++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

เอกชนภาคอีสานตื่นตัวรับ AEC ชี้เห็นโอกาสทางธุรกิจมากกว่าผลเสีย-อุปสรรค



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อีสานโพล มข.เผยผลสำรวจเรื่อง “การรับรู้และการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของภาครัฐและภาคเอกชนในอีสาน” พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่าการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลดีมากกว่าผลเสีย อย่างไรก็ตามต้องการให้ภาครัฐสร้างความเข้าใจด้านผลกระทบและเตรียมการรับมือให้มากขึ้น

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจ “การรับรู้และการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของภาครัฐและภาคเอกชนในอีสาน”เลือกสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มหลักทั้งกลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มข้าราชการ จำนวน 407 รายใน 20 จังหวัดภาคอีสาน โดยสำรวจระหว่างวันที่ 23-30 ส.ค. 2555 ผลสำรวจถึงผลกระทบ ด้านธุรกิจจากการเปิดเสรีทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมือ พบว่าทั้งกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มข้าราชการค่อนข้างเห็นไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องโอกาสที่จะได้รับจาก AEC

โดยกลุ่มนักธุรกิจมั่นใจว่าการเคลื่อนย้ายบริการเสรีมีผลดีมากกว่าผลเสียมากที่สุด ร้อยละ 48.9 รองลงมา ว่าการเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี ร้อยละ 44.1 ตามมาด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี ร้อยละ 42.6 การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี ร้อยละ 38.5 และการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ร้อยละ 34.8 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า กลุ่มตัวอย่างนักธุรกิจไม่ถึง 1 ใน 5 เห็นว่าการเปิดเสรีแต่ละด้านจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

เช่น การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรีมีผลเสียมากกว่าผลดีมากที่สุด ร้อยละ 19.3 ส่วนเคลื่อนย้ายบริการเสรีมีผลเสียมากกว่าผลดีน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 9.6 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมองเห็นโอกาสมากกว่าอุปสรรคของกลุ่มนักธุรกิจในอีสาน แต่ก็ยังมีนักธุรกิจบางส่วนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากการเปิดเสรีบางด้าน เช่น การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี และการลงทุนเสรี

ในส่วนกลุ่มข้าราชการค่อนข้างจะมองโลกในแง่ดีกว่ากลุ่มนักธุรกิจจากการเปิดเสรีทั้ง 5 ด้าน กล่าวคือ การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรีมีผลดีมากกว่าผลเสียมากที่สุด ถึงร้อยละ 65.5 รองลงมา ว่าการเคลื่อนย้ายบริการเสรี ร้อยละ 63.0 ตามมาด้วยการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ร้อยละ 55.5 ฯลฯ ทั้งนี้ มีถึงร้อยละ 42.0 ที่เห็นว่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี และเช่นเดียวกับกลุ่มนักธุรกิจที่กลุ่มข้าราชการยังไม่แน่ใจกับผลกระทบที่จะเกิดจากการการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีมากที่สุด ร้อยละ 18.1

เมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมและการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า กลุ่มนักธุรกิจส่วนใหญ่ร้อยละ 39.5 ปรับตัวโดยติดตามข่าวสารและศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ให้มากขึ้น รองลงมาจะพยายามเพิ่มทักษะต่างๆ เช่นด้านภาษา เทคโนโลยี หรือทักษะการทำงาน ร้อยละ 23.2 ตามมาด้วยการหาโอกาสหรือลู่ทางการทำธุรกิจ ร้อยละ 19.5 และอื่นๆ ร้อยละ 3.0 โดยมีผู้ตอบว่าไม่ได้เตรียมความพร้อมหรือปรับตัวด้านใดเป็นพิเศษ ร้อยละ 14.8

ส่วนกลุ่มข้าราชการ ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.1 ปรับตัวโดยติดตามข่าวสารและศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ให้มากขึ้น รองลงมาจะพยายามเพิ่มทักษะต่างๆ เช่น ด้านภาษา เทคโนโลยี หรือทักษะการทำงาน ร้อยละ 26.6 ตามมาด้วยหาโอกาสหรือลู่ทางการทำธุรกิจ ร้อยละ 15.9 และอื่นๆ ร้อยละ 0.7 โดยมีผู้ตอบว่า ไม่ได้เตรียมความพร้อมหรือปรับตัวด้านใดเป็นพิเศษ ร้อยละ 1.8

เมื่อถามว่า กลุ่มตัวอย่างต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านใดมากที่สุด ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า กลุ่มนักธุรกิจต้องการให้ภาครัฐประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลกระทบและการเตรียมพร้อมรับมือ AEC หลายช่องทาง ร้อยละ 43.9 รองลงมาต้องการให้แนะนำลู่ทางการค้าและประกอบธุรกิจแก่ภาคเอกชน ร้อยละ 23.0 และต้องการให้ภาครัฐช่วยด้านการฝึกฝนทักษะต่างๆ ทั้งด้านภาษา เทคโนโลยี และฝีมือแรงงานให้กับทุกภาคส่วน

ส่วนกลุ่มข้าราชการ ต้องการให้ภาครัฐประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลกระทบและการเตรียมพร้อมรับมือ AEC หลายช่องทาง ร้อยละ 58.4 รองลงมาต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการฝึกฝนทักษะต่างๆ ทั้งด้านภาษา เทคโนโลยี และทักษะการทำงานให้กับทุกภาคส่วน ร้อยละ 22.5 ตามมาด้วยแนะนำลู่ทางการค้าและประกอบธุรกิจแก่ภาคเอกชน ร้อยละ 17.3 และด้านอื่นๆ ร้อยละ 1.0

ดร.สุทินระบุว่า จากผลการสำรวจข้างต้นทำให้ทราบว่า กลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มข้าราชการในอีสานค่อนข้างมีการตื่นตัวเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งนี้อาจมาจากข่าวสารและการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ดี ในด้านของความเข้าใจ พบว่ายังมีผู้ที่ไม่เข้าใจเนื้อหาและความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่อชีวิตชาวอีสานในอนาคต ซึ่งกลุ่มนักธุรกิจ ยังคงมองการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในแง่ดี

แต่ก็มีการเปิดเสรีในด้านการลงทุนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่กลุ่มนักธุรกิจยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร ส่วนกลุ่มข้าราชการแม้จะมองโลกในแง่ดีกว่ากลุ่มนักธุรกิจ แต่ก็มีความกังวลในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือมากที่สุด

“ผลจากการสำรวจได้แสดงให้เห็นว่า นอกจากการให้ความรู้และข่าวสารแล้ว ภาครัฐยังต้องวางแผนรับมือทั้งในภาพกว้างและลงลึกถึงแนวทางปฏิบัติให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแผนของประเทศ” ดร.สุทินกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น