++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2548

ความดัน (ทุรัง) ต่ำ

เขียนหัวข้อเรื่องให้แปลกใจ เล่นๆ อย่างนั้นเองแหละครับ ความดันในที่นี้ไม่ใช่ ความดันทุรังหรอก แต่เป็นความดันโลหิต

คุณๆ ที่สนใจเรื่องสุขภาพ ของตัวเอง จะรู้จักความสำคัญ ของความดันโลหิตดี แต่ส่วนมาก จะรู้จักเรื่องอันตรายของ ความดันโลหิตสูง กันมาก แต่ความดันอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้าม คือ ความดันโลหิตต่ำ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก

พอดีเขียนเรื่องหนักๆ คือเรื่องของท้อง ซึ่งมีทั้งตับไตไส้พุงซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เขียนมาหลายอาทิตย์แล้ว และเมื่อ 2-3 ตอนที่ผ่านมาก็เขียนเรื่องตับ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อีกเหมือนกัน และการป่วยด้วยโรคตับอักเสบและตับแข็งที่เขียนไปแล้ว มีอาการเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงอยู่ด้วย มีแฟนประจำโทร.มาถามอีกตามเคยครับ ว่าความดันโลหิตสูงเกี่ยวกับตับนั้นจริงหรือ ได้อธิบายไปแล้ว คราวนี้นึกขึ้นมาได้ว่า น่าจะเขียนเรื่องเล็กๆ คือความดันโลหิตต่ำดูบ้าง ก็เลยรีบเขียนอาทิตย์นี้ทันที เขียนไว้ก่อนที่จะถูกแฟนประจำซักถามมา

ขออธิบายเรื่องความดันโลหิตและตัวเลขวัดความดันโลหิตสักนิดว่า คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร อธิบายแบบชาวบ้านและแบบสั้นๆที่สุดนะครับ

ความดันโลหิตเป็นเครื่องแสดงให้เรารู้ได้ อย่างหนึ่ง ว่า หัวใจของเราทำงานเป็นปกติหรือไม่ปกติอย่างไร เราวัดความดันโลหิตได้เป็นสองตัว ตัวสูง และ ตัวต่ำ

ตัวสูง (SYTOLIC PRESSURE) หมายถึงตัวเลขความดันโลหิตซึ่งเกิดขึ้นขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อดัน ให้เลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย

เมื่อหัวใจบีบตัวแล้ว ก็ต้องคลายตัวเอง ในขณะที่คลายตัว ความดันโลหิตก็จะต่ำ (DIASTOLIC PRESSURE)

การเต้นของหัวใจจึงมีสองลักษณะ คือบีบตัวเองเพื่อให้เลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อบีบแล้วก็ต้องคลาย เพื่อรับเลือดจากปอดเข้าไปในหัวใจ แล้วหัวใจก็จะบีบ แล้วก็คลาย/บีบแล้วคลาย/สลับกันไปอย่างนี้ตลอดชีวิตของเรา

ตัวเลขของความดันโลหิตจึงมีสองตัว คือ ตัวสูงและตัวต่ำ

เราจะใช้เครื่องวัดความดันโลหิตที่เรียกว่า SPYGMOMANOME-TER วัดความดันโลหิตออกมาได้สองตัว คือ ตัวสูงและตัวต่ำ อัตราการวัด เรียกว่า มิลลิเมตร/ปรอท คือใช้ปรอทในหลอดแก้วเป็นตัววัด

ความดันโลหิตซึ่งถือว่าปกติจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ อายุมากขึ้นก็จะสูงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ขอเทียบอัตราปานกลาง โดยยึดเอาคุณนิรนาม คนหนุ่ม อายุ 25 ร่างกายแข็งแรงโดยประมาณ เป็นตัวอย่าง ความดันโลหิตตามปกติของเขาน่าจะเป็น 120 มม. ตัวสูง และ 80 มม. เป็นตัวต่ำ เขียนในรายงานว่า 120/80 นี่คือความดันโลหิตตามปกติ

ถ้าความดัน คุณนิรนามวัดทุกครั้ง ตัวสูงกว่าปกติ ประมาณ 140 ขึ้นไป และตัวต่ำก็สูงด้วย เอาเป็นว่าประมาณ 90 หรือ 100 ขึ้นไป เขียนเป็นรายงานว่า 140/100 หรือ 150/100 ถ้าขนาดนี้แปลว่าความดันโลหิตสูงผิดปกติ จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆอีกมาก

แต่ได้บอกแล้วนะครับว่า คราวนี้จะยังไม่พูดถึงโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งโดยทั่วๆไปผู้สนใจสุขภาพรู้จักกันดี (แต่ถ้ายังไม่รู้จักดี กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จะได้เขียนเพิ่มเติมให้อีก)

คราวนี้ขอพูดถึงความดันโลหิตต่ำ (HY-POTENSION) ถ้า คุณนิรนาม (หนุ่มอายุ 25) วัดความดันได้ 100/60 อย่างนี้เป็นโรคความดันโลหิตต่ำแน่ และจะมีโรคประจำตัวหลายอย่างและอาจจะเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้

เอาสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันต่ำเสียก่อน เอาตั้งแต่เบาไปจนหาหนักเลยนะครับ

1. กินยาผิดหรือกินยาเกินขนาด ถ้าในช่วงทั่วๆไป ความดันโลหิตปกติอยู่แล้ว อยู่ๆความดันโลหิตลดฮวบ ก็ลองดูตัวเองว่าขณะนั้น เรากินยาอะไรผิดปกติหรือเปล่า ยาเหล่านี้ได้แก่ ยาขับน้ำ (แก้ตัวบวม เท้าบวม) หรือคนที่เป็นความดันโลหิตสูง กินยาลดความดันเกินขนาดไป ก็จะเกิดอาการความดันโลหิตต่ำ หรือบางคนเป็นโรคหัวใจ กินยาประจำตัวมากเกินไป

หรือคนที่เครียด ตื่นเต้นง่าย นอนไม่ ค่อยหลับ กินยาประเภทยากล่อมประสาท (TRANQUILIZER) หรือยานอนหลับมากเกินไป แน่นอน จะเกิดอาการของความดันโลหิตต่ำขึ้นได้

หรือบางคนกินยาคลายเครียด (ANTIDE-PRESSANT) มากเกินไป ความดันโลหิตต่ำได้อีกเช่นกัน

2. มีอาการโลหิตจาง ต้องดูให้ละเอียดว่า โรคโลหิตจางเกิดจากสาเหตุอะไร บางคนก็เกิดจากยาที่เรากินหรือฉีดเข้าไป อย่างเช่น คนไข้มะเร็ง ซึ่งต้องรับเคโมบำบัด หรือรับรังสีบำบัด คนไข้เหล่านี้จะมีอาการโลหิตจาง และอาการของความดันเลือดต่ำด้วย

นอกไปจากนั้น โลหิตจาง อาจจะเกิดจากการขาดอาหาร (MULNUTRITION) อาจจะกินอาหารไม่พอเพียง หรือกินอาหารผิดประเภท เช่น กินอาหารประเภทแป้งขาว อาหารหวาน และขาดอาหารประเภทโปรตีน และพืชผักมากเกินไป

การขาดอาหารเช่นนี้ ทำให้เกิดโรคโลหิตจางและความดันโลหิตต่ำได้

3. เกิดจากความผิดปกติ หรือความพิการหัวใจ ความผิดปกติหรือความพิการหัวใจนี้ อาจจะเกิดมาแต่เล็กๆ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น

นอกไปจากนั้น จากการปฏิบัติตัวเองผิดๆ เช่น นอกจากการขาดอาหารแล้ว ยังปฏิบัติตัวผิด กินเหล้ามากเกินไป ไม่เคยออกกำลังกายเป็นประจำ

การปฏิบัติตัวเองผิดๆเช่นนี้ ก็ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง โรคตับ และย่อมมีอาการความดันโลหิตต่ำด้วย

4. โรคอื่น นอกจากโรคหัวใจแล้ว ยังมีโรคอื่นๆซึ่งเมื่อเกิดป่วยด้วยโรคนั้นๆ แล้วยังจะมีอาการของความดันโลหิตต่ำด้วย เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค (T.B.) หรือต่อมไทรอยด์ พิการ-เป็นพิษ หรือทำงานผิดปกติ

โรคเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำได้ทั้งสิ้น

ว่าจะเขียนสั้นๆง่ายๆ แต่ปรากฏว่า ความดันโลหิตต่ำก็กลายเป็นเรื่องยาวและเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น