++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ถ้าไม่ขึ้นค่าก๊าซ ปตท.จะเจ๊ง?

  
โดย สุวิชชา เพียราษฎร์    
แม้จะดูว่ายังไม่จบแบบสะเด็ดน้ำ แต่ก็ถือได้ว่านโยบายเรื่องก๊าซที่คาราคาซังมานานวันนี้มีความชัดเจนขึ้น
      
        ความชัดเจนดังกล่าวนี้เกิดจากผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีลงทุนทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานด้วยตัวเองเป็นครั้งที่สอง นับจากรับตำแหน่งนายกฯแล้วมีมติ ให้ชะลอแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซออกไปอย่างไม่มีกำหนด!
      
        ใครที่ติดตามเรื่องนี้ต่อเนื่องมาจะเห็นว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่พลิกมติของ กพช.ของนายกฯ โดยครั้งแรกที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา กพช.ได้เสนอแผนเดิม คือ รัฐบาลจะต้องปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในรถยนต์และอุตสาหกรรมอย่างเอ็น จีวี (Natural Gas for Vehicles: NGV) จากปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกรัมให้เป็น 12 บาทต่อกิโลกรัมในปีนี้ และพิจารณาโครงสร้างราคาและตลาดก๊าชหุงต้มแอลพีจี (Liquefied Petroleum Gas : LPG) ตามที่ ครม.ชุดที่แล้วอนุมัติให้ไว้
      
        แต่คราวนั้น นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า สถานการณ์พลังงานโลกเปลี่ยนไปแล้ว ราคาน้ำมันปรับลดลงต่ำขณะที่ราคาก๊าซในตลาดโลกก็ปรับตาม ขณะที่เศรษฐกิจโลกและไทยชะลอตัวชัด ประชาชนก็ควรจะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้ จึงขอให้กระทรวงพลังงาน และ กพช.กลับไปทบทวนแล้วนำมาเสนอใหม่
      
        จากนั้นกระทรวงพลังงาน และ กพช.ได้ขอเวลานายกฯ เพราะว่าจะขอหารือกับ ปตท.ก่อนในฐานะที่เป็นผู้กุมชะตากรรมก๊าซโดยการผูกขาดตลาดอยู่เจ้าเดียวก่อน (อ่าน : ก๊าซของใคร สุวิชชา เพียราษฎร์ 5 ม.ค. 2552) ซึ่งผลก็ปรากฏว่า กพช. ยืนยันไม่เปลี่ยนใจ ชงเรื่องเดิมที่ผ่านการหารือกับ ปตท.มาแล้วให้นายกฯ พิจารณา คือ ให้ขึ้นราคาก๊าช
      
        เมื่อนายกฯ ทุบโต๊ะว่า ไม่ขึ้นหรือตรึงราคาต่อไป ก็มีประเด็นตามมาให้คิด
      
        หนึ่งนั้น นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้ลืมสิ่งที่ตัวเองพูดไว้ก่อนนี้ว่า “ก๊าซเป็นทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ไม่ใช่ของรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใด ดังนั้นประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของสมบัติร่วมกันควรมีสิทธิที่จะได้ใช้ก๊าซ หุงต้มในราคาที่ถูก”
      
        ก๊าซโจทย์ที่ใครๆ ว่ายาก โดยเฉพาะส่วนที่จะกระทบต่อ ปตท.ขาใหญ่กับประชาชน นายอภิสิทธิ์ได้ให้คำตอบแล้ว
      
        สอง ตัวตนและความคิดของผู้บริหาร ปตท.
      
        พลันที่รู้ว่ามติ กพช.ออกมาโดยไม่ให้ขึ้นราคาก๊าซ ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. อย่างน้อยสองคนพูดเหมือนกัน ตรงนี้แหละที่อยากจะขยายและตั้งคำถาม!
      
       นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.บอกว่า ปตท.เข้าใจกรณีที่ กพช.ไม่ให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หากปรับขึ้นราคาจะทำให้ประชาชนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องเข้าใจว่า การไม่ปรับขึ้นราคานั้น จะต้องมีผู้ที่ต้องรับภาระ
      
        ผู้ที่รับภาระที่ว่าก็คือ ปตท.โดยที่ผ่านมา ปตท.รับภาระเอ็นจีวีไปแล้วถึง 4-5 พันล้านบาท
      
        “เงินที่ปตท.แบกรับภาระอยู่นี้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องเข้าใจว่าส่วนหนึ่งก็เป็นเงินของรัฐบาลเอง เพราะว่ารัฐบาลถือหุ้นใน ปตท.ด้วย เมื่อผลประกอบการ ปตท.ไม่ดี รัฐบาลก็จะได้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลน้อยลง เก็บภาษีก็ได้น้อยลง ทั้งนี้ในปี 2551 ผลประกอบการของ ปตท.แย่กว่าปี 2550 ส่วนปีนี้คาดว่าจะแย่ที่สุด ในเมื่อรัฐบาลมีภาระหน้าที่ในการดูแลเศรษฐกิจ ปตท.ก็มีภาระหน้าที่เช่นเดียวกัน” (ให้สัมภาษณ์ 16 มกราคม 2552)
      
        นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บอกว่า การชะลอขึ้นราคาก๊าซของรัฐบาลทำให้ ปตท.ต้องปรับแผนการขยายปั๊มเอ็นจีวีใหม่ เพราะปตท.แบกรับภาระขาดทุนจากการขายก๊าซเอ็นจีวี และจากที่น้ำมันโลกลดลง คนที่เคยติดตั้งก๊าซหันกลับไปใช้น้ำมันเหมือนเดิม
      
        “ปีนี้ ปตท.จะขาดทุนจากธุรกิจเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วขาดทุน 5,000 ล้านบาท เดิม ปตท.จะขยายการลงทุนด้านนี้ 7,000 ล้านบาท เพื่อขยายปั๊มก๊าซ และขยายการใช้ก๊าซในรถยนต์มากขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่ให้ขึ้นราคา ปตท.ก็จะปรับแผนใหม่หมด” (ให้สัมภาษณ์ 18 มกราคม2552)
      
        อ่านอย่างละเอียดแล้ว ผู้บริหารทั้งสอง คำก็ขาดทุน สองคำก็แบกรับภาระ ทำให้คิดได้ว่า ประชาชนประเทศนี้เป็นหนี้บุญคุณ ปตท.มากมายเหลือเกิน
      
        ผู้บริหาร ปตท.คงคิดว่า ปตท.เป็นองค์กรผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่พึ่งด้านพลังงานของคนทั้งชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับภาระหน้าที่ตอบแทนผลประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นอย่างดียิ ่ง
      
        ทว่า...ประชาชนส่วนใหญ่จะคิดเช่นนี้หรือ?
      
        ผู้บริหาร ปตท.จะทราบหรือไม่ก็ตาม หลายคนคงไม่ได้กลัวว่า ปตท.ซึ่งที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่จะล้มละลายไปต่อหน้าต่อตาหากแผนก๊าซสะ ดุด แล้วน่าจะมีคำถามว่า การเอาตัวเลขการขาดทุนมาพูดขู่เพื่อบอกต่อไปว่าแผนขยายปั๊มทำโน้นทำนี่เกี่ย วกับก๊าซของ ปตท.จะยกเลิก แสดงให้เห็นว่า ปตท.คำนึงแต่กำไร-ขาดทุนมากกว่าความมั่นคงทางพลังงานของรัฐและประชาชน ใช่หรือไม่?
      
        ปตท.จะมองหน้าคนใช้รถ ทั้งรถบ้าน และแท็กซี่ที่สู้อุตส่าห์ทุบกระปุกหลายหมื่นบาทไปติดก๊าซเอ็นจีวีช่วงน้ำมัน แพงโดย ปตท.รณรงค์ให้มาใช้เพื่อเป็นพลังงานทางเลือก แล้วยังบอกเขาว่า จะขยายปั๊มมากขึ้นเท่านั้นเท่านี้แห่ง ไม่ต้องต่อคิวต่อแถวรอนานเป็นชั่วโมงๆ เพื่อเติมก๊าซ
      
        พอน้ำมันร่วง ราคาก๊าซต่ำ ปตท.ขาดทุนก็จะยกเลิกขยายปั๊มไม่ดูดำดูดีตลาดที่ตัวเองทำไว้ยังงั้นหรือ?
      
        ส่วนเรื่องผลประกอบการปีนี้ ปีหน้าที่ผู้บริหาร ปตท.บอกว่า จะแย่ถึงแย่ที่สุด หากไม่ได้ขึ้นราคาก๊าซ และปตท.ต้องพับแผนขยายธุรกิจก๊าซ เพราะทนแบกรับภาระไปหลายพันล้านนั้น
      
        คำถามเดียว ถามว่า กำไรของปตท.โดยรวมจะลดลงต่ำกว่าแสนล้านเท่าไหร่เหรอครับ!

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000006216

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น