++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การบัญญัติศัพท์

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช    
คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักราชบัณฑิตยสถานจากพจนานุกรม ที่จริงราชบัณฑิตยสถานยังจัดทำศัพท์บัญญัติในสาขาวิชาต่างๆ อีกด้วย งานของราชบัณฑิต และภาคีสมาชิกส่วนใหญ่จึงทำเป็นคณะคือ มีคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เฉพาะทาง คณะกรรมการจัดทำสารานุกรม และคณะกรรมการชุดอื่นๆ อีกมากมาย ในสำนักธรรมศาสตร์และการเมืองมีคณะกรรมการ 21 คณะ สำนักวิทยาศาสตร์มี 23 คณะ และสำนักศิลปกรรมมี 37 คณะ และก็ยังมีคณะกรรมการกลางพิจารณาศัพท์บัญญัติที่บัญญัติต่างกันอีกด้วย ผมเป็นประธานคณะกรรมการนี้
      
        เรื่องมีอยู่ว่ามีศัพท์หลายคำที่บัญญัติต่างกัน จนคนเกิดความสับสน ส่วนมากเป็นศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งรวมถึงแพทยศาสตร์ด้วย บางคำก็ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษหรือภาษากรีก
      
        อย่างคำว่า activate ศัพท์แพทยศาสตร์ใช้ว่า “ปลุกฤทธิ์” ศัพท์เภสัชศาสตร์ใช้ “ก่อฤทธิ์” “ก่อกัมมันต์” ศัพท์วิทยาศาสตร์ใช้ว่า “ใช้พลังงาน” เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า “ก่อฤทธิ์” นั้นไม่เหมาะเพราะ “ก่อ” หมายถึง ทำให้เกิดขึ้น แต่ศัพท์คำนี้หมายถึงมีฤทธิ์อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องกระตุ้นให้เกิดฤทธิ์ จึงใช้คำว่า “ปลุกฤทธิ์”
      
        มีคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเช่น “clone” ส่วนมากจะทับศัพท์กัน หากจะใช้ภาษาไทยก็น่าจะเป็น “สำเนาพันธุ์” แต่ก็ยังเถียงกันอยู่ ไม่เป็นที่ยุติ
      
        บางคำเป็นคำพื้นๆ ที่คุ้นเคยกันดี และเรียกทับศัพท์จนติดปากคือคำว่า “lotion” แต่ทางแพทยศาสตร์ใช้ว่า “ยาชโลม” นายเภสัชศาสตร์ใช้ “ยาทาผิว” ทางคณะกรรมการฯ ก็อนุโลมให้ใช้ได้ทั้งสามคำคือ “โลชัน” “ยาชโลม” และ “ยาทาผิว”
      
        คำว่า “sperm” ศัพท์แพทยศาสตร์ใช้ “น้ำอสุจิ” “น้ำกาม” ทางเภสัชศาสตร์ใช้ “ตัวอสุจิ” คำนี้ใช้ได้ทั้งสามคำ
      
        คำว่า “community” มีบัญญัติต่างกันคือ “ชุมนุมสิ่งมีชีวิต” “ชุมชีพ” และ “ชุมชน” คณะกรรมการฯ ให้ใช้คำว่า “ชุมชีวิน” แต่เวลานี้คำว่า “ชุมชน” ใช้กันจนติดแล้ว จึงไม่แน่ใจว่าจะมีใครเปลี่ยนไปใช้คำว่า “ชุมชีวิน” อีก
      
        มีคำศัพท์บางคำที่มี “free” และ “independent” นำหน้า ทางราชบัณฑิตยสถานพิจารณาว่า “free” ให้ใช้คำว่า “เสรี” ส่วน “independent” ให้ใช้คำว่า “อิสระ”
      
        ศัพท์บางคำเมื่อแปลแล้วก็ยังฟังดูแปลกๆ และทำให้ไม่เข้าใจความหมาย เช่น “gallery forest” ที่แปลว่า “ป่าระนาม” เป็นต้น ถ้าใช้คำว่า “ป่าขนาบน้ำ” ก็ยังฟังดูเข้าใจง่ายกว่า
      
        คำว่า “free” ที่ยกมาไว้ว่าหมายถึง “เสรี” นั้น มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงแปล “Freedom of the Seas” ว่า “เสรีภาพแห่งทะเล” มีผู้แย้งว่า เสรีในภาษาบาลีหมายความว่า เสเพล แต่เสด็จในกรมฯ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ก็ทรงแก้ว่า เสรีหมายถึง เป็นอิสระ และ freedom ก็แปลว่า “เสรีภาพ” ใช้กันเรื่อยมาจนทุกวันนี้
      
        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียก The United States of America ว่า “สหกรมรัฐอเมริกา” สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงใช้ว่า “สหการีรัฐอเมริกา” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดัดแปลงเป็น “สหปาลีรัฐอเมริกา” เพื่อให้ได้ความว่า ปกครองร่วมกัน มาภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น “สหรัฐอเมริกา”
      
        คำว่า culture นั้น แต่เดิมใช้ว่า “พฤทธิธรรม” แต่ฟังดูหนักๆ ไม่รื่นหู จึงมีการเปลี่ยนเป็น “วัฒนธรรม” ซึ่งดูมีจังหวะรื่นหูมากขึ้น
      
        เสด็จในกรมฯ ทรงบัญญัติศัพท์หลายคำ ส่วนมากเราได้ใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น คำว่า “นโยบาย” (แต่เดิมใช้ว่า รัฏฐาภิปาลโนบาย) คำว่า “ปฏิวัติ” (เดิมใช้ “พลิกแผ่นดิน”) มีบางคำที่ไม่ติดเช่น power ทรงใช้ “ภูว” เพื่อเลียนเสียงภาษาอังกฤษ หรือคำว่า automatic ซึ่งควรแปลว่า “อัตโนวัติ” แต่ก็มีผู้ใช้ว่า “อัตโนมัติ” จนติดปากไปแล้ว
      
        มีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น “implement” และ “execute” เสด็จในกรมๆ ก็ทรงใช้คำว่า “อนุวัต” สำหรับ implement และ “ปฏิบัติ” สำหรับคำว่า “execute”
      
        ศัพท์คำเดียวกัน แต่มีผู้ใช้คำต่างกันนั้นมีมานานแล้ว เช่น ทหารอากาศเห็นว่า speed คือ ความเร็ว และคำว่า อัตราเร็วนั้นคือ velocity ในเวลานั้นราชบัณฑิตยสถานใช้คำว่า “อัตราเร็ว” สำหรับคำว่า speed เสด็จในกรมฯ ทรงวินิจฉัยว่า velocity หมายถึงอัตราเวลาเร็ว ดังนั้นที่ราชบัณฑิตยสถานใช้คำว่า “อัตราเร็ว” สำหรับคำว่า speed นั้น จึงเหมาะสมแล้ว
      
        คำคำหนึ่งที่มีผู้สงสัยกันมามากว่าควรใช้คำใดดี คือ image บางคนก็แปลว่า “ภาพพจน์” เสด็จในกรมฯ ทรงใช้คำว่า “ภาพลักษณ์” แต่คนก็ยังนิยมใช้ “ภาพพจน์” กันอยู่จนทุกวันนี้
      
        งานบัญญัติศัพท์เป็นงานหลักของราชบัณฑิตยสถาน และเป็นงานสำคัญ จะเห็นได้ว่าเราต้องบัญญัติศัพท์ภาษาไทยขึ้นมาก เนื่องจากความรู้สมัยใหม่มาจากโลกตะวันตก แต่ก็น่าทึ่งว่า ภาษาบาลีและสันสกฤตอันเป็นภาษาโบราณ ก็ยังสามารถหาความหมายมาอธิบายได้
      
        ผม เป็นนายกราชบัณฑิตยสถานมาจะครบกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งในเดือนเมษายนนี้ ผมได้รับความรู้มากมายจากราชบัณฑิตฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ แม้จะไม่เป็นนายกราชบัณฑิตฯ แล้ว ผมก็ยังมีฐานะเป็นราชบัณฑิตอยู่ และก็จะทำงานช่วยราชบัณฑิตยสถานต่อไป ผมดีใจที่มีคำบางคำที่ผมใช้แล้วก็มีผู้ใช้กันจนทุกวันนี้ แม้จะมีการแก้ไขไปบ้างก็ตาม เช่น คำว่า “โลกานุวัตร” (เปลี่ยนเป็นโลกาภิวัตน์) คำว่า “ภาคประชาชน” และคำว่า “โปร่งใส” เป็นต้น

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000017357

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น