++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ชม “พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์” ที่จุฬาฯ เรียนรู้ชิ้นส่วนอวัยวะแบบ 3 มิติ




   จุฬาฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ จัดแสดงชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิตแบบ 3 มิติ เพื่อส่งเสริมนิสิตแพทย์ และทันตแพทย์ได้ศึกษาเรียนรู้อย่างเห็นภาพชัดเจน ทั้งเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีถึง 30 ก.ย. นี้ ที่อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     
       วันนี้ (14 สิงหาคม 2555) ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ พร้อมด้วย รศ.ทญ.วัชราภรณ์ ทัศจันทร์ คณบดีคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ และนายคัทสุมิ คาตามูระ ประธานบริษัทเมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด ศ.คัชสุฮิโร เอโตะ อดีตคณบดีคณะทันแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์แห่งโตเกียว ร่วมกันเปิดพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ ณ อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 ชั้น 9 ห้อง 909-910 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



     



     



       ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯกล่าวว่า "พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์” แห่งนี้เป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลก และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดแสดงด้วยเทคนิค plastinated human bodies ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิต โดยใช้พลาสติกเหลวเข้ามาแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อ ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และคงสภาพอยู่ได้นาน
     
       "การจัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์ของพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้นิสิตแพทย์และทันตแพทย์ได้ศึกษาร่างกายมนุษย์ในแบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นส่วนเสริมของการศึกษาจากร่างอาจารย์ใหญ่ที่นิสิตได้เรียนรู้อยู่ ซึ่งจะทำให้นิสิตมีความเข้าใจร่างกายมนุษย์มากขึ้นเพราะเห็นภาพชัดเจน โดยจะจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ คือ มนุษย์แบบเต็มร่าง 13 ชุด ชิ้นส่วนอวัยวะภายใน 50 ชิ้น ชิ้นส่วนอวัยวะอื่นๆ 27 ชิ้น ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ 23 ชิ้น ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย 6 ชุด ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด 5 ชิ้น ร่างกายทารกในครรภ์ 7 ชุด รวม 131 ชิ้น มูลค่า 100 กว่าล้านบาท" ศ.นพ.ภิรมย์กล่าว
     
       อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้จำนวนร่างอาจารย์ใหญ่ที่ใช้ในการศึกษานั้น ถือว่าไม่เพียงพอต่อการศึกษาทางการแพทย์ เพราะคนบริจาคร่างกายน้อย เนื่องจากความเชื่อทางศาสนา ซึ่งอาจารย์ใหญ่ 1 ท่าน สามารถให้การศึกษากับนิสิตแพทย์ 5-6 คน ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันรณรงค์ทำความเข้าใจให้กับประชาชนว่า การบริจาคร่างกายนั้น ถือเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ เพราะร่างอาจารย์ใหญ่เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าสูงสุด เป็นผู้ให้ความรู้แก่นิสิตแพทย์ เพื่อที่จะได้จบออกไปเป็นแพทย์ที่รักษาชีวิตคนอื่นต่อไป
     
       “พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีจุดเริ่มต้นจากการบริจาคร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ของ คุณคัทสุมิ คาตามูระ ประธานบริษัทเมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด ภายใต้การแนะนำของ ศ.คัชสุฮิโร เอะโตะ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์แห่งโตเกียว ซึ่งได้บริจาคร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว



     



     



       ขณะเดียวกัน รศ.ทญ.วัชราภรณ์ ทัศจันทร์ คณบดีคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันได้เริ่มให้นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะทันตแพทย์เข้ามาศึกษาร่างกายมนุษย์ในพิพิธภัณฑ์แล้ว ซึ่งเห็นได้ว่าทุกคนให้ความสนใจ และตนเชื่อว่าจะช่วยเสริมด้านการศึกษาเรียนรู้ให้กับนิสิตมากขึ้น เพราะการจัดแสดงสามารถมองเห็นภาพในรูปแบบ 3 มิติ
     
       "ในการศึกษาทางการแพทย์จากร่างอาจารย์ใหญ่ที่ผ่านมาอาจพบว่า กว่าจะผ่าตัดหาเส้นเลือดพบก็ค่อนข้างยาก แต่ร่างกายมนุษย์ และชิ้นส่วนอวัยวะที่ถูกจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์เหล่านี้ จะทำให้เห็นภาพรวมของร่างกาย ไม่ใช่แค่ภาพที่เห็นในหนังสือเท่านั้น" คณบดีคณะทันตแพทย์ จุฬาฯกล่าว
     
       ทั้งนี้ “พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์” ยังเปิดให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าชมฟรี ทุกวันพุธ เวลา 12.30-15.30 น. ณ ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตรเฉลิมนวมราช 80 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-8635

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น