++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

‘ดอกเข้าพรรษา’ หรือ ‘ดอกหงส์เหิน’



ดอกเข้าพรรษา งามสง่าในลีลา ‘หงส์เหิน’

ยามเมื่อฤดูกาลเข้าพรรษาเวียนมาถึง ดอกไม้ชนิดหนึ่งก็เริ่มผลิดอกบานสะพรั่ง ผู้คนต่างพากันเก็บมาถวายพระจนก่อเกิดเป็น ประเพณี “ตักบาตรดอกไม้” ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

โดยมีที่มาจากเรื่องราวในพระพุทธศาสนาว่า นายสุมนมาลาการ ได้ถวายดอกมะลิบูชาแด่พระพุทธเจ้า และด้วยอานิสงส์ดังกล่าวทำให้นายสุมนมาลาการมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนจึงได้พร้อมใจกันนำดอกไม้มาถวายเป็นพุทธบูชา

ดอกไม้ที่ชาวอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ จึงเรียกขานกันว่า ‘ดอกเข้าพรรษา’ หรือ ‘ดอกหงส์เหิน’ เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างามนั่นเอง



หงส์เหิน (Globba winiti) เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อนเกิดในป่าร้อนชื้น พบในประเทศไทย, พม่า และเวียดนาม ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือตามชายป่า มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก), กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน), กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่), ก้ามปู (พิษณุโลก), ขมิ้นผีหรือกระทือลิง (ภาคกลาง), ว่านดอกเหลือง (เลย), ดอกเข้าพรรษา (สระบุรี) เป็นต้น

‘ต้นหงส์เหิน’ หรือ ‘ต้นเข้าพรรษา’ เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวประเภทเหง้าแบบมีรากสะสมอาหาร คล้ายรากกระชาย ส่วนของลำต้นเหนือดิน คือ กาบใบที่เรียงตัวกันแน่น ทำหน้าที่เป็นต้นเทียมเหนือดิน เกิดเป็นกลุ่มกอ สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว

ส่วนดอกออกเป็นช่อซึ่งแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อดอกมีลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอก มีสีเหลืองสดใสคล้ายรูปตัวหงส์กำลังเหินบิน มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบจากโคนถึงปลาย และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น ขาว ม่วง เขียว และแดง



ดอกเข้าพรรษาหรือดอกหงส์เหิน หนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น ในท้องที่อำเภอพระพุทธบาท พบว่ามี 2 สกุล ได้แก่ สกุลกระเจียว มีดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู และสกุลหงส์เหิน ดังกล่าวข้างต้น

เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ ซึ่งที่จังหวัดสระบุรีนี้ได้จัดพิธีตักบาตรดอกไม้ ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา ซึ่งมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง ต่อมารอยพระพุทธบาทนี้ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม


‘รอยพระพุทธบาท’ ภายในพระมณฑปพระพุทธบาท
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี


รอยพระพุทธบาทแห่งนี้มีลักษณะเป็นหลุมลึกคล้ายรอยเท้าคน กว้าง 21 นิ้ว ยาว 5 ฟุต ลึก 11นิ้ว จะสังเกตว่ารอบๆ รอยพระพุทธบาทนั้นพุทธศาสนิกชนปิดทองกันเหลืองอร่ามไปทั่ว นั่นเป็นดัชนีชี้วัดแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ว่ากันว่าหากใครมีโอกาสไปสักการะรอยพระพุทธบาทครบ 7 ครั้ง ผลบุญจะส่งให้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ตลอดจนเชื่อกันว่า เมื่อนำดอกเข้าพรรษามาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง โดยนิยมตักบาตรด้วยดอกเข้าพรรษาสีขาว เพราะหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา และสีเหลือง เพราะหมายถึงสีแห่งพระสงฆ์ สาวกแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าในหนึ่งดอกมีสีเหลืองกับสีขาวอยู่ในดอกเดียวกันจะเป็นการยิ่งดี โดยเฉพาะสีเหลืองแต้มสีขาวจะดียิ่งขึ้น

พระสงฆ์จะนำดอกไม้ที่รับบิณบาตไปสักการะ “รอยพระพุทธบาท” ในพระมณฑป และสักการะ พระเจดีย์จุฬามณี รวมทั้ง พระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แล้วนำเข้าพระอุโบสถประกอบพิธีสวดอธิษฐานเข้าพรรษา ระหว่างพระสงฆ์เดินลงจากพระมณฑป ก่อนที่จะเข้าพระอุโบสถตรงบันได พุทธศาสนิกชนจะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระสงฆ์ เชื่อว่าเป็นการชำระบาปของตนเองด้วย


ดอกเข้าพรรษาสีเหลือง


นอกจากประเพณีการตักบาตรดอกไม้จะมีที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรีแล้ว ในกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีที่วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก สำหรับดอกไม้ที่ใช้ในประเพณีนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นดอกเข้าพรรษาเท่านั้น จะเป็นดอกไม้อื่นๆ ที่ใช้บูชาพระก็ได้ เช่น ดอกมะลิ, ดอกบัว, ดอกกล้วยไม้, ดอกดาวเรือง เป็นต้น

สำหรับคำถวายดอกไม้ ธูปเทียนเพื่อบูชาพระ ซึ่งสามารถใช้ได้โดยทั่วไป มีดังนี้

อิมานิ มะยัง ภันเต ทีปะธูปะปุปผะวะรานิ
ระตะนัตตะยัสเสวะ อะภิปูเชมะ
อัมหากัง ระตะนัตตะยัสสะ ปูชา ทีฆะรัตตัง
หิตะสุขาวะหา โหตุ อาสะวักขะยัปปัตติยา

คำแปล : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าทั้งหลายขอบูชา ธูป เทียน และดอกไม้อันประเสริฐเหล่านี้แก่พระรัตนตรัย ขอจงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์สุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เพื่อให้ถึงซึ่งนิพพาน ที่ซึ่งสิ้นอาสวะกิเลสเทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น