++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

“สมศักดิ์” เปรียบแนวคิดเปลี่ยนอเมริกาของ “โอบามา” เทียบได้กับ “การเมืองใหม่” ของพันธมิตรฯ


วานนี้ (5 พ.ย.) เวลาประมาณ 19.45 น.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ภายในทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่ นายบารัค โอบามา ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ทั้งของประชาชนชาวอเมริกา และคนทั่วโลก เนื่องจาก นายบารัค มีนโยบายที่ดี และแตกต่างจากของ นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดี อย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ เพราะนโยบายและแนวคิดของ นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นนโยบายแบบทุนนิยมผูกขาด ไม่มีความพอเพียง จนส่งผลให้เศรษฐกิจของอเมริกาแทบจะล่มสลายอย่างทุกวันนี้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวก็เป็นแบบเดียวกันกับนโยบายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำมาใช้ในประเทศไทย โดยการหว่านเงินให้คนรากหญ้า ทำทีเป็นว่าตนเป็นผู้นำที่ให้เงินประชาชน แต่แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงการหว่านเงินในรูปของการให้กู้ยืม สร้างค่านิยมที่ทำให้ประชาชนเกิดความฟุ้งเฟ้อ มีการกู้หนี้ยืมสินมากขึ้น จนในที่สุดพี่น้องเกษตรกรชาวรากหญ้า ก็ต้องออกมาเรียกร้องให้มีการพักชำระหนี้อย่างในทุกวันนี้ ซึ่งรัฐบาลหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้ง นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

นอกจากนี้ นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยังเป็นผู้จุดกระแสให้เกิดความปั่นป่วน และรุนแรงไปทั่วโลก โดยการส่งทหารไปทำสงครามที่ประเทศอิรัก จนเกิดขบวนการก่อการร้ายที่กระทำการรุนแรงอยู่อย่างทุกวันนี้ แต่กระนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังสนับสนุนเห็นดีเห็นงามไปกับ นายจอร์จบุช รวมไปถึงสั่งการให้มีการส่งทหารไทยไปยังประเทศอิรัก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สร้างความไม่พอใจ ให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก จนในที่สุดก็เกิดเป็นขบวนการก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้มาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้เลยว่า สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ชายแดนภาคใต้เกิดความรุนแรงขึ้น ก็มีสาเหตุมาจากการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั่นเอง

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นโยบายของ นายบารัค โอบามา ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของ นายจอร์จ บุช ทั้งนโยบายที่ต้องการสร้างสันติ โดยการถอนทหารอเมริกาออกจากประเทศอิรัก รวมไปถึงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ที่ไม่สนับสนุนนโยบายทุนนิยม หรือประชานิยม แต่เน้นไปที่การพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น จัดระบบการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นความเจริญที่ยั่งยืน และเปลี่ยนแปลงไปจากเศรษฐกิจในสมัยนายจอร์จบุช เป็นอย่างมามาก สมกับที่ นายบารัค กล่าวไว้เมื่อครั้งหาเสียงว่า ต้องการที่จะเปลี่ยนอเมริกาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ดังนั้น ในเมื่อวันนี้ประเทศสหรัฐอเมริกา จะสามารถเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้ การเมืองใหม่ในแบบที่พันธมิตรฯ เรียกร้อง นั่นก็คือ การเมืองที่เป็นไปอย่างใสสะอาด ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับพลังของประชาชนทุกคน ที่จะมาร่วมกันต่อสู้ และสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้ด้วยกัน


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 มกราคม 2552 เวลา 00:59

    ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดี ๆๆ

    ตอบลบ