++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

พาณิชยศาสตร์ จุฬาฯ ดึง Google Apps for EDU สู่การเรียนรู้ทั่วโลก



ในยุคที่การสื่อสารก้าวเข้าสู่โลกไร้พรมแดน ผู้นมากมายต่างก็ปรารถนาความสะดวกสบาย และการเข้าถึงได้ง่ายของแหล่งข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะวัยเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ที่จำเป็นจะต้องค้นคว้าหาความรู้นอกห้องเรียนด้วยตัวเองมากขึ้น แต่บนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่กลับพบว่ามีการกระจัดกระจายของแหล่งข้อมูล รวมถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพราะในบางครั้งแม้แต่ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ยังต้องเกิดความสับสน


นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์ฯจัดกิจกรรมรับลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้ Google Apps



คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย "รองศาสตราจารย์ ดร. พสุ เดชะรินทร์" คณบดี ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศบนโลกออนไลน์ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและประสบการณ์การเรียนของนิสิตให้กว้างมากขึ้น จึงเกิดความร่วมมือกับ Google ในการเริ่มต้นใช้โปรแกรม Google Apps Support Program ที่จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ได้เต็มที่ 100% ในการขยายประสบการณ์การเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน

"จะเห็นว่าไลฟ์สไตล์ของนิสิตยุคใหม่มีการเปิดรับความเคลื่อนไหวของสังคมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา กระบวนการเรียนการสอนต่างๆ จึงสามารถถ่ายทอดผ่านระบบไอทีได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการเหล่านี้จะมาทดแทน ช่วงเวลาในการเรียนรู้ภายในห้องเรียน เพียงแต่เป็นส่วนเสริมและสนับสนุนเนื้อหาในบางส่วนที่มีอยู่นอกห้องเรียนเท่านั้นเอง เพราะทุกวันนี้พบว่าเนื้อในแต่ละรายวิชาไม่สามารถอัดแน่นในชั่วโมงเรียนได้หมด การเพิ่มช่องทางในการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมแก่นิสิตจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้อีกทาง"

รองศาสตราจารย์ ดร. พสุกล่าวถึง การเริ่มต้นใช้ Google Apps เพื่อการศึกษาว่า ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีได้ลงทะเบียน และสร้าง Accout ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 บนโดเมนใหม่ ภายใต้ระบบของ Google ในวันรับลงทะเบียนนักศึกษาใหม่ รวมถึงอาจารย์และบุคลากรทุกคนในคณะฯ และในอนาคตจะค่อยๆ ขยับไปที่ศิษย์เก่า เพื่อให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังมีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคณาจารย์ และบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้รู้เท่าทันเทคโนโลยี และสามารถเชื่อมต่อกับนิสิตได้อย่างสะดวกสบาย


ตัวแทนจาก Google ให้คำแนะนำกับนิสิต






แซมมูเอล เจิงและรองศาสตราจารย์ ดร. พสุ เดชะรินทร์



ด้าน "แซมมูเอล เจิง" ผู้จัดการฝ่ายโปรแกรมเทคนิคตลาดเกิดใหม่ หัวหน้าทีมสนับสนุน Google Apps เพื่อการศึกษา (ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) กล่าวถึงจุดเด่นของ Google Apps ว่าเป็นเครื่องมือที่เปิดให้ใช้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนการศึกษา และเป็นเครื่องมือชุด สามารถใช้งานร่วมกันได้ เพียงแค่มีบัญชีของ G MAIL ก็สามารถเข้าใช้เครื่องมือต่างๆ ที่อยู่บนเครือข่ายของ Google ได้ทั้งหมด

"นอกจากการสนับสนุนและดูแลเรื่องของ Google Apps เพื่อการศึกษา ทีมงานยังจัดการอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่องสำหรับพันธมิตร เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ ให้คำปรึกษากับแอดมินการศึกษา ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น การย้ายข้อมูลที่มีอยู่แล้ว มาไว้บนระบบคราวน์ การอบรม ทำกิจกรรมกับเด็กๆ เพื่อรับรู้ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนและนำไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง"

แซมมูเอลยังบอกด้วยว่า ในบรรดาประเทศพันธมิตรภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าได้รับความสนใจมากที่สุดจากประเทศไทย ทั้งมีการติดต่อสอบถาม และขอคำปรึกษาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงรู้สึกดีใจที่เห็นทุกคนมีความกระตือรือร้นที่จะพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่จะมีการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ทางทีมงานเองก็คาดหวังว่า Google Apps เพื่อการศึกษา จะฝึกให้เด็กวัยเรียนได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ในวัยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการรู้เท่าทันเทคโนโยลีซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญ


บรรยากาศการลงทะเบียนเพื่อรับบัญชีการใช้งาน GMAIL






นิสิตต่างก็ให้ความสนใจในการศึกษาวิธีใช้ Google Apps For EDU



ขณะเดียวกัน "คุณพรทิพย์ กองชุน" ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ในฐานะตัวแทน Google ประจำประเทศไทยอธิบายเพิ่มเติมถึง Google Apps for EDU หรือ Google Apps เพื่อการศึกษาว่า คือ ชุดของฟรีอีเมลล์จาก Google และเครื่องมือต่างๆ เป็นแบบระบบเปิดในการทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างเครื่องมือที่เป็นที่นิยมใช้ เช่น อีเมล (Gmail) เอกสาร (Docs) ปฏิทิน (Calendar) และ Groups

นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันที่ถือว่ามีความพิเศษมากขึ้น คือ แฮงเอาท์ ซึ่งเป็นโปรแกรมแชทที่สามารถรองรับผู้ใช้ได้สูงสุด 10 คน ใช้ในการแบ่งปันข่าวคราว ข่าวสาร และทำงานร่วมกันพร้อมกับดูความรู้สึกของทุกคนได้ทันที ไม่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านหรือใช้แอปพลิเคชันมือถือ Google+ ขณะเดินทาง

"สถาบันการศึกษาในประเทศไทย ได้เริ่มใช้งาน Google Apps for Education โดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยแรก และถัดมาที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้นับจุดเริ่มต้นของโปรแกรมการศึกษาขนาดใหญ่ของเราที่จัดทำสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่อง หวังว่าจะสามารถช่วยยกระดับความเป็นเลิศ การตระหนักรู้ และการเข้าถึงด้านการศึกษา ให้กับนักเรียนนักศึกษารุ่นต่อๆ ไป รวมทั้งคุณครู และนักสร้างสรรค์นวัตกรรมทุกคน" ตัวแทน Google ประจำประเทศไทยกล่าว


แคช ธนธรณ์ โพดาพล Google Ambassador



อีกหนึ่งเสียงจากผู้ใช้งานตัวจริง "แคช ธนธรณ์ โพดาพล" นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เล่าว่า ตนเริ่มใช้งาน GMAIL ตั้งแต่ตอนเรียนชั้นมัธยมปลาย จึงคุ้นเคยกับแอปพลิชันต่างๆของ Google และมักจะแนะนำให้เพื่อนได้ลองใช้อยู่เสมอ หลังจากเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัยก็มีความจำเป็นต้องใช้มากขึ้น อีกทั้งเป็นคนที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในโลกของเทคโนโลยี จนล่าสุดสามารถคว้าตำแหน่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Google มาครองด้วย

"สำหรับแอปพลิชันที่คิดว่าใช้มากที่สุดน่าจะเป็นปฏิทิน เพราะช่วงฝึกงานที่ผ่านมา มีกิจกรรมและการนัดหมายที่เวลาแน่นมาก ซึ่งถ้าหลงลืมเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เสียงาน ดังนั้นการบันทึกในปฏิทินและตั้งการแจ้งเตือนไว้จะช่วยให้เราไม่ลืมนัดหมายและเวลาส่งงาน นอกจากนั้นในการทำแผนธุรกิจกับเพื่อน ที่เป็นงานกลุ่ม จะต้องใช้เวลาในการประชุมหารือกัน และเสนอความคิดเห็นทำงานร่วมกันหลายอย่าง การสร้างเอกสารและแก้ไขพร้อมกันได้ทุกที่ทุกเวลาบนออนไลน์จึงสะดวกมาก" แคชเล่า

ตัวแทนนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์ฯ เพิ่มเติมว่า สำหรับนิสิตสาขาการบัญชี Google Apps for Education ถือว่ามีความจำเป็น และได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เพราะต้องทำงานกลุ่มร่วมกันตลอด และอาจจะไม่มีช่วงเวลาที่จะสามารถพบปะกันในชั้นเรียน แต่สามารถเชื่อมต่อกันผ่านระบบออนไลน์ได้ ทำให้การติดต่อสื่อสารสะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังได้ศึกษาเรื่องของธุรกิจซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำงาน และถือเป็นการฝึกประสบการณ์ก่อนที่จะไปประกอบอาชีพในอนาคตด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น