ณ วันนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน สินค้าเพื่อสุขภาพจะมีปรากฏอยู่รอบๆตัว โดยเฉพาะสินค้าอาหาร
ทั้งที่เป็นอาหารปลอดสารพิษ อาหารเสริม และอาหารอื่นๆ อีกมากมาย หลายๆ ผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณากล่าวอ้างคุณประโยชน์กันอย่างมโหฬาร
จุดหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการนำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงการกล่าวอ้าง ก็คือ
ฉลากโภชนาการ
ในต่างประเทศ กลุ่มผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับฉลากโภชนาการเป็นอย่างมาก
แต่สำหรับในไทย ผู้ที่เข้าใจยังมีอยู่จำเพาะในบางกลุ่ม
วันนี้ สถาบันอาหารเลยถือโอกาสสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับฉลากโภชนาการกันเสียหน่อย
ฉลากโภชนาการเป็นฉลากอาหารที่มีการแสดงข้อมูลด้านโภชนาการ อยู่ในกรอบของข้อมูลโภชนาการ ซึ่งอาจจะมีข้อความกล่าวอ้างต่างๆ ได้ เช่น ปราศจากโคเลสเตอรอลหรือไขมันต่ำ
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลากโภชนาการ บังคับให้อาหาร 3 ประเภทต่อไปนี้ ต้องมีข้อมูลโภชนาการ
1. อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ เช่น มีข้อความว่า เป็นแหล่งของแคลเซียม หรือ แคลเซียมเป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน หรือ มีปริมาณใยอาหารสูงและไขมันต่ำ
2. อาหารที่มีการใช้คุณค่าทางโภชนาการ ช่วยส่งเสริมการขาย เช่น บำรุงสมอง เพื่อสุขภาพสดใสแข็งแรง
3. อาหารที่ระบุกลุ่มผู้บริโภค ในการส่งเสริมการขาย เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ และกลุ่มวัยเรียน และในกรอบข้อมูลโภชนาการ ต้องระบุสิ่งต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 หนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งหมายถึง ปริมาณอาหารที่คนไทยปกติทั่วไปรับประทานได้หมดใน 1 ครั้ง หรือจะให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ การกินครั้งละ อาจจะเป็นถ้วย แก้ว ช้อนโต๊ะ ช้อนชา ถาด ขวด
ส่วนที่ 2 คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งต้องประกอบด้วย ปริมาณไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว โคเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด ใยอาหาร น้ำตาล โซเดียม วิตามินเอ บีหนึ่ง บีสอง แคลเซียม เหล็ก
และที่สำคัญคือ ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
ซึ่งหมายถึง ร้อยละของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทย อายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป (Thai RDI)
โดยคิดจากความต้องการพลังงาน วันละ 2,000 กิโลแคลอรี
แล้ววันนี้ คงต้องให้ท่านผู้อ่านลองสังเกตฉลากโภชนาการ บนหีบห่ออาหารกันเองเสียก่อน
คราวหน้าจะมีตัวอย่างฉลากโภชนาการ พร้อมวิธีการอ่านค่าโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต นำมาเสนอกันต่อไป...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น