++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

2 บัณฑิต 1 ว่าที่เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เเนะเคล็ดลับเรียนให้ได้ดี

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    
       เ หล่านิสิต นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 ใกล้ปิดฉากการเรียนรู้ในระดับปริญญาตรีประจำปีการศึกษา 2551 กันในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขณะเดียวกันนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ใกล้จะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2552 แล้ว
      
       หลายๆ คนยังไม่รู้ว่าวิธีการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นควรจะเป็นอย่างไร ไลฟ์ ออน แคมปัส ไปพูดคุยกับ 2 บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และหนึ่งว่าที่บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ถึงเรื่องพวกเขาเรียนอย่างไร...
      

กิตติธัช มานะกุล
   
      
       ต้องเข้าใจตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน
      
       “กิตติธัช มานะกุล” อดีตนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้จบการศึกษาระดับเกียรตินิยม อันดับหนึ่งเหรียญทองด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.94 ปัจจุบันกิตติธัชทำงานเป็นวิศวกรอยู่ที่หน่วยงานเอกชนแห่งหนึ่ง
      
       กิตติธัชเล่าว่าตัวเขาเองคิดว่าการที่เขาเรียนได้ดี เพราะเขาเลือกเรียนในสิ่งที่เขาชอบ และสิ่งที่เขาชอบนั้นก็คือเขามีความฝันอยากจะเป็นนักออกแบบระบบคอมพิวเตอร์
      
       “ผมรู้ตัวว่าผมชอบทางด้านนี้มาตั้งแต่เรียนอยู่ม.ปลายแล้ว ก็ตั้งใจที่จะเรียนเพื่อเป็นวิศวกรทางด้านนี้ให้ได้ รวมทั้งที่เรียนแล้วได้เกียรตินิยมนี่ก็เป็นความตั้งใจอย่างหนึ่ง เพราะคิดว่าเป็นของขวัญให้พ่อ ให้แม่ อย่างหนึ่ง ซึ่งวิธีเรียนผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องมีเทคนิค”
      
       เทคนิคการเรียนของกิตติธัชนั้นเจ้าตัวบอกว่าสิ่งที่สำคัญอย่างแรกเมื ่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปีแรก คือเรื่องของการปรับตัว เพราะการเรียนจะไม่เหมือนกับตอนเรียนม.ปลายเลย การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นจะไม่มีคนมาบังคับให้ต้องเข้าเรียน ดังนั้นจะต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าขณะนี้จะต้องทำอะไร
      
       “ผมทำกิจกรรมกับพี่ๆ ตลอดนะไปรับน้อง ทำนู่นทำนี่ตลอด แต่ดูว่าทำแล้วไม่ขัดกับเวลาเรียน ที่สำคัญเวลาอยู่ในห้องเรียนจะพยายามตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเรียนแล้วเข้าใจทุ กครั้ง เก็บรายละเอียดสิ่งที่อาจารย์สอนให้ได้ ถ้าสิ่งใดไม่เข้าใจก็จะถามตอนนั้นเลยหรือหลังหมดชั่วโมง ไม่ให้สิ่งที่ไม่เข้าใจค้างคา”
      
       เจ้าตัวย้ำอีกว่าการเรียนของเขาในห้องจะมีเพื่อนๆ บางคนที่ไม่เข้าใจ และสอบถามกันเอง หากเพื่อถามแล้วเขาไม่สามารถตอบได้ แสดงว่าหัวข้อนั้นเขาเองก็ยังไม่เข้าใจ ก็จะพยายามหาทางที่จะเข้าใจในหัวข้อนั้นๆ ให้ได้ ด้วยการถามเพื่อคนอื่นๆ หากไม่ตรงกันก็จะไปถามอาจารย์ผู้สอน
      
       “ผมเองเป็นคนที่ไม่ชอบท่องจำอะไร แต่ชอบที่จะเรียนแล้วเข้าใจ ดังนั้นจะต้องหาข้อแตกต่างอย่างมีระบบ คืออย่างถ้าผมเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ได้แล้วหนึ่งภาษา ผมก็จะหาทางเขียนโปรแกรมนี้ด้วยอีกภาษาหนึ่งให้ได้ เพื่อที่จะหาข้อแตกต่างว่าอะไรดีแล้วที่ว่าดีนั้น ดีเพราะอะไร ถ้าไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร ทุกอย่างจะต้องมีเหตุก่อนถึงจะมีผลตามมาครับ”

   
วรรณพร ศักดิ์ศรีวัฒนา
       ทบทวนหลายๆ ครั้ง
      
       “วรรณพร ศักดิ์ศรีวัฒนา” อดีตนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้จบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง 4.00 เล่าว่าเธอเองนั้นมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเรียนทางด้านการโรงแรม เพื่อที่หลังจบการศึกษาจะกลับไปขยับขยายกิจการรีสอร์ตของครอบครัว
      
       “เห็นคุณแม่กับคุณยายทำมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็กอยู่เลย เริ่มจากเป็นร้านอาหาร ก็ขยับขยายมาเป็นที่พักแบบรีสอร์ต ในปัจจุบัน เหมือนเป็นเพราะความที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กก็เลยกลายเป็นความชอบและตั้งเป้ าไว้ตั้งแต่ยังเรียนม.ปลายอยู่เลยว่าจะเรียนทางด้านการโรงแรม เพื่อที่เมื่อเรียนจบแล้วจะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจที่บ้าน”
      
       เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนว่าตัวเองอยากจะทำอะไรหลังจบการศึกษาดังนั้นเม ื่อเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ในปีแรกวรรณพรจึงพยายามเข้าห้องเรียน เพื่อเรียนวิชาเดียวกันเพื่อจะได้พบผู้สอนวิชาเดียวกันครบทุกคน และจับประเด็นของอาจารย์แต่ละคนว่าใครเน้นย้ำตรงจุดไหนเป็นพิเศษ
      
       “อาจารย์แต่ละคนจะมีวิธีการสอนไม่เหมือนกัน แล้วเวลาสอบอาจารย์ก็จะออกข้อสอบร่วมกัน เลยคิดว่าเข้าทุกห้องแม้จะเป็นวิชาเดียวกันดีกว่า เวลาเรียนก็จับประเด็นของอาจารย์แต่ละท่านได้ แล้วก็เหมือนกับเราได้ทบทวนหลายๆ ครั้งด้วย”
      
       นอกจากนี้วรรณพรบอกว่า เวลาเข้าเรียนแล้วหากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจในบทเรียนก็จะถามอาจารย์ผู้สอน ทันทีไม่ปล่อยผ่านไปเฉยๆ อีกทั้งหากเพื่อนในกลุ่มมีข้อสงสัยประเด็นอะไรและถามกันเอง ปรากฏว่าไม่มีใครสามารถอธิบายได้หรืออธิบายแล้วไม่ตรงกัน แสดงว่าประเด็นนั้นๆ ไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ ต้องกลับไปถามอาจารย์อีกครั้ง
      
       “ถ้าเรียนแบบเข้าใจ เมื่อมีใครถามเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเรียน หรือถามเวลาติวด้วยกัน เราก็สามารถที่จะตอบได้ แต่ถ้าเราตอบไม่ได้ก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าในประเด็นนั้นเราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหานั้นๆ เวลาสอบในข้อสอบถามอะไร เราก็สามารถอธิบายได้อย่างมีเหตุและผล”

ลลิลทิพย์ ชัยมโนนาถ
   
       จัดระบบการจดจำ
      
       “ลลิลทิพย์ ชัยมโนนาถ” นิสิตภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ใกล้จบการศึกษาปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.95 เล่าว่า เธอค้นพบการเข้าเรียนในห้องเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญมากหลังจากในช่วงปีหนึ่ง แทบจะไม่เข้าเรียนเลยในช่วงปีแรกของการเป็นน้องใหม่ แต่ช่วงนั้นต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องตามงานจากเพื่อน ว่าอาจารย์สั่งงานอะไรหรือเปล่า แล้วเวลาใกล้สอบมากๆ ก็อ่านหนังสือเอา
      
       “การมาเร่งอ่านตอนใกล้สอบนี่ทำให้รู้ว่าควรเข้าห้องเรียน มิเช่นนั้นอาจตายได้เพราะเร่งอ่านหนังสือเป็นพันๆ หน้าเลย นั่นคือการค้นพบเลยว่าต้องเข้าห้องเรียน จะดีกว่ามาเร่งอ่านตอนสอบ”
      
       หลังตั้งหลักได้ว่าควรเข้าเรียนในทุกๆ วิชา แล้ว เมื่อเข้าห้องเรียนลลิลทิพย์บอกต้องตั้งใจเรียนให้เต็มที่ เนื่องจากหากตั้งใจเรียนในห้องเรียนแล้วจะจับทิศทางได้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งสำค ัญที่อาจารย์ผู้สอนเน้นย้ำ
      
       “สมมติว่าหนังสือมี 10 หน้า ถ้าไม่เข้าเรียนก็ต้องอ่านทั้ง 10 หน้า แต่ถ้าเข้าเรียนจะจับทางได้ว่าอาจารย์ให้ความสนใจในเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ก็จะจดเลคเชอร์ตามด้วยความเข้าใจของตัวเอง และถ้าเรื่องไหนที่ไม่เข้าใจก็จะถามเพื่อนก่อน ถ้าเพื่อนบอกไม่แน่ใจนะ เราก็จะถามอาจารย์ในคาบนั้น แล้วจดอย่างที่เราเข้าใจ คือจะถามในคาบเรียนเลยหรือจะถามนอกห้องก็ได้ แต่ต้องถามเพื่อให้เข้าใจในบทเรียน”
      
       ลลิลทิพย์บอกว่าคนเราเมื่อเคยเข้าใจแล้วครั้งหนึ่งแบบจริงๆ แล้ว พอมาอ่านอีกรอบก็จะอ่านอย่างเข้าใจแล้วว่าเนื้อหาหมายถึงอะไร และตัวเธอจะอ่านหนังสือแบบอ่านแล้วจัดระบบอีกที
      
       “พออ่านเข้าใจก่อนก็จะจัดระบบ เหมือนตัวเองถ้าเป็นอาจารย์จะพูดในสิ่งที่เราอ่านให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไร โดยการจัดระบบข้อมูลให้ง่าย ทำเหมือนกับจัดเป็นแผนผังชาร์ต เหมือนเป็น mind mapping ไป เมื่อมีหัวข้อหลักแล้ว เรื่องที่ตามมาก็น่าจะเป็นอย่างนี้ แล้วตัวเองจำแบบเป็นประเด็นๆไป พอประเด็นนี้เราเข้าใจอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะอธิบายได้เมื่ออาจารย์ถามในประเด็นนี้ๆ”
      
       การจดจำอย่างมีระบบนั้น ลลิลทิพย์ยืนยันว่าช่วยให้สามารถทำข้อสอบได้มาก เพราะการสอบนั้นมีเวลาจำกัด ต่อให้ท่องจำได้ทั้งหมดก็ไม่สามารถที่จะเขียนลงไปในข้อสอบได้ทั้งหมด ต้องดูว่าในข้อสอบอาจารย์ต้องการประเด็นอะไร ก็จะเลือกดึงประเด็นนั้นๆ มา แล้วจัดระบบอีกครั้งแล้วเขียนข้อสอบให้อาจารย์อ่านแล้วเข้าใจ
      
       กรณีเป็นข้อสอบประยุกต์ ลลิลทิพย์บอกก็ใช้ระบบจัดข้อมูลเช่นเดียวกัน โดยการเขียนตอบข้อสอบประยุกต์นั้นจะต้องตอบอยู่บนพื้นฐานที่มีทฤษฎีอ้างอิง ไม่เป็นความคิดเห็นแบบลอยๆ ของตัวเอง
      
       “ถ้าตอบเป็นแบบความคิดเห็น ก็ต้องสามารถที่จะอธิบายเหตุอธิบายผลได้ว่าเป็นเพราะอะไรเกิดจากอะไร ทำให้การตอบมีน้ำหนักมากขึ้น แม้ว่าเราจะตอบต่างจากคนอื่นๆ แต่คิดว่าเมื่อเราตอบอบย่างมีเหตุผล อาจารย์ก็เข้าใจในสาเหตุที่เราตอบเช่นนั้น ว่าเราตอบแบบนี้ๆ เพราะอะไร ดังนั้นการจัดระบบข้อมูลจากทฤษฎีสามารถที่จะเอามาใช้ตรงนี้ได้ การจัดระบบข้อมูลย่อมดีกว่าการเขียนที่แบบไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว”

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000014975

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น