++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ควรรู้อะไรเมื่อไปหาหมอ / เอมอร คชเสนี

 
โดย เอมอร คชเสนี    

  เคยไหมคะ เวลาที่ป่วยไข้ไม่สบาย ไปหาหมอ แล้วเจอคำถามของคุณหมอที่ว่า
      
       “วันนี้เป็นอะไรมาครับ”
      
       เคยมีคนเขียนโจ๊กแซวคุณหมอที่ถามแบบนี้ว่า “อ้าว แล้วถ้าฉันรู้ ฉันจะมาหาหมอเหรอ”
      
       อันที่จริง ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารดังเช่นปัจจุบัน “รู้ไว้ ได้เปรียบกว่าไม่รู้” ค่ะ
      
       เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ เพราะทุกคนล้วนต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราจึงควรศึกษาหาความรู้เรื่องสุขภาพเอาไว้บ้าง จะทำอย่างไรให้สามารถชะลอความ “แก่” และป้องกันอาการ “เจ็บ” เพื่อให้ก่อน “ตาย” ได้อยู่อย่างมีความสุข ไม่เป็นทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บ
      
       โดยเฉพาะในกรณีที่คุณมีโรคประจำตัว ยิ่งควรศึกษาเกี่ยวกับโรคและการรักษาของคุณ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ง่ายที่สุดคือถามจากหมอหรือพยาบาลที่ให้การรักษาคุณอยู่ นอกเหนือจากนี้ แหล่งความรู้เกี่ยวกับสุขภาพนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการท่องอินเตอร์เน็ต อ่านหนังสือ หรือถามจากผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์
      
       เมื่อมีความรู้เรื่องสุขภาพสะสมเป็นทุนอยู่บ้างแล้ว หากเกิดเจ็บไข้ต้องไปหาหมอ เราจะได้มีส่วนร่วมกับคุณหมอในการตัดสินใจเลือกวิธีการดูแลรักษาอาการเจ็บป่ วยของตัวเราเองด้วย
      
       หากมีหมอประจำตัว ตรวจสอบให้แน่ใจว่าหมออยู่เวรในวันที่คุณจะไปโรงพยาบาล เพราะเขาจะทราบข้อมูลของคุณมากที่สุด
      
       หากไม่สามารถไปตรงกับวันที่หมอนัดไว้ได้ ควรเลื่อนนัดให้เร็วขึ้น แทนที่จะเลยจากวันนัดเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่คุณต้องรับยาต่อเนื่อง การขาดยาแม้เพียงไม่กี่วัน ไม่เป็นผลดีต่อโรคของคุณ
      
       คืนก่อนจะไปพบแพทย์ ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ การตรวจบางกรณีต้องสอบถามให้แน่ใจว่าต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือไม่ หากงด ต้องงดกี่ชั่วโมง
      
       หากเป็นไปได้ควรพาญาติหรือเพื่อนที่รู้ข้อมูลสุขภาพของคุณไปด้วยอีกส ักคน เผื่อในกรณีฉุกเฉินที่คุณไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เขาจะได้ให้ข้อมูลกับหมอแทนคุณได้ หรือเผื่อในกรณีที่การตรวจรักษาทำให้คุณไม่สะดวกที่จะกลับบ้านเองตามลำพัง เช่น กรณีที่ต้องปิดตา
      
       ควรพกบัตรประจำตัวประชาชนติดตัวไว้เสมอ รวมทั้งบัตรที่แสดงสิทธิในการรักษาพยาบาลต่างๆ เช่น บัตรประกันสังคม บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ สะดวกขึ้น เสียเวลาน้อยลง
      
       เครื่องแต่งกายก็สำคัญ เลือกเสื้อผ้าและรองเท้าที่ใส่สบาย อาจต้องพกหมวกหรือร่มไปด้วย เพราะอาจเป็นไปได้ว่า อาการของคุณจะแย่ลงเมื่อต้องออกไปเจอแดด โรงพยาบาลบางแห่งอาจเปิดแอร์เย็นเกินไป หากพกเสื้อกันหนาวไปด้วย ก็จะช่วยอบอุ่นร่างกายได้
      
       ช่วงโอกาสทองคือเมื่อคุณได้เข้าพบแพทย์ ใช้เวลานั้นให้เป็นประโยชน์ที่สุด เล่าอาการอย่างละเอียด และเตรียมจดข้อสงสัยมาจากบ้าน แล้วถามหมอให้หมดโดยไม่ต้องกลัวว่าหมอจะเสียเวลา อย่าเก็บความสงสัยกลับบ้าน เพราะที่บ้านไม่มีใครคอยตอบคำถามของคุณอีกแล้ว จำไว้ว่าเป็นสิทธิของคนไข้ที่จะได้ทราบข้อมูล
      
       ผู้ที่มีโรคประจำตัว ใช้ยาหรืออาหารเสริมใดอยู่เป็นประจำ ควรแจ้งให้หมอทราบทุกครั้ง เพื่อที่หมอจะได้จดบันทึกไว้ในประวัติส่วนตัวของคุณ
      
       ชื่อยาที่เป็นภาษาอังกฤษบางครั้งอาจเป็นปัญหาว่าจำไม่ได้ อ่านไม่ออก หรือออกเสียงไม่ถูกต้อง ดังนั้นคุณอาจต้องพกยาหรือจดชื่อยา รวมทั้งขนาดยาและวิธีรับประทานไปให้คุณหมอดูด้วย สำหรับผู้สูงอายุอาจให้ลูกหลานช่วยจดให้
      
       แจ้งให้หมอทราบด้วยว่าคุณเคยแพ้ยาตัวใด เพื่อที่หมอจะได้หลีกเลี่ยงไม่จ่ายยาตัวนั้นให้ สำหรับกรณีทั่วไปที่ไม่เคยแพ้ยามาก่อน เมื่อหมอถามว่าคุณแพ้ยาตัวใดหรือเปล่า คำตอบที่ปลอดภัยที่สุดน่าจะเป็น “ไม่ทราบ” แทนที่จะเป็น “ไม่แพ้” เพื่อให้คุณหมอเลือกจ่ายยาที่เหมาะสมที่สุด
      
       เมื่อหมอเขียนใบสั่งยาให้ ควรถามทุกครั้งว่าสั่งยาอะไรให้เราบ้าง แล้วเช็คกับเภสัชกรซึ่งเป็นผู้จ่ายยา ว่าตรงกันหรือไม่ ข้อผิดพลาดในกรณีสั่งยากับจ่ายยาไม่ตรงกันสามารถเกิดขึ้นได้
      
       คำถามที่ควรถามเภสัชกรทุกครั้งเมื่อได้รับยา คือ
       - เป็นยาอะไร แก้อาการอะไร
       - ขนาดยาและวิธีรับประทาน เช่น กี่เม็ด กี่มื้อ ก่อนอาหาร หลังอาหาร พร้อมอาหาร ก่อนนอน
       - ยานี้มีผลข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร และหากเกิดอาการแพ้ยา ควรทำอย่างไร
       - ตอนนี้รับประทานยาหรืออาหารเสริมตัวใดอยู่ รับประทานร่วมกับยาตัวนี้ได้หรือไม่
       - ระหว่างรับประทานยานี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่ม หรือกิจกรรมใดหรือไม่
      
       ฉลากยาต้องชัดเจน หากไม่ชัดเจนหรือมีข้อสงสัยให้รีบถามทันที เช่น กินเฉพาะเวลาเกิดอาการ หรือต้องกินให้หมดตามที่หมอจ่ายยาให้ หากลืมกินยาควรทำอย่างไร หรือหากให้กินทุก 4-6 ชั่วโมง นอนหลับไปแล้วยังต้องตื่นมากินหรือไม่
      
       หากเป็นยาน้ำ ควรมีช้อนตวงยาหรือหลอดฉีดยามาให้ด้วย ซึ่งจะตวงยาน้ำได้ในปริมาณที่แม่นยำ ไม่ควรใช้ช้อนในครัวตวงยาน้ำ เพราะปริมาณยาที่ได้จะไม่เท่ากัน แม้จะเรียก 1 ช้อนโต๊ะเหมือนกัน
      
       หากมีการตรวจพิเศษต่างๆ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด อัลตราซาวด์ ฯลฯ ควรถามถึงผลการตรวจแต่ละอย่าง ทุกครั้ง
      
       อย่าวิตกกังวลกับโรคของตัวเองมากเกินไป จนบางครั้งต้องเสียเงินโดยใช่เหตุไปกับการตรวจรักษาที่ “เกินจำเป็น” ปรึกษาคุณหมอให้แน่ใจว่า คุณจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษานั้นๆ หรือไม่
      
       โรคบางโรคอาจต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาร่วมกันรักษา ตรวจสอบให้แน่ใจว่าหมอแต่ละท่านที่ดูแลคุณ รู้ข้อมูลสุขภาพของคุณดีแล้ว อย่าสรุปเอาเองว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว
      
       หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ตรวจสอบว่าตัวคุณเอง หมอเจ้าของไข้ และหมอผ่าตัด เข้าใจตรงกันหรือยังว่าจะผ่าตัดอะไรแค่ไหน เช่น จะผ่าคลอดอย่างเดียว ไม่ต้องแถมผ่าตัดไส้ติ่ง
      
       ยาบางอย่างจำเป็นต้องหยุดล่วงหน้าก่อนการผ่าตัด ( หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ก็ควรงดก่อนการผ่าตัด ) การแจ้งให้หมอทราบว่าคุณใช้ยาตัวใดอยู่ มีผลดีในกรณีนี้ด้วย บางคนไปรอผ่าตัดแล้ว หมอเพิ่งทราบว่าใช้ยาตัวใดอยู่ ก็ต้องเลื่อนเวลาผ่าตัดออกไปอีก เสียเวลาไปโดยใช่เหตุ
      
       ก่อนออกจากโรงพยาบาล ถามคุณหมอถึงการปฏิบัติตัวที่บ้านให้เข้าใจ เช่น ต้องกินยาอย่างไร มีอาหารหรือเครื่องดื่มที่ควรงดหรือไม่ การทำงาน การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมต่างๆ สามารถทำได้ตามปกติหรือไม่
      
       ข ้อแนะนำง่ายๆ ดังที่กล่าวมา นอกจากจะช่วยบรรเทาและป้องกันอาการเจ็บป่วยของคุณได้แล้ว ยังเท่ากับว่าคุณได้ช่วยคุณหมอในการป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้จากก ารตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค ซึ่งต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เสียความรู้สึก บางคนอาจต้องสูญเสียอวัยวะหรือแม้แต่ชีวิตค่ะ
      
      
       ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”
       ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
       ทางคลื่นของประชาชน FM 97.75 MHz
       และ www.managerradio.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น