยช่ายมาซอยสั้นๆ ผสมลงไป หลังจากส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีแล้วก็ให้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ทำเป็นลูกประคบ 4 ลูกสลับสับเปลี่ยนประคบไปตามบริเวณที่เป็นลมอัมพฤกษ์-อัมพาต โดยใบกุยช่ายนี้มีสรรพคุณช่วยกระจายเลือดที่คั่งค้างอยู่ตามส่วนต่างๆ ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น

ยาประคบพระเส้น (โอสถพระนารายณ์) ว่ากันว่าสูตรนี้เป็นตำรับที่มีมาตั้งแต่ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ในยุคสุโขทัย ใช้แก้อาการเส้นตึงและอาการปวดเมื่อยต่างๆ สำหรับสมุนไพรในตำรับนี้มี
เทียนดำ 1 ส่วน เกลือ 1 ส่วน อบเชย 2 ส่วน ไพล 4 ส่วน ใบพลับพลึง 8 ส่วน ใบมะขาม 16 ส่วน
ให้นำตัวยาทั้ง 6 สิ่งตามสัดส่วนที่ให้ไว้ (การกำหนดส่วนจะขึ้นกับผู้ใช้ เช่น อาจกำหนด 1 ส่วนเท่ากับ 1 บาท หรือ 1 ส่วนเท่ากับ 1 ตำลึง เป็นต้น) มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปห่อผ้าทำเป็นลูกประคบ ก่อนใช้ให้นำไปนึ่งให้ร้อนพอสมควรและประคบบริเวณที่เส้นตึง สมุนไพรเหล่านี้จะเข้าไปช่วยผ่อนคลายเส้นได้ และเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ ควรมีลูกประคบประมาณ 2-3 ลูก เพื่อใช้สลับสับเปลี่ยนในการนำไปนึ่งก่อนนำประคบเพื่อการประคบที่ต่อเนื่อง

ยาทาพระเส้น ยาตำรับนี้ใช้ทาแก้โรคเส้นพิรุธ แก้ลมอัมพาต ลมปัฏฆาตกร่อน ตะคริว จับโปง เมื่อยขบ สำหรับส่วนผสมในตำรับยาก็คือ
พริกไทย ข่า กระชาย หอม กระเทียม มหาหิงคุ์ ยาดำ ทั้ง 7 อย่างนี้ให้นำมาอย่างละ 1 ส่วน
ตะไคร้หอม ใบขี้เหล็ก ใบตองแตก ใบมะขาม ใบเลี่ยน ทั้ง 5 อย่างนี้ให้นำมาอย่างละ 4 ส่วน
นอกจากนี้ยังมี ใบมะคำไก่ 16 ส่วน

นำส่วนผสมเหล่านี้มาตำให้ละเอียด แล้วนำมาห่อด้วยผ้าขาวบางคั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณที่มีอาการเส้นตึง เป็นตะคริว หรือเมื่อขบ

นอกจากจะสูตรลูกประคบเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ จะมีความสำคัญแล้ว เคล็ดลับในการประคบก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน โดยเคล็ดลับมีอยู่ว่า หากต้องการให้การรักษาอาการได้ผลแล้ว การประคบแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาประมาณ 25-30 นาที และหลังจากประคบแล้ว ให้เว้นช่วงไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนไปอาบน้ำ เพื่อให้ตัวยาซึมเข้าไปใต้ผิวและไปรักษาอาการต่างๆ ก่อน

สำหรับกรณีใช้การประคบเพื่อรักษาอาการลมอัมพฤกษ์-อัมพาต และต้องนำลูกประคบไปนึ่งก่อนนำมาใช้นั้น สิ่งที่ควรระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ ควรตรวจสอบก่อนว่าลูกประคบนั้นร้อนเกินไปหรือไม่ ความร้อนจะไปลวกผิวให้เกิดอาการไหม้ หรือบวมแดงหรือไม่
ทั้งนี้เนื่องจาก คนเป็นโรคลมอัมพฤกษ์-อัมพาตนั้น ประสาทรับความรู้สึกของเขาจะสั่งการช้า หากเราใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป เขาอาจจะรู้ตัวต่อเมื่อผิวเกิดอาการไหม้แดงแล้ว เรื่องนี้จึงพึงระมัดระวังให้จงหนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น