++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความรู้กับความเข้าใจ

ความรู้กับความเข้าใจ
 กะว่าก๋า










เขียนโดย : กะว่าก๋า






สมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษา...
มีคำถามหนึ่งที่ผมสงสัยมาก คือ


“เราเรียนรู้เรื่องบางเรื่องไปทำไม ?”


….. ผมรู้สึกว่าผมเรียนเยอะ เรียนหนัก
และต้องรู้ไปเสียทุกศาสตร์ทุกแขนง
ก่อนที่ในท้ายที่สุด คล้ายว่า...ผมไม่รู้อะไรอย่างถ่องแท้สักเรื่องเดียว




...................................................



ในสมุดบันทึกเล่มเก่าของผม
ผมเขียนไว้ว่า แม่ค้าไม่จำเป็นต้องเรียนตรีโกณมิติ
เขาก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้
ลุงชาวสวนไม่จำเป็นต้องท่องจำชื่อประธานาธิบดีเปรู
เขาก็ไม่เห็นเดือดร้อนตรงไหน
ผมแค่รู้สึกในตอนนั้นว่า เรารู้จักตับไตไส้พุงของกบเป็นอย่างดี แต่เราไม่รู้จักตัวเองเลย....
โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดของตัวเรา


………………………………………………….


หลายปีหลังจากนั้น
ผมก็ยังเชื่อว่าหลายครั้งที่ระบบการศึกษาของเรา
บีบอัดให้นักเรียนนักศึกษาเข้าแม่พิมพ์เบ้าหลอมแบบเดียวกัน

เพื่อผลิตฟันเฟืองป้อนเข้าสู่ระบบทุนนิยมแบบเต็มตัว
ให้เราเรียนรู้เยอะๆในระดับประถม มัธยม
ก่อนค่อยๆคัดเลือกไปตามสายพานของความเชื่อที่ว่า
ถ้าคนเก่งต้องไปเรียนหมอ ไม่เก่งไปเรียนครู ฯลฯ
คนเก่งคือคนที่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว วัดคุณค่าของคนจากเงินที่เขามีอยู่
เราสร้างฐานความเชื่อที่ว่ายิ่งคนเรียนสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีคุณค่าในตัวเองเท่านั้น

แต่ในสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆหรือ...
ชาวนาส่งลูกเรียนปริญญาตรี เพื่อหวังเพียงว่าลูกจะไม่ลำบาก

หรือหวังว่าลูกจะได้นำความรู้ทางการเกษตรที่ได้กลับมาพัฒนาครอบครัว
น้อย ยิ่งกว่าน้อย....เมื่อเด็กหนุ่มเข้าสู่สายพานการผลิตของระบบการศึกษา

เขาไม่เคยหันกลับมามองวิถีชีวิตเดิมของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่อีกเลย




..............................................





“เมื่อเขาไม่มีความรู้ เขาขโมยน๊อตรางรถไฟ
เมื่อเขามีความรู้ เขาขโมยรางรถไฟ”



ความรู้ทำให้เรารู้วิธีค้นหาและรู้จักกับนิวเคลียร์
แต่ความรู้ที่ไร้จริยธรรม

ทำให้เกิดการนำระเบิดนิวเคลียร์ไปเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์นับแสนนับล้าน
เป็น “ความรู้” ที่ขาด “ความเข้าใจ” อย่างถ่องแท้
ผมไม่รู้ว่าระบบการศึกษาที่เขาว่าจะปฏิรูป ปฏิวัตินั้น
จะทำให้การศึกษาเปลี่ยนโฉมไปขนาดไหน
จะทำให้วิธีคิดที่คนเรามีต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่อสิ่งรอบข้างเป็นอย่างไร
เราเชื่อและฝากความหวัง ฝากชีวิต ฝากอนาคตของลูกหลานของเรา

ให้กับคนเพียงไม่กี่หยิบมือที่เรียกตัวเองว่า


“นักการศึกษา นักวิชาการ” ได้จริงๆหรือ....




..................................................





การศึกษาที่มีคุณค่าในความรู้สึกของผม
กลับเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
ทั้งกับธรรมชาติของมนุษย์ และธรรมชาติที่เป็นสิ่งแวดล้อม
ให้อยู่แบบกลมกลืน

พึ่งพา เข้าใจในกฎของการเปลี่ยนแปลง เข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น




ผมชอบเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่เขาบอกไว้ว่า

มีชายกวาดถนนคนหนึ่ง เขาเป็นคนไร้การศึกษา
แต่ทุกเช้า เขาจะออกไปกวาดถนนด้วยความสุข ด้วยความตั้งใจ

เขากวาดถนนอย่างชนิดที่ว่า เมื่อใครมาเห็น ต้องเอ่ยปากว่า
นี่คือ คนกวาดถนนที่ดีที่สุดตั้งแต่พระเจ้าเคยสร้างขึ้นมา....

ผมไม่แน่ใจ ว่าระบบการศึกษาของเราเคยผลิตคนที่มีวิธีคิด มีวิธีทำงานแบบนี้

ออกมาสู่สังคมได้มากน้อยเพียงใด




หรือทุกวันนี้ สังคมของเราอาจเต็มไปด้วย
“นักขโมยรางรถไฟ” ที่เดินกลาดเกลื่อนเพ่นพ่านอยู่เต็มเมือง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น