โดย สามารถ มังสัง
สิบสี่กุมภาเวียนมาถึง
เป็นวันซึ่งหนุ่มรอขอรักสาว
ถือโอกาสวาดฝันอันยืดยาว
หวังให้สาวหลงเชื่อเป็นเหยื่อกาม
หากสาวใดใจแตกแยกไม่ออก
ระหว่างหลอกกับจริงยิ่งน่าขาม
ตกเป็นเหยื่อแห่งมิจฉาศรัทธาทราม
โลกประณามเป็นกากีมีแต่ตรม
ด้วยเหตุที่วาเลนไทน์ใช่ไทยแท้
เป็นเพียงแต่เหตุอ้างเพื่ออุ้มสม
คนไทยควรเป็นไทใจนิยม
ไม่หลงลมคำอ้างวาเลนไทน์
ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มาตลอด คงจะแปลกใจไม่มากก็น้อยที่ได้เห็นข้อเขียนที่ขึ้นต้นด้วยบทกวีแบบนี้ เพราะไม่เคยคิดว่าผู้เขียนจะนำเรื่องนี้มาเขียน
แต่ถ้าท่านผู้อ่านที่เคยได้ยินได้ฟังรายการกวี ซึ่งจัดโดยคุณนคร มังคลายน ทางวิทยุยานเกราะ 890 เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ก็คงจะเคยได้ยินบทกวีของผู้ใช้นามปากกา ส.วงศานุรักษ์ ก็คงไม่แปลกใจเพราะนั่นคือกวีที่ผู้เขียนแต่งเอง และได้ถูกนำเสนอทางรายการนี้มาเป็นระยะๆ
ดังนั้นข้อเขียนวันนี้ก็คือ การปลุกจิตแห่งความเป็นกลอนให้เกิดอีกครั้ง เป็นการแก้ความเบื่อหน่ายทางการเมือง และเป็นการสะท้อนปัญหาสังคม ในทำนองเดียวกับที่เคยนำเสนอทางยานเกราะในอดีต
ส่วนว่าเหตุที่ได้หยิบเรื่องของวันวาเลนไทน์มาเขียน ก็ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. สังคมไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่เกิดปัญหาศีลธรรมเสื่อม และนำไปสู่ปัญหาการกระทำผิดคดีอาญาทางเพศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการแก้ไขป้องกันให้ตรงกับต้นเหตุแห่งการเกิดปัญหา
2. ผู้คนในสังคมไทยวันนี้มองไม่เห็นหรือมองข้ามเหตุให้เกิดปัญหาศีลธรรมเสื่อม จะเห็นได้จากการที่ปล่อยให้บุตรหลานเที่ยวเตร่สถานบริการในยามค่ำคืน และแต่งตัวยั่วโลกีย์อย่างโจ่งแจ้งมากขึ้น
3. ค่านิยมในการส่งเสริมให้วัยรุ่นรักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่ามมีน้อยลง และอาจพูดได้ว่าในบางครั้งไม่เหลือให้เห็นแล้วด้วยซ้ำ
4. ในทุกวันนี้วัยรุ่นแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเสียตัวในวันวาเลนไทน์ เหมือนยอมรับกันอย่างเปิดเผยว่า เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว และวัยรุ่นประเภทนี้ไม่มองว่าเป็นความผิดปกติของการทำเช่นนี้
ด้วยเหตุ 4 ประการที่ว่านี้เองที่ทำให้ต้องเขียนเรื่องนี้
ส่วนว่าเขียนแล้วจะช่วยให้ผู้อ่านได้ประโยชน์จากการอ่านมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับ 2 เหตุปัจจัย คือ
1. อุปนิสัยใจคอของแต่ละคนที่แตกต่างกัน
2. ปัจจัยแวดล้อมอันเป็นตัวช่วยอุปนิสัยดั้งเดิมมีความเข้มมากขึ้น เมื่อแสดงออกทางพฤติกรรมโดยผ่านทางการพูดและการกระทำ
ถ้าเผอิญท่านผู้อ่านที่ยังยึดมั่นในค่านิยมเก่าๆ ที่สอนให้เด็กสาวรักนวลสงวนตัวดังที่ปรากฏ ในคำสอนสุนทรภู่เรื่องสุภาษิตสอนหญิง ที่ว่า
ถ้ารักจริงให้สู่ขอต่อพ่อแม่
อย่าวิ่งแร่หลงงามไปตามง่าย
เขาไม่เลี้ยงไล่ขับจะอับอาย
ต้องเป็นหม้ายอยู่กับบ้านประจานตน
จากกลอนบทนี้ชี้ให้เห็นว่า ค่านิยมของคนไทยในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่แสดงออกผ่านกวีเอกสุนทรภู่นั้น ยังเน้นให้หญิงสาวรักนวลสงวนตัว รอให้ถึงเวลาที่ฝ่ายชายจะมาสู่ขอไปเป็นแม่เหย้าแม่เรือน และอีกบทหนึ่งที่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนแต่ง คือ
อันผักหญ้าปลาเคล้าคาวระบาด
ใส่กระจาดล้างน้ำกลิ่นจางหาย
เมื่อสตรีหลงเสียสาวแก่เหล่าชาย
อย่าพึงหมายว่ากลิ่นจะสิ้นคาว
แม้นวันนี้มิรู้อยู่อีกหน่อย
กลิ่นก็ค่อยกระพือให้อื้อฉาว
ถึงใส่น้ำชะล้างไม่สร่างคาว
ขอสาวสาวจงจำคำเตือนเอย
จากคำกลอนนี้บ่งบอกชัดเจนว่า ในอดีตได้ยึดถือความบริสุทธิ์ของผู้หญิงว่าไม่ควรปล่อยให้เปรอะเปื้อนด้วย น้ำมือชาย และถ้าบังเอิญเปรอะเปื้อนแล้วก็ยากที่จะแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิม เป็นการป้องปรามและตำหนิติเตียนสตรีเพศอย่างเป็นรูปธรรมยิ่ง
อนึ่ง เกี่ยวกับพฤติกรรมสตรีเพศในอันที่จะต้องระวังตัวเอง และเป็นการเตือนบุรุษเพศที่ตั้งความหวังไว้กับการที่ผู้หญิงจะครองความ บริสุทธิ์ไว้ได้จนถึงวันและวัยอันควรนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จะเห็นได้ในคำสอนที่ว่า “สตรีเพศเปรียบเหมือนบ่อน้ำ ทางเดิน และศาลาพักร้อนริมทาง” ที่ใครต่อใครจะเดินผ่านมาไม่ขาดระยะ จึงยากที่จะรักษาไว้เป็นสมบัติส่วนตัว
นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังได้สอนแนวทางป้องกันตนเองให้พ้นไปจากการกระทำที่เสี่ยงต่อการ เสียสาวว่า สิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ 3 ประการ คือ
1. อสรพิษที่เลื้อยบนหน้าผาสูง เนื่องจากสามารถฉกกัดผู้คนที่เดินผ่านหน้าได้ทุกเมื่อ
2. เรือเล็กที่โต้คลื่นในทะเลลึก เนื่องจากจมได้ตลอดเวลา
3. หญิงสาวที่อยู่ต่อหน้ากับคนรักในที่ลับสองต่อสอง เนื่องจากมีโอกาสพลาดพลั้งเสียสาวได้ตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้ ถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องการให้ลูกสาวอยู่รอดปลอดภัยจากการสูญเสีย พรหมจรรย์ก่อนถึงวันและวัยอันควรแล้ว ก็ควรอย่างยิ่งที่จะปลูกฝังค่านิยมให้รู้จักรักนวลสงวนตัว และรู้จักป้องกันตัวเองโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียสาว โดยเฉพาะการอยู่สองต่อสองกับคนรักในที่ลับหูลับตา อันเป็นการเปิดโอกาสให้ตกเป็นเหยื่อแห่งความต้องการทางเพศตามแรงผลักดันของ ความต้องการ ซึ่งเกิดโดยสัญชาตญาณแห่งการสืบพันธุ์ตามลักษณะของสิ่งมีชีวิตทั่วไป
ทำอย่างไรจึงจะป้องกันปัญหาศีลธรรมเสื่อมในกลุ่มวัยรุ่น?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าได้มีการพูด เขียน และเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ อย่างดาษดื่นอยู่แล้ว แต่ทว่ามิได้ทำให้ปัญหาลดลง จึงน่าจะลองทบทวนแบบเรียนดู โดยการให้ความรู้ให้ความคิด แต่เน้นในเรื่องศีลธรรมในทุกวัยของเด็กโดยผ่านทางการสอนของโรงเรียน และวัดอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยให้เพิ่มคะแนนวิชาศีลธรรมให้มากเท่ากับวิชาอื่นๆ และถ้าสอบตกก็ให้ถือว่าไม่ผ่านหรือให้ผ่านแต่ต้องซ่อม โดยการให้ฝึกปฏิบัติเป็นการเพิ่มเติมตอกย้ำให้เห็นคุณค่าของศีลธรรมมากขึ้น
ยิ่งกว่านี้ ถ้าทำได้ในการประเมินการทำงานของข้าราชการ ควรให้การวัดในเรื่องศีลธรรมจริยธรรมให้มีผลในการเลือกรับ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งด้วย
ถ้า ทำได้เช่นนี้ เชื่อได้ว่าศีลธรรมจะมีขึ้นโดยไม่ต้องไปแก้ไขปัญหาแบบผักชีโรยหน้า ด้วยการส่งเสริมแกมบังคับให้คนเข้าวัด ดังที่บางหน่วยราชการกระทำอยู่
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000017714
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น