++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เครื่องมือสื่อสารยุคใหม่ : เหตุให้ภิกษุใหม่เสี่ยงภัยมากขึ้น




โดย สามารถ มังสัง

“กุลบุตรผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้ มีเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ต้องลาสิกขาบทออกไป มี 4 ประการคือ

1. อูมิภัย ภัยอันเกิดจากคลื่น หมายถึงผู้ที่เข้ามาบวชแล้วอดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เกิดความคับแค้นใจ เบื่อหน่ายต่อคำพร่ำสอน

2. กุมภีลภัย ภัยอันเกิดจากจระเข้ หมายถึงผู้ที่เข้าบวชแล้ว แต่ยังเห็นแก่ปากแก่ท้อง เมื่อถูกจำกัดเกี่ยวกับการบริโภคจึงทนไม่ได้

3. อาวัฐฏภัย ภัยคือวังวน หมายถึงผู้ที่เข้ามาบวชแล้วแต่ยังพะวง หลงอยู่ในกามสุข ตัดใจจากกามคุณไม่ได้

4. สุสุกาภัย ภัยคือฉลามร้าย หมายถึงผู้ที่เข้ามาบวชแล้ว แต่จิตใจยังผูกพันในสตรีเพศ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หลงรักผู้หญิง”

ทั้ง 4 ประการนี้คือพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับอันตรายของภิกษุและสามเณรผู้เข้ามาบวชใหม่ และทนต่อสู้กับภัย 4 ประการนี้ไม่ได้ต้องลาสิกขาออกไป

อันที่จริงภัย 4 ประการนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะพระภิกษุและสามเณรผู้บวชใหม่ ผู้บวชมานานแล้วก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อแห่งภัย 4 ประการนี้ได้ โดยเฉพาะข้อ 3 และข้อ 4

ยิ่งในปัจจุบันนี้สังคมได้ถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม และมีกามคุณรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายที่ยั่วยวนชวนให้นักบวชที่ไม่เคร่งครัด และปฏิบัติอยู่ในกรอบแห่งศีลตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ดังที่พระรูปหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราอาศัยเครื่องมือสมัยใหม่ติดต่อสื่อสารกับสตรีเพศจนถึงขั้นหลงรัก และเมื่อผู้หญิงทราบว่าเป็นพระจึงตีตัวออกห่าง แต่ทางพระภิกษุไม่ยอมเลิกได้ตามไปถึงบ้าน และทะเลาะกันถึงขั้นชกต่อยผู้หญิงจนได้รับบาดเจ็บ และเกิดเรื่องถึงโรงพักต้องจ่ายค่าปรับและปล่อยตัวไป นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าสตรีเพศยังคงเป็นภัยสำหรับนักบวช ไม่ว่าจะเป็นผู้บวชใหม่หรือบวชเก่า ถ้าไม่เคร่งครัดในศีลแล้วก็ตกเป็นเหยื่อได้

แต่ที่นำเรื่องนี้มาเขียนก็ด้วยเห็นว่าในระยะนี้เป็นฤดูเข้าพรรษา และตามประเพณีนิยมในทุกปี เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาจะมีกุลบุตรทั้งที่มีศรัทธาและปรารถนาจะบวชเพื่อศึกษาปฏิบัติธรรมด้วยความสมัครใจ และผู้ที่ไม่มีศรัทธาแต่ขัดพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกบวชไม่ได้ก็ยอมทำตาม พูดได้ว่าบวชด้วยความจำใจมีอยู่

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำพังเพยโบราณได้พูดถึงการบวชไว้ว่า บวชเล่นบวชลอง บวชครองประเพณี บวชหนีสงสาร บวชผลาญข้าวสุก และบวชสนุกตามเพื่อน รวมเป็น 5 ประเภท

จาก 5 ประการนี้ ถ้ามองโดยสัจธรรมแล้วพูดได้ว่ามีอยู่ประเภทเดียวที่น่าจะเรียกได้ว่าบวชเพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์ คือ บวชหนีสงสารอันหมายถึงการหนีการเวียนว่ายตายเกิด หรือที่เรียกว่า สังสารวัฏฏ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า หนีสงสาร นั่นเอง

ส่วนประเภทอื่นล้วนแล้วแต่เป็นการบวชโดยไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน เช่น บวชครองประเพณี อันหมายถึงบวชเพื่อรักษาประเพณีที่เชื่อว่าลูกผู้ชายควรจะบวชให้พ่อแม่เมื่ออายุครบ 20 ปีขึ้นไป อันสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่พ่อแม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ซึ่งน่าจะปฏิรูปมาจากความเชื่อของพราหมณ์ที่ว่าลูกชายหรือบุตรจะช่วยให้พ่อแม่พ้นขุมนรกที่ชื่อว่า ปุตตะ

แต่ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการบวชสูญเปล่าก็คือ บวชผลาญข้าวสุก และบวชสนุกตามเพื่อน เพราะเอาเข้าจริงแล้วผู้ที่บวชเข้ามาในลักษณะนี้จะเกียจคร้าน ไม่อดทนต่อคำสอน และเห็นแก่ปากท้อง จะนั่งนับวันลาสิกขาเป็นส่วนใหญ่ และในที่สุดจะไม่ได้อะไรจากการบวช

บวชอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์จากการบวช

เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นแห่งปัญหา และแนวทางเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จากคำตอบ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนไปดูประเภทของการบวช 5 ประเภท และลองถามตนเองว่า ถ้าท่านเป็นผู้บวชเองหรือแม้จะให้บุตรหลานบวช ท่านควรเลือกการบวชประเภทไหน แน่นอนถ้าจะให้ได้คำตอบตรงกับคำสอนของพุทธที่เน้นการบวชว่าหมายถึงการเว้นจากพฤติกรรมอันเป็นของคฤหัสถ์ และลงมือปฏิบัติพฤติกรรมเยี่ยงนักบวชคือ ถือศีล ทำสมาธิ และปลูกฝังปัญญาเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นจากกิเลส เริ่มตั้งแต่ละความชั่วที่แสดงออกทางกาย และวาจาด้วยการรักษาศีล ทำจิตให้สงบจากกิเลสอย่างกลางที่นองเนืองอยู่ในจิตใจ และสุดท้ายขจัดกิเลสอย่างละเอียดด้วยการใช้ปัญญา ทั้งหมดนี้คือหลักการบวชที่ถูกต้องแท้จริง ส่วนว่าใครบวชแล้วจะทำได้เพียงขั้นศีล หรือเพิ่มขึ้นถึงสมาธิหรือปัญญานั้น ขึ้นอยู่กับอุปนิสัย แต่อย่างน้อยผู้บวชจะต้องมีศีลครบถ้วนสมบูรณ์ โดยพระภิกษุมีครบ 227 ข้อและสามเณรมีครบ 10 รวมไปถึงข้อวัตรปฏิบัติอื่นๆ เช่น นาสนังคะ 10 ทัณฑกรรม 15 และเสขิยวัตร 75 รวมเป็น 100 ในทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ มิใช่เพียง 10 ข้อตามที่บางท่านเข้าใจ

ถ้าผู้เข้ามาบวชตั้งใจปฏิบัติใน 3 ประการคือ ศีล สมาธิ และปัญญาได้อย่างเคร่งครัด ถึงแม้วันหนึ่งไม่อยู่ในเพศภาวะของสมถะแล้ว แต่อุปนิสัยที่ได้รับการฝึกอบรมมาก็จะทำให้เป็นคนดีของสังคมได้มากกว่าคนที่ไม่เคยบวช หรือบวชแล้วแต่ไม่ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้ที่เข้ามาบวชหรือพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่นำลูกหลานไปบวช ขอให้พึงเข้าใจว่าการบวช ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาแล้ว นอกจากจะไม่ทำให้ผู้บวชได้ประโยชน์จากการบวชแล้ว จะเป็นการทำลายศรัทธาของพุทธมามกะผู้พบเห็นด้วย

สุดท้าย ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านที่นำบุตรหลานไปบวชได้ตระหนักถึงภัยข้อที่ 4 ของภิกษุที่ผู้บวชใหม่ และไม่ควรเปิดโอกาสให้พระบวชใหม่ทำผิดจนเกิดภัยข้อที่ 4 ด้วยการผิดศีลอันเกี่ยวเนื่องด้วยสตรีเพศ ซึ่งมีอยู่หลายข้อและมีโทษหนักเบาต่างกัน เริ่มตั้งแต่ปาจิตตีย์ไปจนถึงปาราชิกซึ่งเป็นอาบัติหนักที่สุด

ถ้าทำได้เช่นนี้ก็ถือได้ว่าบวชแล้วได้บุญในแง่ของปัจเจกบุคคล และได้ทำประโยชน์ให้พุทธศาสนาโดยรวมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น