++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ชัยชนะของคนอเมริกันและสหรัฐอเมริกา

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน 19 พฤศจิกายน 2551 16:31 น.
       ชัยชนะของนายบารัค โอบามา โดยเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ ถือว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของโอบามาเองซึ่งเป็นคนอเมริกันผิวดำ แต่ขณะเดียวกันชัยชนะดังกล่าวนั้นต้องถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะของคนอเม ริกันและสหรัฐฯ แผ่นดินใหม่ที่ได้ถูกพัฒนาจนเป็นดินแดนแห่งสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเสมอภาคในโอกาส เป็นแหล่งผสมผสานวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จ มองในแง่นี้ การพัฒนาของรัฐชาติสหรัฐฯ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดจากเหตุการณ์ดังกล่าว
      
       ในยุคประธานาธิบดีจอห์นสัน สังคมอเมริกาตกอยู่ในความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างคนต่างสีผิว กฎหมายเกี่ยวกับความเสมอภาคของประชาชน หรือที่เรียกว่า Civil Right เป็นกฎหมายที่นำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยกอย่างยิ่ง สังคมยังไม่สามารถรับความเสมอภาคระหว่างคนผิวขาวและคนเผ่าพันธุ์แอฟริกาซึ่ง มีประวัติความเป็นทาสได้ คำวินิจฉัยของศาลสูงสหรัฐฯ ที่ว่า ความเสมอภาคที่แยกกันอยู่และแบ่งผิวนั้นขัดรัฐธรรมนูญกลายเป็นตัวกระตุ้นที่ สำคัญที่นำไปสู่การผ่านกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างคนสองผิว การต่อสู้ของคนผิวดำต้องผ่านการสูญเสียมากมาย ที่เด่นชัดที่สุดคือ นักเคลื่อนไหวอหิงสา หรืออารยะขัดขืน อันได้แก่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกสังหารชีวิต บางกลุ่มของคนผิวดำก็ใช้วิธีต่อสู้อย่างรุนแรง นั่นคือ ขบวนการเสือดำ (Black Panthers Movement)
      
       ในต้นคริสต์ศตวรรษ 1960 ปรากฏการณ์ที่เขย่าขวัญคนอเมริกันมี 2 เรื่อง นอกประเทศคือสงครามเวียดนาม ในประเทศคือความแตกแยกระหว่างผู้เห็นด้วยและต่อต้านสงครามเวียดนาม และที่สำคัญคือ การก่อการจลาจลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อนของคนอเมริกันผิวดำ มีทั้งการเผาอาคารร้านค้า ปล้นสะดม การใช้กำลังทำร้าย การปราบปรามของเจ้าหน้าที่ จนทำให้การรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยเป็นปัญหาใหญ่
      
       คนอเมริกันผิวดำจำนวนหนึ่งเริ่มต้องการหาภูมิหลังและเอกลักษณ์ของตนเ อง คนผิวดำนั้นเป็นเผ่าพันธุ์นิกรอย และใช้ภาษาอังกฤษเรียกว่านิโกร แต่มีคำพูดที่หยาบคายที่เรียกคนผิวดำว่านิกเกอร์ (Niger) คนกลุ่มอเมริกันผิวดำกลุ่มนี้จึงได้เสนอให้มีโครงการศึกษาอเมริกันเกี่ยวกับ ความเป็นมาของคนผิวดำที่เรียกว่า Afro-American Studies Program ซึ่งเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากนั้นยังมีความพยายามจะเรียนภาษาแอฟริกา เช่น ภาษาอาวาอีลี เพราะเชื่อว่าบรรพบุรุษของคนผิวดำจำนวนหนึ่งถูกจับมาขายเป็นทาสจากดินแดนดัง กล่าว
      
       ผู้เขียนได้เคยสัมผัสกับชีวิตของคนอเมริกันผิวดำมาพอสมควร ใน ค.ศ.1964 ( พ.ศ. 2507) ผู้เขียนได้รับเชิญจาก USIS และ Experiment in International Living ไปเยี่ยมสหรัฐฯ เป็นเวลา 3 เดือน โดยใน 3 เดือนนี้ได้พักอยู่กับครอบครัวอเมริกันคนดำที่เซนต์หลุยส์ประมาณ 3 อาทิตย์ หัวหน้าครอบครัวเป็นแพทย์ ส่วนภรรยาเป็นครึ่งคนผิวดำและฝรั่ง มีบุตรชาย 3 คน โดยบุตรชายสองคนไปเรียนหนังสือที่อื่น
      
       ในการพักอยู่กับคนอเมริกันผิวดำนั้นเป็นความทรงจำอันดียิ่ง เพราะผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นการดำรงชีวิตของชนชั้นกลางคนผิวดำ และได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องสิทธิความเสมอภาค (Civil Right) รวมทั้งมีโอกาสได้เข้าไปร่วมรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริก า ซึ่งนิกสันประสบชัยชนะในยุคนั้น นอกเหนือจากนี้ผู้เขียนยังได้มีโอกาสเสวนากับคนชั้นกลางและคนมีการศึกษาซึ่ง เป็นอเมริกันผิวดำ โดยการพบปะพูดคุยจากการแนะนำของครอบครัวที่ได้ไปอยู่ด้วยเพราะส่วนใหญ่เป็นเ พื่อนร่วมอาชีพเดียวกันคือเป็นนายแพทย์และเป็นอาจารย์ รวมทั้งนักกฎหมาย
      
       นอกเหนือจากการพักอยู่กับคนอเมริกันผิวดำแล้ว ผู้เขียนยังได้มีโอกาสไปพักอยู่กับคนผิวดำ Tuskegee Institute ที่เมืองอลาบามา เมืองทั้งเมืองมีคนผิวดำเต็มไปหมด ในการแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียนมีคนผิวขาวเพียงคนเดียวคือคนขายไอศกรีม นอกนั้นคนผิวดำทั้งสิ้น ดูประหนึ่งเป็นอีกประเทศต่างหาก และขณะที่เดินทางนั่งรถยนต์โดยสารเกรฮาวด์ไปทางใต้นั้น สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อคนผิวดำขึ้นรถจะเดินเข้าไปนั่งหลังรถโดยไม่พูดอะไร ที่นั่งแถวหน้าจะถูกจองโดยคนผิวขาวทั้งสิ้น เสมือนหนึ่งเป็นการยอมรับความต่ำต้อยของตน เมื่อคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับเราคือคนญี่ปุ่นและเกาหลียึดที่นั่งแถวหน้านั ้น คนผิวดำที่นั่งข้างหลังต่างจ้องมองด้วยความงุนงงถึงความกล้าหาญชาญชัยที่ไปน ั่งที่นั่งซึ่งเป็นประเพณีที่จะต้องเป็นที่นั่งของคนผิวขาว
      
       เมื่อผู้เขียนเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยบราวน์ก็ได้มีโอกาสเป็นอาจารย์ผ ู้ช่วย ในโครงการ Afro-American Studies จากการเป็นผู้ช่วยในการบรรยายนั้นก็ได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมเกี่ยวกับประวัติ ของคนอเมริกันผิวดำเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังได้มีการฟังความคิดเห็นจากการเสวนาและจากการพูดคุยกับอาจารย์แ ละนักศึกษาผิวดำ ยุคนั้นเป็นยุคที่เรียกว่า “Black is beautiful” ความดำเป็นความสวยงาม เพื่อที่จะสร้างค่านิยมความสวยงามใหม่แข่งกับสีขาว
      
       เมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกสังหาร ผู้เขียนได้ส่งจดหมายแสดงความเสียใจแก่ภรรยาและบริจาคเงินให้ 10 เหรียญ หลังจากศึกษาจบและกลับมาทำงานที่ประเทศไทยก็ยังติดต่อกับคุณป้า (ภริยาของครอบครัวที่อยู่ด้วย) มาตลอด และเมื่อปีกลายก็ยังได้รับโทรศัพท์ถามไถ่ทุกข์สุขซึ่งขณะนี้อายุ 80 ปี สามีได้เสียชีวิตไปแล้ว ถ้าหากสามียังมีชีวิตอยู่คงจะมีความปีติอย่างยิ่งที่บารัค โอบามา คนผิวดำได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากประเด็นความเสมอภาคนี้เป็นสิ่งซึ่งครอบครัวนี้ต่อสู้กันมาตลอด
      
       ในฐานะที่ผู้เขียนมีความสัมพันธ์และผูกพันพอสมควรกับคนอเมริกันผิวดำ จึงรู้สึกมีความยินดีอย่างยิ่งที่นายบารัค โอบามา แม้จะไม่ใช่ผู้ซึ่งมาจากภูมิหลังที่เป็นทาส แต่ก็เป็นคนอเมริกันผิวดำคนแรกที่ผ่านการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์ทางการ เมืองและการสร้างชาติของสหรัฐฯ กล่าวได้ว่า สหรัฐฯ และคนอเมริกันได้เจริญรอยตามบรรพบุรุษของผู้สร้างประเทศที่ต้องการให้สหรัฐฯ เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เสมอภาค ประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกันในโอกาส
      
       อย่างไรก็ตาม ก็มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่ง หนทางข้างหน้าสำหรับนายโอบามาจะเต็มไปด้วยขวากหนาม มีปัญหาต้องแก้มากมาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเงิน ปัญหาสังคม เสถียรภาพทางการเมือง สันติภาพของโลก ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างมหาศาลเพื่อจัดการปัญหาทั้งภายในและระหว่ างประเทศ ซึ่งอเมริกาไม่สามารถจะปลอดจากการมีบทบาทและความรับผิดชอบได้
      
       ประการที่น่าเป็นห่วงยิ่งสำหรับนายบารัค โอบามา ก็คือความปลอดภัยในชีวิต ผู้เขียนเองทราบข่าวเรื่องประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ ถูกสังหารเมื่อยังเป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ และผู้เขียนก็เป็นผู้รับทุนคนแรกของมูลนิธิจอห์น เอฟ เคเนดี้ และเมื่อได้อยู่สหรัฐฯ ก็ได้เห็นการสังหารนายโรเบิร์ต เคเนดี้ นายมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และการสังหารนักศึกษาที่ Kent State University จากข่าวทางโทรทัศน์ จึงหวังอย่างยิ่งว่าโศกนาฏกรรมเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น และต้องมีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด
      
       ชัยชนะของนายบารัค โอบามา จึงเป็นชัยชนะของคนอเมริกันและอเมริกา สะท้อนถึงการพัฒนาถึงจุดสูงสุดของระบบการเมืองการปกครองอเมริกันที่น่าจะเป็ นตัวอย่างของชาวโลกได้ในแง่ที่เป็นระบบการเมืองที่เปิด มีความเสมอภาคและมีโอกาสเท่าเทียมกัน
      
       น ายบารัค โอบามา มีภารกิจสำคัญยิ่งต่อสหรัฐอเมริกา และต้องแก้ปัญหาต่างๆ อย่างรีบด่วน แต่นายบารัค โอบามา ในฐานะเป็นประธานาธิบดีของมหาอำนาจยังมีภารกิจต้องรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และการเมืองระหว่างประเทศด้วย จึงหวังว่าชัยชนะดังกล่าวนี้น่าจะเป็นชัยชนะที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของชุมชน โลกด้วย และถ้าสามารถประสบความสำเร็จในแง่ดังกล่าวได้ ชัยชนะของบารัค โอบามา ก็จะถูกบันทึกว่าเป็นชัยชนะของมนุษยชาติ

from http://www2.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000137155 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น