++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การสอบสวนที่เชื่อถือไม่ได้

โดย ราวี เวียงพยัคฆ์
หลังจากเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกันหลายคณะ
กล่าวคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
และคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือ นายสมชาย
วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้แต่งตั้ง มีนายปรีชา พานิชวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการ

ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดที่มีนายปรีชา เป็นประธาน
ส่งถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว

แรกทีเดียวก็ไม่ได้มีการเปิดเผยผลของการตรวจสอบ
แต่ก็แพลมออกมาทีหลังว่า เนื้อหาสาระใหญ่ๆ หลักๆ ของการตรวจสอบก็คือ
หาใครผิดไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายการเมืองตั้งแต่นายสมชาย
วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีนั้น
ต่างบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนี้เสียครั้งนี้เลย

รายงานดังกล่าวเมื่อถึงมือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความสำคัญต่อรายงานดังกล่าวนี้แต่อย่างใด

"ปัญหาของคณะกรรมการชุดนี้ก็คือ
ได้ข้อสรุปเฉพาะเรื่องในเชิงมาตรการ แต่เรื่องของการสอบสวนข้อเท็จจริง
และความรับผิดชอบมันไม่คืบหน้าเหมือนกับทำงานไม่ได้
และรายงานเข้ามาตรงนี้ก็ต้องสิ้นสุดกันไป
แต่ในสมัยเป็นฝ่ายค้านได้ร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ และ
ป.ป.ช.ตรวจสอบสรุปแล้วต้องรอ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้ขาดในเรื่องนี้"
นายกรัฐมนตรีกล่าว

อย่าว่าแต่นายกรัฐมนตรี รวมทั้งคนอื่นๆ
ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรายงานของคณะกรรมการชุดที่นายปรีชา พานิชวงศ์
เป็นประธานเลย นายยุวรัตน์ กมลเวชช
ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการก็ให้ความเห็นเอาไว้น่าสนใจ กล่าวคือ

นายยุวรัตน์ กล่าวว่า รายงานดังกล่าวไม่มีผลในทางกฎหมาย เนื่องจาก

1. คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่คณะกรรมการตามกฎหมาย
แต่แต่งตั้งโดยฝ่ายนโยบายต่างจาก ป.ป.ช. คณะกรรมการสิทธิฯ
ที่กำลังสอบสวนกรณี 7 ตุลาคมอยู่

2. คณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดย ครม.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมารยาทต้องพ้นไปพร้อม ครม.ทันทีที่มีนายอภิสิทธิ์
เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญญาณตน (นายยุวรัตน์) ได้ยุติบทบาททันที

3. คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ไต่สวน
หรือเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน แต่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล
และข้อเท็จจริงต่างๆ ก่อนจัดทำรายงานและข้อเสนอถึงนายกฯ
เพื่อให้เกิดความปรองดอง จึงไม่สามารถไปชี้ว่าใครถูก ใครผิดได้

4. ผลการตรวจสอบที่ออกมาเป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานบุคคลที่มีส่วนรู้
เห็นเหตุการณ์ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบต่อไป ไม่สามารถใช้ในการส่งคดีได้

ฟังจากเหตุผลของนายยุวรัตน์ กมลเวชช
อดีตกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการชุดที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
แต่งตั้งก็ไม่มีทางคิดเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากเป็นรายงานที่ "ทะลึ่ง"
โดยคณะกรรมการที่ค่อนข้างจะ "ทะลึ่ง" เท่านั้นเอง เพราะ

1. รู้ก็รู้อยู่ว่า ไม่ใช่คณะกรรมการตามกฎหมาย
แต่เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยฝ่ายนโยบาย
ซึ่งจะต้องเป็นไปตามนโยบายของผู้แต่งตั้ง
กรรมการแต่ละท่านอายุก็จวนเจียนจะเข้าโลงวันนี้ วันพรุ่งอยู่แล้ว
ยังจะต้องรับใช้การเมืองกันไปถึงไหน ไม่ได้นึกถึงประเทศชาติ
ไม่ได้นึกถึงประชาชนบ้างเลยละหรือ

2. โดยมารยาทก็ควรจะพ้นไปพร้อมกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง แต่กลับไม่ยอมพ้น
ยังทำหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริงกันต่อไป ซึ่งก็ไม่ได้ข้อเท็จจริง
เสียทั้งเวลา เสียค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากระดาษเขียนรายงาน
(ซึ่งไม่มีใครเชื่อถือ)

3. ที่นายยุวรัตน์ กมลเวชช บอกว่า
คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล และข้อเท็จจริงต่างๆ
ก่อนจัดทำรายงานถึงนายกฯ เพื่อให้เกิดความปรองดอง

ความปรองดอง ความสมานฉันท์หรือจะใช้ประโยคใดก็ตามให้ฟังดูรื่นหู
ไพเราะเพราะพริ้ง จะเป็นจริงได้อย่างไร เมื่อเอาข้อเท็จจริงซุกไว้
ไม่สืบสวน สอบสวนหาข้อเท็จจริง หาคนผิดมาลงโทษตามตัวบทกฎหมาย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
ไม่มีอันใดสลับซับซ้อนมากไปกว่าเกิดการชุมนุมของประชาชน
ประชาชนไม่อยากให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายก็ไปชุมนุม
จุกทางเข้าออกรัฐสภาเอาไว้ รัฐบาลจะแถลงนโยบายให้ได้
สั่งการให้สลายการชุมนุม
เจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติตามคำสั่งหรือนโยบายของรัฐบาล
เช้าวันนั้นก็ไม่ได้พูดพล่ามทำเพลง มาถึงก็ยิงตูมๆ
เข้าใส่ประชาชนที่ชุมนุมพร้อมกับตะโกนว่า "อยู่ได้ อยู่ไป อยู่ได้
อยู่ไป"

ประชาชนที่ถูกยิงบาดเจ็บ มือขาด ขาขาดหลายคน บาดเจ็บนับ 4-500 คน
เสียชีวิตในวันนั้น 2 คน

เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่า
เป็นปฏิบัติการธรรมดาของการปราบปรามจลาจลใช้แก๊สน้ำตาที่เขาใช้กันทั่วโลก

ปัญหาก็คือ ทำไมตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ใช้แก๊สน้ำตาทำไมมีคนขาขาด
มือขาด และเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่ตำรวจยิง (เขาอ้างว่า แก๊สน้ำตา) ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ
โดยที่ไม่รู้สึกเลยหรือว่า
นี่มันเกินกว่าเหตุของการสลายฝูงชนเพื่อเปิดทางให้ ส.ส.เข้าประชุมสภาฯ
และออกจากสภาฯ กลับบ้านหรือไม่

ถ้าข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่กระจ่างจะเกิดความถูกต้อง เป็นธรรมได้อย่างไร

และท้ายที่สุด ความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ซึ่งในที่สุดก็ไม่ต่างจากกฎหมายที่พวกเขาพยายามที่จะเข็นออกมาให้ได้ที่
เรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.เพื่อความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญคือ

1. ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิด

2. ให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย
พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ตัดสิทธิทางการเมือง 5
ปีพ้นผิด

นี่มันจะสมานฉันท์ จะปรองดองกันได้อย่างไร

3. ผลการตรวจสอบเป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานบุคคลที่มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์
ซึ่งต้องมีการตรวจสอบต่อไป

แล้วจะต้องสอบให้เสียเวลาทำไม

ทำไมไม่ปล่อยให้หน่วยงานที่มีอำนาจ มีหน้าที่ ตามตัวบทกฎหมายเขาทำ

ที่ต้องเสียเวลา
เสียเงินในการนี้ก็เพื่อที่จะรับใช้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
สร้างความสับสน สร้างความแตกแยกให้ผู้คนในสังคมอย่างนั้นหรือ

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000020878

1 ความคิดเห็น: