++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2548

นอนไม่หลับ กรนไม่หยุดอันตรายถึงชีวิต!!

คุณเคยรู้สึกไหมคะ ว่าเป็นคนนอนกรนเสียงดัง หลับเท่าไหร่ ก็ไม่เคยเต็มอิ่ม แถมยังกระสับกระส่าย นอนละเมอ และสะดุ้งตื่น ตอนกลางคืน เป็นประจำ ช่วงเช้าตื่นขึ้นมา ก็ปวดศีรษะ งุนงง มีอาการปากแห้ง ส่วนกลางวัน ไม่ต้องพูดถึง เรื่องง่วงเหงาหาวนอนถือเป็นปกติ เหมือนกับคนอดนอนตลอดเวลา หรือบางครั้ง ก็ถึงขั้น "หลับใน" และทำให้เกิดอุบัติเหตุ!! อาการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภัยมืด ที่กำลังมาเยือนจาก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต!!

ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินหายใจจาก รพ.ธนบุรี 1 "น.พ.ชัยวัฒน์ ลิมปวุฒิวสานนท์" เล่าว่า การนอนหลับก็เหมือนกับความหิว ที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายต้องการอาหารหรือน้ำ โดยทั่วไป ระยะเวลาเฉลี่ยของการนอนหลับที่พอเพียงคือ 8 ชม.ต่อวัน แต่บางคนก็อาจต้องการมากหรือน้อยกว่านั้น ขึ้นกับวัยและลักษณะทางพันธุกรรม จังหวะการนอนหลับและตื่นในแต่ละคน จะถูกกำหนดโดย "นาฬิกาชีวภาพ" เป็นรอบๆ โดยแต่ละรอบกินเวลา 24 ชั่วโมง วันไหนที่เรานอนหลับไม่เพียงพอ ก็จะเกิดภาวะพร่องการนอนหลับ ซึ่งภาวะนี้สามารถสะสมได้ และหากมีปริมาณมากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

สำหรับ "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" ชนิดที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น หรือโอเอสเอ ซึ่งพบบ่อยนั้น คุณหมอบอกว่า มีอันตรายถึงชีวิต เมื่อเกิดการหยุดหายใจขณะที่นอนหลับ ออกซิเจนในเลือดจะต่ำลงเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งก็จะไปกระตุ้นให้สมองตื่นขึ้นจากการนอนหลับ และกลับมาหายใจดังเดิม ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ จะมีอาการหลับๆตื่นๆ สลับกับการหยุดหายใจ และขาดออกซิเจนเป็นช่วงๆ เช่นนี้ไปตลอดคืน ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เช่นปวดศีรษะหลังจากตื่นนอนตอนเช้า มีอาการง่วงเหงาหาวนอนตอนกลางวัน บางคนเป็นมากขนาดนั่งคุยกับคนอื่นก็หลับได้ สมาธิสั้น คิดอะไรไม่ออก เกิดอุบัติเหตุได้จากการหลับใน และสมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ทั้งโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง

นอกจากคนที่มีประวัตินอนกรนเสียงดังแล้ว กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ ยังรวมถึงคนที่มีน้ำหนักตัวมาก, รอบคอใหญ่เกิน 17 นิ้ว, คางสั้นและเล็ก, ต่อมทอนซิลโต, โพรงจมูกตัน, ความดันโลหิตสูง และตัวบวม ถ้าเทียบระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ฝ่ายแรกจะมีความเสี่ยงต่อ ภาวะนี้สูงกว่า 2-4 เท่า "โอเอสเอ" ยังพบมากในคนที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป, คนที่มีโรคประจำตัว เช่นไทรอยด์ไม่ทำงาน, คนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเป็นประจำ และคนที่ใช้ยามีฤทธิ์กดประสาท

อย่าเพิ่งตกใจจนเกิดอาการขวัญหนีดีฝ่อ เพราะคุณหมอยืนยันว่า คนที่นอนกรนเสียงดัง หรือมีอาการอ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่ได้แปลว่าจะต้องมี "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" เสมอไป แต่ถ้านอนกรนเสียงดัง และตื่นสะดุ้งเฮือกขึ้นมา หลัง จากหยุดหายใจเป็นเวลานาน ก็ให้พึงระวังไว้ว่า มหันตภัยร้ายกำลังคืบคลานสู่ชีวิตคุณ!! ถ้ายังเป็นอาการขั้นต้น อาจรักษาได้ ด้วยการลดและควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ และยากดประสาท จัดท่านอนใหม่จากนอนหงายเป็นนอนตะแคง และรักษาตัวกระตุ้นที่มีผลต่อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคภูมิแพ้ และหอบหืด แต่ถ้าอาการหนักเข้าขั้น ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการใส่เครื่องซีแพค หรือไม่ก็ผ่าตัดเจาะคอ และส่วนต่างๆในช่องปาก เพื่อเปิดทางเดินหายใจ...อยากอายุยืนยาว ต้องใส่ใจ และหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายนะคะ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น