++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

รศ.ดร.ชิตณรงค์ นักวิจัยเด่น มวล.กับบทความวิจัยกว่า 30 เรื่อง ใน 12 ปี




   รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นนักวิจัย ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการผลิตผลงานวิจัยทางด้านอนุภาคแม่เหล็กนาโน ฟิล์มบางแม่เหล็ก และวัสดุคอมโพสิตแม่เหล็ก ให้มีมาตรฐานเผยแพร่ในระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มดัชนีความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และตั้งเป้าหมายให้จำนวนบทความวิจัยต่อจำนวนอาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อยู่ในระดับสากล




       รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ เป็นคนจังหวัดสงขลา จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ มัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร โดยได้รับทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ตั้งแต่ชันมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงระดับปริญญาเอก
     
       จากความตั้งใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จึงสนใจที่จะศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสาขาฟิสิกส์ และจบการศึกษาทางด้านนี้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก
     
       โดยผลงานวิจัยกว่า 30 เรื่อง ได้รับแรงบันดาลใจและแนวคิดจากการอ่านบทความวิจัยในวารสารวิชาการที่หลากหลาย ทำให้มีความรู้และมุมมองทางวิชาการที่ใหม่อยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ดูตัวอย่างจากบุคคลทุกอาชีพที่รักษาหน้าที่ ทำงานด้วยความมุ่งมั่น รวมทั้งจากภาพยนตร์ แล้วปรับมาใช้กับตนเองในฐานะของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องทำวิจัยควบคู่ไปกับการสอนนักศึกษาด้วย
     
       สำหรับแนวทางในการทำงานด้านการวิจัย/การเรียนการสอน รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ เล่าให้ฟังว่า เป็นคนใช้ชีวิตให้เรียบง่าย แต่ใช้ความคิดให้ซับซ้อน ทำงานด้วยความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบสูง โดยใช้ทรัพยากรและงบประมาณให้น้อย แสวงหาผลประโยชน์แค่เพียงพอ แต่ไม่หยุดแสวงหาทางแก้ปัญหาและพัฒนางาน
       "นับตั้งแต่เริ่มทำงานในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ได้สอนวิชาฟิสิกส์พื้นฐานให้กับนักศึกษา ควบคู่ไปกับการทำวิจัยเรื่องแม่เหล็ก โดยมีบทความวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ ที่มีค่า ISI Impact Factor จำนวน 30 เรื่อง ใน 25 วารสาร จาก 15 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ จีน และ ญี่ปุ่น "
     
       รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ เล่าต่อว่า ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจในฐานะครูดีเด่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2548 รางวัลทุนช่วยเหลือการวิจัย จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ประจำปี 2545 และ ปี 2554 โดยได้รับมอบจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ตามลำดับ รวมทั้งทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยจำนวน 10 ทุน อีกด้วย
     
       หากประเทศไทยมีอาจารย์และนักวิจัยที่มีคุณภาพและความมุ่งมั่นในงานสอนและถ่ายทอดความรู้ ควบคู่ไปกับการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับและเผยแพร่ในระดับนานาชาติอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล แล้ว เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ไม่แพ้ชาติใดๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น