++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติและปฏิปทา พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)



วัดบรมนิวาสราชวิหาร
แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) มีนามเดิมว่า จันทร์ ศุภสร เกิดในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อวันศุกร์ เดือน 4 แรม 10 ค่ำ เวลาประมาณ 5 นาฬิกา ปีมะโรง จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2399 เป็นบุตรหัวปีของหลวงสุโภรสุประการ กรมการเมืองอุบลราชธานี และนางสุโถรสุประการ (แก้ว สุภสร) ชาติภูมิอยู่บ้านหนองไหล อำเภอเมือง จังหวัดอุลบลราชธานี

เมื่ออายุได้ 13 ปี บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักเจ้าอธิการม้าว เทวธุมมี วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ตำบลในเมือ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ถึงรัชกาลที่ 5 อายุ 19 ปี ลาสิกขาจากสามเณรมาอยู่กับบิดามารดา 3 ปี จึงอุปสมบทที่วัดศรีทอง เมื่อปีฉลู พ.ศ.2420 เจ้าอธิการม้าว เทวธฺมมี ซึ่งเป็นลัทธิ วิหาริกในพระบาทสมเด็จพระจอมเก้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระอุปัชฌายะ ต่อมาอีก 4 พรรษา แล้วจึงมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดชัยมงคล แต่ไปศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอุปัชฌายะ ต่อมาอีก 4 พรรษา จึงมาอยู่ที่ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ในสำนัก พระปลัดผา ถือนิสสัยเป็นพระอริยะมุนี (เอม) ศึกษาพระปริยัติธรรมกับ พระมหาดิษและพระอาจารย์บุษย์ ปีเศษ แล้วไปศึกษาในสำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ภายหลังย้ายมาอยู่ที่ วัดกันมาตุยาราม แล้วกลับไปอยู่ วัดเทพศิรินทร์ อีก ครั้นพระอริยะมุนี (เอม) และ พระปลัดผา มรณภาพแล้ว จึงย้ายไปอยู่ที่ วัดบุปผาราม จังหวัดธนบุรี ในสำนักพระสาสนโสภณ (อ่อน) แต่ยังเป็นเปรียญฯ

ถึงปีระกา พ.ศ.2428 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมครั้งแรกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค แล้วลาไปปฏิบัติอุปัชฌายะที่ จังหวัดอุบลราชธานี 2 พรรษา ระหว่างนี้ เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ สร้างวัดมหาอำมาตย์ ถวายพระสงฆ์ธรรมยุต จึงอาราธนาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น ครั้นถึงวันที่ 10 กรกฏาคม พ.ศ.2435 ทรงพระกรุอยู่ที่ วัดพิชัยญาติการาม 1 พรรษา แล้วกลับไปอยู่วัดเทพศิรินทร์อีก ต่อจากนั้นได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้ง สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จึงโปรดให้ไปจัดการศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีได้ 2 ปีเศษ

ถึงปีกุน พ.ศ.2442 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิต แล้วโปรดให้เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน จึงกลับไปอยู่วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี 5 พรรษา ภายหลังขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อยู่ที่วัดเทพศิรินทร์บ้าง ไปธุดงค์บ้าง จนถึงปีมะโรง พ.ศ.2447 จึงโปรดให้อาราธนาไปครองวัดบรมนิวาส ถึงปีระกา พ.ศ.2452 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่พระราชกวี

ถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2457 ทรงโปรดให้เลื่อน สมณศักดิ์เป็น พระเทพโมลี ต่อมาถึง พ.ศ.2458 ได้แต่งหนังสือเทศน์ เห็นเป็นอันไม่ต้องด้วยรัฐประศาสนโยบายบางประการอันเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักร จึงถูกถอดจากสมณศักดิ์คราวหนึ่ง ครั้นถึงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2459 ทรงพระกรุณาโปรดกลับตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมธีรราชมหามุนี มีสมณศักดิ์เสมอชั้นเทพ และโปรดให้ครองวัดบรมนิวาสตามเดิม ถึงปี พ.ศ.2466 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศาจารย์ เสมอตำแหน่งชั้นธรรม

ครั้นถึง พ.ศ.2468 ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสี มีนามในสัญญาบัตรว่า “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ญาณวิสุทธจริยาปรินายก ตรีปิฏกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์สาธุการีธรรมาดร สุนทรศีลาทิขันธ์” ได้เคยรับราชการทางคณะสงฆ์ในหน้าที่สำคัญๆ หลายตำแหน่งคือเป็นเจ้าคณะใหญ่ เมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน มณฑลจันทบุรี มณฑลราชบุรี และมณฑลกรุงเทพฯ

ท่านเป็นพระนักปกครองผู้มีอัธยาศัยงดงามให้ความคุ้มครอง และให้ความดีความชอบแก่ผู้น้อย เป็นผู้มีใจกันทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ท่านแสดงธรรมสั่งสอนให้เขาเหล่านั้นเป็นผู้ฉลาดชี้ให้เห็นเหตุผลแจ่มแจ้งในกว้างเฉลี่ยลาภผลเกื้อกูลแก่สพรหมจารี ไปอยู่ที่ไหน ก็ยังคุณความดีให้เกิดแก่หมู่เป็นคณโสภณผู้ทำหมู่ให้งาม เป็นผู้ฉลาดในเชิงช่าง

นอกจากนี้ ท่านยังใส่ใจในการศึกษาของภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และ กุลบุตรกุลธิดามาก ทั้งภาษาบาลีและไทย เมตตาสั่งสอนให้ได้รู้หนังสือ ท่านมีความ สามารถในการอธิบายอรรถธรรมให้เข้าใจง่าย และชักชวนให้อาจหาญร่าเริงในสัมมาปฏิบัติ จัดเป็นธรรมกถึกเอกมีเชาวนะปฏิภาณว่องไวเฉียบแหลม วิจารณ์อรรถธรรมอันลุ่มลึกให้แจ่มแจ้ง ท่านแต่งหนังสือไว้ทั้ง คำร้อยแก้วทั้งคำกาพย์

เมื่ออยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดมหาอำมาตย์ (วัดนี้พระยามหาอำมาตย์หรุ่น กับเจ้านครจำปาศักดิ์ เป็นผู้สร้าง) ให้ชื่อว่า “โรงเรียนบุรพาสยามเขตร” สอนทั้งภาษาบาลี ทั้งภาษาไทย และยังได้จัดตั้ง “โรงเรียนอุบลวิทยาคม” ขึ้นที่ วัดสุปัฏน์ เช่นกัน ครั้นได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล ก็จัดการการศึกษาทั่วไปจนได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้จัดการศึกษาของกุลบุตรให้เจริญดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้ถึงวัดสิริจันทรนิมิตร ที่เขาบ่องาม (เขาพระงามในปัจจุบัน) จังหวัดลพบุรีและวัดเจดีย์หลวง นครเชีงใหม่ ก็ได้จัดการศึกษาของกุลบุตรให้รุ่งเรืองขึ้นโดยควรแก่ฐานะ

แม้ในการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ ท่านก็ได้สร้างคุณประโยชน์อันมากมาย เช่น การปฏิสังขรณ์วัดบวรมงคล คือ พระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนพระวิหารคด การปฏิสังขรณ์วัดบรมนิวาส คือ พระอุโบสถ พระอสีติมหาสาวก พระวิหารคด และพระพิชิตมาร ซึ่งเป็นพระประธานในศาลาอุรุพงษ์ คือ เป็นพระลีลาเก่า อัญเชิญมาจากจังหวัดราชบุรี และได้ให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ เช่น โรงเรียนภาษาบาลี และภาษาไทย สระน้ำ ศาลาอุรุพงษ์ ส่วนของระฆัง และหอระฆัง มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริวัฒน์เป็นผู้ร่วมสร้าง ตลอดจนกุฏิสร้างใหม่ให้เป็นตึก

หอเขียวซึ่งเป็นกุฏิใหญ่ในวัดนี้ หม่อมเจ้าหญิงเมาลี หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า หม่อมเจ้าหญิงโอฐอ่อน หม่อมเจ้าหญิงคำขาว และหม่อมเจ้าหญิงรับแข สกุลปราโมทย์ ณ อยุธยา ทรงร่วมกันสร้างด้วยความสามัคคีธรรมแห่งคณะญาติ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ประเดิมสร้างวัดเสน่หานุกูล จังหวัดนครปฐม และที่วัดสิริจันทรนิมิตร จังหวัดลพบุรีนั้น ท่านได้สร้างพะรพุทธปฏิมากร อันมีนามว่า พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล ซึ่งมีหน้าตักกว้าง 11 วา 1 ศอก สูงทั้งรัศมี 18 วา อีกทั้ง พระอุโบสถ พระประธาน และ พระกัจจายน์ พระวิหาร ตลอดถึงถ้ำและกุฏิ ศาลา บ่อน้ำ ท่านเป็นผู้นำในการสร้างมณฑปวัดบ้านแป้ง จังหวัดสิงห์บุรี

ท่านเป็นผู้ยินดีในสัมมาปฏิบัติ สันโดษมักน้อยใฝ่ใจในสัลเลขปฏิบัติ ประกอบด้วยธุดงควัตรเที่ยวรุกขมูล รักษาขนบธรรมเนียมของสมณะที่ดีไว้มั่นคง มีสติสัมปชัญญคุณทุกเมื่อ มีความเยือกเย็นอาจหาญอดกลั้นทนทานต่อสถานการณ์ต่างๆ แม้ในยามอาพาธสุดท้ายพิษของโรครุนแรงด้วยทุกขเวทนายิ่งนัก ท่านยังได้ให้โอวาทแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนว่า “เราเป็นนักรบ ได้ฝึกหัดวิธีรบไว้ก็ไม่เสียที ได้ผจญต่อพยาธิธรรมและมรณธรรมจริงๆ ก็อาจหาญอดกลั้นทนทานไม่สะทกสะท้าน มีสติสัมปชัญญคุณรอบคอบไม่หลงใหลไม่ฟั่นเฟือน ไม่กระวนกระวาย หากถึงกาลแตกดับ ก็ไปด้วยความสงบเงียบหายดุจหลับไป" จึงได้ชื่อว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติได้ผลโดยควรแก่ภาวะโดยแท้

รูปหล่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
ด้านหน้าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของท่าน ประดิษฐาน ณ วัดบรมนิวาส


๏ ธรรมโอวาท

ท่านได้กล่าวไว้มากมาย ขอคัดลอกมาบางส่วน ดังนี้ คือ

ที่ว่าร่างกายจิตใจเป็นแก้วสารพัดนึกนั้น พึงพิเคราะห์ดู เรามีตา นึกจะดูอะไรก็ดูได้เรามีหู นึกจะฟังอะไรก็ฟังได้ เรามีจมูก อยากจะรู้กลิ่นอะไรก็รู้ได้ เรามีปาก มีลิ้น นึกอยากจะรู้รสอะไรก็รู้ได้ นึกอยากจะกินอะไรก็กินได้ เรามีมือ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำได้ เรามีเท้านึกอยากเดินไปไหนก็ไปได้ เรามีจิตมีใจ นึกอยากจะน้อมนึกตรึกตรองอะไร ก็ได้สมประสงค์ ผู้รู้ตนว่า เป็นของวิเศษอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ได้ความสุข คือ ใช้ตามหน้าที่ ไม่ให้วัตถุเหล่านั้นเป็นข้าศึกแก่ตน คือ เกิดปฏิฆะโทมนัสยินดี ยินร้ายเพราะวัตถุของตน นิสัยของผู้ฉลาด ย่อมไม่ให้วัตถุวิเศษของตนเป็นข้าศึกแก่ตน อารมณ์ที่ผ่านไปผ่านมา เลือกเอาแต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่จักเป็นโทษ จงปล่อยฝ่านไปเสีย ไม่รับไม่เก็บเข้ามาไว้ คือ หัดชำระวัตถุภายในนี้ ให้ผ่องใส สมกับที่ว่า เป็นแก้วสารพัดนึกอยู่ทุกเมื่อ อาศัยความหัดบ่อยๆ สติก็แก่ขึ้น วัตถุภายในก็ปราศจากโทษ คือ ไม่เป็นข้าศึกแก่ตน ให้ความสุขแก่ตนทุกอิริยาบถ จึงสมกับพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนว่า

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน

ถ้าว่าโดยสมมติ สกลกายนี้เองเป็นตน ถ้าว่าโดยสกลกายนี้เองเป็นธรรม ที่ว่า อตฺตสรณา ธมฺมสรณา ให้มีตนเป็นที่ระลึกนี้ คือ ให้เห็นว่า ตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน ความรู้ธรรมเป็นพุทธะ สกลกายที่ทรงคุณความดีไว้เป็นธรรม ความประพฤติให้คุณความดีมีขึ้นในตนเป็นสังฆะ ผู้ที่มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนอย่างนี้ ชื่อว่า ผู้ถึงไตรสรณคมน์ในชาตินี้

ตลอดชาติชั้นศีล ชั้นสมาธิ ชั้นปัญญา ชั้นวิมุตติ ชั้นวิมุตติญาณทัสสนะ สุดแท้แต่วาสนาของใครจะถึงได้ในชั้นใด จะต้องได้รับผล คือ ความสุขตามชั้นตามภูมิของตนทั้งนั้น อย่าเป็นคนสงสัยลังเลยึดให้มั่นคั้นให้ตาย อย่างมงายเชื่อเกจิอาจารย์ที่สอน นอกรีตนอกทาง อย่าพากันหลงใหลไปตามเขา เพราะพระนิพพานของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า นิพพานสมบัติ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา และ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ มีสติปัฏฐาน เป็นต้น มีอัฏฐังคิกมรรค เป็นที่สุด เหล่านี้เป็นนิพพานสมบัติ อย่างอื่นๆ ถ้าไม่เป็นไปตามนี้เป็นอวิชชาทั้งนั้น

พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องประพฤติตนให้มั่งมีเหมือนพระพุทธเจ้า ทั้งสมบัติภายนอกแลสมบัติภายใน


๏ ปัจฉิมบท

ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เปรียญ 4 ประโยค เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร อาพาธเนื่องด้วยโรคชรา ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ.2475 คำนวณอายุได้ 77 ปี พรรษา 55 ได้พระราชทานโกศโถ มีชั้นรองสองชั้น ฉัตรเบญจา 4 ประกอบศพเป็นเกียรติยศ



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือแก้วมณีอีสาน
http://www.manager.co.th/dhamma/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น