++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เมื่อไหร่จะเลิกฆาตกรรมลูกปลาทู โดย บรรจง นะแส


ภาพลูกปลาทูตัวเล็กๆ ขาดนิ้วก้อย นิ้วชี้ หัวแม่โป้ง นอนตายบนแผงตากสุดลูกหูลูกตาเห็นแล้วใจหาย ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ตำบลอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่เดินผ่านบริเวณดังกล่าวได้แต่มองด้วยสายตาละห้อย เพราะพวกเขารู้ดีว่าลูกปลาทูจำนวนมหาศาลเหล่านั้น หากปล่อยให้เขาได้เจริญเติบโตอีกเพียง 2-3 เดือน ชาวประมงพื้นบ้านก็จะมีปลาให้จับไปตลอดฤดูกาล และมูลค่าจากปลาหลายสิบล้านตัวที่ถูกจับมาในวัยอันไม่สมควรนั้น ก็จะทำให้สูญเสียมูลค่าและคุณค่าของปลาไปจำนวนมาก
      
        กรมประมงได้ออกมาตรการปิดอ่าวหลังจากมีงานวิชาการพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว คือตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูวางไข่ของปลาโดยเฉพาะปลาทู ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจและเป็นปลาประจำชาติของประเทศนี้มายาวนาน ประชาชนไม่ว่าในเมืองหรือในชนบทต่างรู้จักปลาทู และปลาทูคืออาหารโปรตีนจากทะเลที่ผู้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้โดยเท่าเทียมกัน เพราะมีจำนวนมากและราคาก็อยู่ในจุดที่ผู้บริโภคสามารถจะรับได้ การทำร้ายปลาทูจึงเสมือนการทำลายแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของสังคมไทย
      
        กรมประมงได้ออกมาตรการในการปิดอ่าวมายาวนาน และพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลาทูที่สำคัญคือในพื้นที่ ในทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลาทูและสัตว์น้ำที่มีคุณค่าอื่นๆ วางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อนและเจริญเติบโต ในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นกรมประมงจึงได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายควบคุมการทำประมงคือการปิดอ่าว ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ดี ที่สังคมควรจะให้กำลังใจและสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง มีการเก็บข้อมูลในช่วงหลังฤดูกาลปิดอ่าว เมื่อปี 2553 พบว่าปริมาณการจับสัตว์น้ำได้มีจำนวนมากถึง 43,115.1 ตัน ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนปิดอ่าว กว่าเท่าตัว (ก่อนปิดอ่าว จำนวน 20,771.5 ตัน) จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวนี้สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้คืนกลับมาได้จริงๆ
      
        ภาพลูกปลาทูตัวเล็กๆ ที่ยังไม่ได้ขนาด ถูกกวาดต้อนจับขึ้นมาด้วยกองคาราวานอวนล้อมตาถี่ จากภาคตะวันออกเช่นจากระยอง ตราด ก็มุ่งสู่ทะเลประจวบฯ ทันทีทุกครั้งหลังมาตรการปิดอ่าวที่หมดเขตลงเมือ 15 พฤษภาคม ของทุกปี ลูกปลาทูจากทะเลประจวบฯ จำนวนมหาศาล จึงถูกกวาดต้อนขึ้นสู่เรืออวนล้อมตาถี่ลำแล้วลำเล่า ในพื้นที่ตำบลอ่าวน้อยตำบลเดียวประมาณด้วยสายตาจะพบว่ามีลูกปลาทูตัวเล็กๆ ถูกนำขึ้นมาต้มตากในแต่ละวัน ไม่ต่ำกว่า 5 คันรถหกล้อบรรทุก
      
        ลูกปลาทูตัวเล็กๆ ที่ถูกจับมาต้มตาก พบว่าน้ำหนัก 1 กิโลกรัมจะมีลูกปลาทูเล็กๆ ประมาณ 180-200 ตัว หลังจากต้มตากแล้วนำออกไปขายตามท้องตลาดราคาตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท ในขณะที่ปลาทูที่ปล่อยให้เขาโตเต็มที่จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 10-12 ตัวต่อหนึ่งกิโล ราคาในตลาดท้องถิ่นก็ตกอยู่ประมาณ 80-100 บาทเช่นกัน ดังนั้นการจับลูกปลาทูตัวเล็กๆ ขึ้นมาต้มตากซึ่งหลังจากตากแห้งแล้วพบว่าในหนึ่งกิโลมีลูกปลาทูตัวเล็กๆ อยู่มากถึง 180-200 ตัว จึงทำให้สูญเสียมูลค่าไปกิโลกรัมละ1,800-2,000บาท/กิโลกรัมเลยทีเดียว
      
        กรมประมงควรจะได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมในส่วนนี้ ง่ายๆ ในเบื้องต้นแค่ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการเข้าไปทำรายละเอียดข้อมูลของการทำลายลูกปลาทูในขณะที่เขายังโตไม่เต็มที่ ลงไปสำรวจการต้มตากของประมงพาณิชย์จากภาคตะวันออก ที่มาตั้งแผงตากลูกปลาทูอยู่ที่ตำบลอ่าวน้อย ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมี 20-30 แผงแต่ละแผงกว้าง 2.5 เมตรยาวแผงละไม่ต่ำกว่า 50 เมตร บนเนื้อที่ 3-5 ไร่ มีอยู่จำนวนไม่ต่ำกว่า 10 จุด ในพื้นที่ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็จะทำให้พบว่าในแต่ละวันเราได้ทำลายลูกปลาทูไปมากน้อยขนาดไหน และควรจะหามาตรการที่มากไปกว่าการปิดอ่าวแล้วปล่อยให้ลูกปลาถูกกวาดต้อนหลุดรอดไปเป็นอาหารเป็นอาชีพให้กับชาวบ้านได้ไม่กี่มากน้อย
      
        ในแง่ของรัฐบาลควรจะมองภาพของแหล่งอาหารโปรตีนจากทะเล ให้เป็นยุทธศาสตร์ในการรักษาแหล่งอาหารโปรตีนไว้ให้กับสังคมไทย จากการที่สังคมไทยเรามีต้นทุนในเรื่องนี้อยู่สูงมากๆ เพราะมีพื้นที่ติดชายฝั่งมาก มีทะเลอันดามัน อ่าวไทย ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารโปรตีนมากพอที่จะเลี้ยงคนไทยได้ทั้งประเทศ เด็กเยาวชนของไทยไม่ควรจะเป็นโรคขาดอาหาร การปล่อยปละละเลยไม่ลงในรายละเอียด กรณีการปล่อยให้มีการฆาตกรรมลูกปลาทูจำนวนมหาศาล จึงเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองปัญหาเรื่องแหล่งอาหารโปรตีนจากทะเลของสังคมเราน้อยเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น