++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สธ.พัทลุง เตือนทุกคนเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากระบาดในเด็ก เน้นมาตรการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ


by สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง
นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปาก จังหวัดพัทลุง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึง วันที่ 27 กรกฎาคม 2555 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวนทั้งสิ้น 329 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 64.62 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต กลุ่ม อายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 0-4 ปี จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ 306 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 114 ราย โดยมีรายงานผู้ป่วยเดือนมกราคม 30 ราย, กุมภาพันธ์ 29 ราย, มีนาคม 30 ราย, เมษายน 12 ราย, พฤษภาคม 15 ราย มิถุนายน 99 รายพบผู้ป่วยในเขตองค์การบริหารตำบลร้อยละ 74.38 ผู้ป่วยในเขตเทศบาลร้อยละ 25.62 อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคืออำเภอศรีบรรพต อัตราป่วยเท่ากับ 121.14 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคืออำเภอควนขนุน, บางแก้ว, ศรีนครินทร์, ป่าบอน, ป่าพะยอม, เมืองพัทลุง, กงหรา, เขาชัยสน, ปากพะยูน, และตะโหมด อัตราป่วยเท่ากับ 110.43, 108.43, 63.76, 60.94, 56.26, 55.96, 48.42, 42.61, 28.2 และ 27.6 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้ ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ชนิดคอกแซคกี่, ชนิดไวรัสเอนเทอโร 71 โรคนี้พบได้บ่อยทั่วโลก ในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี ในผู้ใหญ่ สามารถติดเชื้อ และเกิดโรคได้ แต่ส่วนใหญ่ ไม่มีอาการรุนแรง การระบาดมักเกิดขึ้นในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล โดยทั่วไปมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยมีไข้ต่ำๆ เกิดตุ่มพอง และแผลเล็กๆ ในปาก คอ มีตุ่มที่ มือ เท้า และบริเวณก้น แต่เชื้อไวรัสบางสายพันธุ์ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อาการทางระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท สมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ หรือตุ่มพองและแผลของผู้ป่วย รวมทั้งการติดต่อทางน้ำหรืออาหาร เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในวงกว้าง และการเสียชีวิตของผู้ป่วย นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการป้องกันโรคมือเท้าปาก คือ การกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ การหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ให้คุณครูผู้ดูแลเด็ก และผู้ปกครอง มุ่งเน้นที่ความสะอาดของร่างกายล้างมือให้สะอาดภายหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งและก่อนรับประทานอาหาร เพราะเชื้อที่อยู่ในปาก และเมื่อเด็กเล่นแล้วบางครั้ง อมมือหรือสิ่งของเข้าไปทำให้น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อติดออกมาด้วย ทั้งนี้ ผู้ปกครองจะต้องสังเกตอาการ หากเด็กมีไข้สูงวันแรก แต่เล่นได้ รับประทานอาหารได้ เช็ดตัว ดื่มน้ำมากๆ วันที่สองหากอาการยังไมดีขึ้น ไม่ต้องตกใจ ปกติจะหายได้เอง แต่หาก ในวันที่ 3 อาการยังไม่ดีขึ้นจะต้องรีบไปพบแพทย์ และกรณีเด็กเป็นโรคนี้แล้ว ให้เด็กหยุดพักอยู่บ้าน 7-10 วัน จะสามารถช่วยไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคได้ แต่ต้องระมัดระวังการติดต่อสู่เด็กคนอื่นในบ้าน และไม่ให้เล่นกับเด็กอื่นในระยะไข้และควรทำความสะอาดของเล่นและของใช้ในบ้านด้วยน้ำยาฟอกขาวทุกวัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ได้จัดอบรมความรู้เรื่องโรคมือเท้าปากแก่ครูผู้ดูแลเด็กประจำศูนย์เด็กเล็กไปแล้ว และส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วกระจายออกไปครอบคลุมทุกพื้นที่ อีกทั้งติดตามสุ่มประเมินศูนย์เด็กทั้งที่มีการระบาด และยังไม่มีการระบาดฯ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้สุขศึกษาผ่านทางสื่อต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงอันตรายของโรคและแนวทางป้องกันควบคุมโรค และหากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น