++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

เจ้าท่าเสนอโครงการพัฒนาการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางน้ำ เรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวพัทยา-ชะอำ-หัวหิน



ศูนย์ข่าวศรีราชา - เจ้าท่าเสนอโครงการพัฒนาการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางน้ำ เรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวพัทยา-ชะอำ-หัวหิน ด้านเอกชนพัทยาค้านไม่เห็นด้วย ชี้ไม่ตอบโจทย์สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้าน ระบุเปลืองภาษีเพราะขาดแรงจูงใจ ไม่คุ้มทุน

วันนี้ (4 ก.ย.55) ที่โรงแรมเดอะกรีนพาร์ค พัทยา นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธานการประชุมร่วมกับองค์กรภาครัฐ เอกชนและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครง การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพัฒนาการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางน้ำ โดยเรือเฟอร์รี่ในเส้นทางระหว่างพัทยา-ชะอำ และหัวหิน โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ลัย ซึ่งได้รับมอบหมายให้เข้ามาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวเข้าร่วมบรรยายสรุป

นายณัฐ เปิดเผยว่าโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานของกรมเจ้าท่า ในการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่การท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาทในปี 2558 ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ โดยโครงการดังกล่าวมีแผนงานในการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่หรือท่าเทียบเรือเดิมในพื้นที่เมืองพัทยา เพื่อใช้เป็นที่เทียบท่าสำหรับเรือเฟอร์รี่เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเดินทางระหว่างพัทยา-ชะอำ และหัวหิน เพื่อเป็นแนวทางในการขนส่งรูปแบบใหม่ที่ประหยัดเวลาในการเดินทางจากเดิมกว่า 1 เท่า เนื่องจากหากเดิน ทางในทางบกในระยะทาง 370 กม.จะใช้เวลา 5.3 ชม.

ขณะที่การใช้เรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวที่ความเร็ว 30 น๊อต ในระยะทาง 113 กม.จะใช้เวลาเพียง 3.3 ชม.นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาค ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี โดยจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนสัมปทานดำเนินการ แต่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสม กระแสตอบรับ และผลดี-ผลเสียที่จะเกิดขึ้น

ทางด้าน รศ(พิเศษ) ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา หัวหน้าคณะวิจัยจากจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่าในอดีตเคยมีภาคเอกชนบางรายดำเนินการมาแล้ว แต่พบว่าประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงและนักท่องเที่ยวตอบรับน้อย

ทั้งนี้ เพราะสามารถรับได้เพียงผู้โดยสารแต่ไม่สามารถรองรับสินค้าขนาดใหญ่อย่างยานพาหนะได้ ขณะที่กิจกรรมระหว่างการเดินทางก็มีน้อย ทำให้มีเพียงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเรือเฟอร์รี่มาตรฐานในหลายระดับราคาตั้งแต่ 100-1,000 ล้านบาท ซึ่งเรือขนาดใหญ่นั้นจะรองรับผู้โดยสารได้ถึงกว่า 1,500 คนและยานพาหนะได้อีกนับร้อยคัน

โดยหากมีการลงทุนที่เหมาะสม มีท่าเทียบเรือที่มีมาตรฐาน และกิจกรรมการเดินทางที่น่าสนใจ ก็คาดว่าจะเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์และประหยัดเวลาสำหรับการเดินทางได้ โดยปัจจุบันทางทีมวิจัยกำลังสอบถามความคิดเห็น รวมทั้งแนวทางการจัดการ ทั้งเรื่องของปลอดภัย สิ่งแวดล้อม กิจกรรม มาตรฐานของเรือโดยสาร และจุดคุ้มทุน

ด้านนายสนิท บุญมาฉาย ประธานชมรมเรือท่องเที่ยวพัทยา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวคงหาจุด คุ้มทุนได้ยาก เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูงในการลงทุนทั้งเรือ ค่าเชื้อเพลิง และอื่นๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวมีเพียงเฉพาะกลุ่ม ที่สำคัญคงเป็นเรื่องของความปลอดภัยที่ยังหามาตรฐานไม่ได้หากเกิดอุบัติภัยทางทะเล เนื่องจากการช่วยเหลือเป็นไปอย่างเชื่องช้าและอาจเกิดความเสียหายมากกว่าผลดี

ขณะที่นางบุญฑริก กุศลวิทย์ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ชี้ว่าโครงการดังกล่าวไม่น่าจะเอื้อต่อการท่องเที่ยวเท่าไหร่นัก เพราะจะมีผู้ที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม อีกทั้งคงไม่สามารถตอบโจทย์ในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านในปี 2558 อย่างไรก็ตามมองว่าโครงการน่าจะมีการปักธงไปแล้วว่าจะจัดทำ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ควรเสริมมาตรการที่สำคัญอย่างเรื่องของท่าเทียบเรือที่มาตรฐาน เรือที่มาตรฐาน การเดินทางที่สะดวกสบาย และปลอดภัยเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวทางคณะวิจัย จะได้ไปทำการรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาจุดเด่น-จุดด้อยของโครงการอีกครั้ง ก่อนสรุปผลการศึกษาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระยะเวลา 2 เดือน เพื่อพิจารณาความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น