++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างดีเอ็นเอ 3R จัดการน้ำ แบบเด็กรุ่นใหม่



ก้าวเข้าสู่ ปีที่ 3 ของโครงการประกวดนวัตกรรมจัดการน้ำด้วย 3R โปรเจคท์แนว CSR ของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water กับเวทีที่มุ่งหวัง ให้เยาวชนไทยในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาได้ระดมความคิดและไอเดียดีๆ มาพัฒนาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมให้เกิดการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิด 3R หรือ Reduce, Reuse, Recycle มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญสามารถนำไปใช้ได้จริงกับชุมชนและอุตสาหกรรม





ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับว่าได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ และการนำไปใช้ได้จริง เป็นสิ่งสำคัญ เพียงแค่มองสิ่งต่างๆ รอบตัวเราและคิดว่าจะลดการใช้ จะนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือจะหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไร ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ที่เข้าตากรรมการพร้อมๆ กัน

ทีม Bio-Agro PSU นักประดิษฐ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย นายพิพัฒน์ จันทร์ประดิษฐ์ กับผลงานชนะเลิศการประกวดในปีที่ 2 ในชื่อสิ่งประดิษฐ์ว่า 3-Section for Biogas and Water Reused เล่าว่า คอนเซ็ปต์ของสิ่งประดิษฐ์ คือ การผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียครัวเรือนด้วยปฏิกรณ์ 3-Section และการใช้ประโยชน์ในการปลูกผักแบบน้ำหยด และการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน โดยไอเดียที่ว่านี้ มีจุดเริ่มต้นจากการที่เห็นถึงปัญหาน้ำเสียจากการบริโภคของครัวเรือนในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน จึงมีแนวคิดการนำน้ำเสียที่เกิดขึ้นและไม่มีการจัดการที่ดีเท่าที่ควรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการผลิตก๊าซชีวภาพ สำหรับใช้เป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือน

ส่วนน้ำเสียที่ผ่านการผลิตก๊าซชีวภาพหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ในการปลูกผักแบบน้ำหยดและปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน โดยประดิษฐ์ถังปฏิกรณ์ ซึ่งสามารถแยกได้เป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นการหมักใบไม้แห้งร่วมกับมูลสุกร เพื่อใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ ส่วนที่สองของถังเป็นส่วนรองรับและเก็บน้ำเสีย สำหรับใช้ในการพ่นฝอยและหมุนเวียนน้ำเสียด้วยจักรยานปั๊มน้ำบนวัสดุหมักจากส่วนที่ 1 วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน แล้วปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการผลิตก๊าซชีวภาพลงในส่วนที่สามของถัง ซึ่งจะนำน้ำส่วนที่สามนี้หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพในการปลูกผักกวางตุ้งและและการปลูกโดยไม่ใช้ดิน ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ สามารถนำน้ำเสียกลับมาใช้ได้โดยตรง (Reuse) 100%

โดยผ่านการป้อนเข้าถังปฏิกรณ์ 3 section เพื่อใช้พ่นฝอยบนใบไม้แห้งที่ผสมกับมูลสุกร ซึ่งกระบวนการหมักจะมีการแปรรูปจากน้ำเสียเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยหมักชีวภาพ และก๊าซชีวภาพ สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ได้ 100 % โดยก๊าซชีวภาพสามารถนำไปใช้หุงต้มในครัวเรือน ปุ๋ยน้ำชีวภาพใช้ในการรดน้ำผักกวางตุ้งแบบน้ำหยดและการปลูกผักกวางตุ้งโดยไม่ใช้ดิน ซึ่งเป็นการลดการใช้น้ำ (Reduce) ได้อีก 100% เช่นกัน

มาต่อกันด้วย การจัดการน้ำหลากจากการทำนาเกลือสินเธาว์แบบตาก จากทีมหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ นายประวิทย์ อ่วงอารีย์ ตัวแทนนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การทำนาเกลือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ซึ่งจากการสำรวจสถานที่ที่มีการทำนาเกลือ พบว่าน้ำฝนสามารถชะล้างนาเกลือให้ไหลหลากลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ ได้แม้จะมีคันกั้นก็ตาม ซึ่งส่งผลต่อการทำลายคุณภาพน้ำผิวดินและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของการจัดการน้ำหลากจากการทำนาเกลือเพื่อลดการแพร่กระจายความเค็มจากดินสู่แหล่งน้ำผิวดิน

โดยนำหลักการออกแบบเชิงนิเวศ (Ecological Engineering Design) ทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่กระจายของเกลือสู่น้ำหลากด้วยการสร้างแบบจำลองพื้นที่นาเกลือสินเธาว์แบบตากขึ้น เพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์การแพร่ของมวลเกลือที่ผ่านพื้นที่สัมผัสระหว่างดินเค็มกับน้ำ โดยจำลองใน 3 สถานการณ์ คือ แผ่นพลาสติกที่สมบูรณ์ไม่มีรอยขาด แผ่นพลาสติกที่มีรอยขาด 10% และไม่ปูพลาสติกเลย เพื่อประเมินประสิทธิภาพของวิธีการที่สามารถเก็บกักเกลือไว้ได้ในดินเมื่อมีการปูพลาสติก

จากผลที่ได้นำมาใช้ในการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการลงทุนในขั้นตอนที่สี่ คือ วิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าด้วยแนวคิดการจัดการน้ำหลากนี้มีต้นทุนในการดำเนินการประมาณ 22,832 บาท/ไร่ โดยสามารถสร้างมูลค่าจากการป้องกันเกลือไม่ให้ละลายไปกับน้ำและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่เพื่อการเกษตรได้กว่า 39,548 บาท/ไร่/ปี ดังนั้นจึงคืนทุนได้ในระยะเวลา 0.561 ปี เมื่อกำหนดอายุการใช้งานของพลาสติกที่ 2 ปี ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรเกลือที่จะไหลไปกับน้ำหลาก ทำให้ผู้ประกอบอาชีพการทำนาเกลือมีผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย





ตบท้ายด้วยสิ่งประดิษฐ์แบบที่ต้องพูดว่าทึ่งจริงๆ คือ ระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่สำหรับชักโครกชนิดถังฟลัชจากอ่างล้างหน้า ของทีม K.RAMP_WATER ผลงานของน้องๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายกิตติ ชูวัฒนานุรักษ์ ตัวแทนทีมนักประดิษฐ์ กล่าวว่า คนเราจะใช้น้ำจากอ่างล้างหน้า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ลิตรต่อครั้ง ประมาณ 6-12 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งจะต้องใช้น้ำจากอ่างล้างหน้าโดยเฉลี่ย 60 - 120 ลิตรต่อชั่วโมง จะเห็นได้ว่ามีน้ำที่ต้องสูญเสียเป็นปริมาณมาก และคิดว่าไม่ควรจะปล่อยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ น่าจะสามารถนำไปใช้ต่อได้อีก โดยการนำน้ำไปใช้ในชักโครกแบบฟลัช

เนื่องจากการชักโครกเป็นการชำระอย่างเดียว ดังนั้นการนำน้ำจากอ่างล้างหน้าไปใช้ต่อในการชักโครกนั้นจะช่วยประหยัดน้ำสูงสุด 60-120 ลิตรต่อชั่วโมง ทางทีมจึงเริ่มนำน้ำจากอ่างล้างหน้ามาผ่านการบำบัดด้วยวิธีการกรองน้ำมาเก็บไว้ในถังพักเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสูบเข้าไปยังถังฟลัชเมื่อเกิดการใช้ชักโครกเกิดขึ้น โดยมีส่วนประกอบหลักๆ อยู่ 3 ส่วน คือ ส่วนระบบกรอง ส่วนระบบไฟฟ้า และส่วนถังพักน้ำ โดยที่ส่วนระบบกรองทำหน้าที่กรองสารที่ทำให้เกิดสีและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งตะกอนขนาดเล็ก ส่วนระบบไฟฟ้าทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของน้ำภายในถังพักน้ำ แล้วตรวจวัดระดับน้ำในชักโครกเพื่อให้เต็มอยู่เสมอ

ส่วนสุดท้าย คือ ส่วนถังพักน้ำมีหน้าที่เก็บพักน้ำจากน้ำประปาและน้ำที่ผ่านการกรองจากอ่างล้างหน้า กลไกการไหลเวียนของน้ำนั้นจะนำน้ำจากอ่างล้างหน้าเข้าสู่ระบบกรองเพื่อกำจัดสารที่ทำให้เกิดสีและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์แล้วเก็บไว้ที่ถังพักน้ำ ซึ่งถังพักน้ำจะต้องมีน้ำไหลเวียนรออยู่ โดยมีปริมาตรเท่ากับการใช้น้ำของชักโครก 1 ครั้ง โดยการเปิดวาล์วน้ำเพื่อใส่น้ำประปาเพิ่มเติม จากนั้นเมื่อมีการกดใช้ชักโครกเกิดขึ้น ระบบไฟฟ้าจะสั่งงานปั้มเพื่อเติมชักโครกให้เต็มอีกครั้ง ซึ่งผลการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ปรากฎว่าสามารถประหยัดน้ำได้สูงสุดถึง 67 % จากการใช้น้ำจากชักโครก ทำให้สิ่งประดิษฐ์นี้มีความคุ้มค่าภายในระยะเวลา 22 เดือน ช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากขึ้น

คงเห็นกันแล้วว่า ไอเดียดีๆ ของเยาวชนไทย ที่สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์แล้วนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็สามารถทำให้พวกเราทุกคนมีน้ำใช้กันต่อไป แต่คงจะดีขึ้นมาก หากเราทุกคนมีความเข้าใจถึงคุณค่าของน้ำ และตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และสามารถนำหลักการ 3R อย่าง Reduce, Reuse, Recycle ไปประยุกต์ใช้กับการใช้น้ำของเราในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมคงหมดไปจากโลกของเราเสียที

ดังนั้นจึงอยากจะขอเชิญชวนน้องๆ นิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการประกวดนวัตกรรมการจัดการน้ำด้วย 3R ปี3 ของ อีสท์ วอเตอร์ นอกจากจะได้ประสบการณ์แนวคิดใหม่ๆ จากเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้ชนะเลิศยังได้รับเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1,000,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทัศนศึกษาดูงานการจัดการน้ำระดับนานาชาติอีกด้วย

เพียงรวบรวมทีมให้ได้ทีมละ 2-5 คน พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน และดาวน์โหลดใบสมัครที่ www.eastwater.com ได้ตั้งแต่บัดนี้ - 23 กันยายน 2555 ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-272-1600 ต่อ 2412

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น