++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สมานฉันท์?







โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช2 พฤศจิกายน 2551 20:02 น.

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีกฎหมายมากที่สุดสังคมหนึ่ง ไม่เชื่อก็ลองสำรวจดูก็ได้ เรามีกฎหมายทุกประเภท แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่มีหรือไม่มีกฎหมาย หากอยู่ที่การนำกฎหมายไปใช้ผิด ทำได้ไม่เต็มที่ ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ ก็คือ กฎหมายเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน แม้จะมีกฎหมายที่ดี แต่ก็มักไม่ค่อยจะมีการนำคนที่โกงมาลงโทษอย่างเด็ดขาด และจริงจัง

เหตุที่สังคมไทยไม่สามารถจัดการกับปัญหาหลายอย่างได้ก็เป็นเพราะ ระบบคิดของเราค่อนข้างจะพิกลพิการ ที่กำลังสับสนกันอยู่ในเวลานี้ก็คือ การเรียกร้องให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติ

การเรียกร้องเช่นนี้เหมือนกับว่าอยู่ๆ คนไทยก็เกิดการแตกสามัคคีขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย การดูแค่ปลายเหตุว่ามีการชุมนุมประท้วงอย่างยืดเยื้อ โดยไม่ย้อนไปดูต้นเหตุเป็นอันตราย เพราะจะทำให้เกิดการยอมรับพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด

เหตุที่เกิดการชุมนุมขึ้น ก็เพราะมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกบางมาตราที่จะช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างที่มีการชุมนุมก็มีเหตุการณ์อีกหลายเหตุการณ์ เช่น กรณีเขาพระวิหาร กรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นต้น การเรียกร้องให้สมานฉันท์จึงเป็นการมองปัญหาที่ผิดประเด็น การสมานฉันท์หมายถึง การเลิกประณาม พ.ต.ท.ทักษิณ ใช่หรือไม่ การสมานฉันท์หมายถึง การเลิกชุมนุมเพื่อกดดันมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่

ผมมองไม่ออกจริงๆ ว่า กรณีการเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ทำไมจึงมีฝ่ายที่ "เป็นกลาง" ความเป็นกลางในวงวิชาการเกิดขึ้นได้อย่างไร เท่าที่ทราบมานักวิชาการบางคนไม่ชอบที่ฝ่ายพันธมิตรฯ ใช้วิธีการที่ "ขวาจัด" คือ การนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาอ้างว่า มีการหมิ่นสถาบัน แต่การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็มิได้เป็นข้อกล่าวหาลอยๆ หากมีเว็บไซต์ มีนิตยสาร มีการพูด การกระทำของบุคคลที่หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์จริงๆ ผมเองก็เคยอยู่ในวงวิชาการ และรู้ว่าสำหรับนักวิชาการบางคนนั้น การวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่าความเป็นคน "หัวก้าวหน้า" นักวิชาการเหล่านี้ไม่ได้คำนึงถึงเนื้อหา แต่ต่อต้านรูปแบบการมีสถาบันพระมหากษัตริย์

มีคนหลายคนที่ใกล้ชิดสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมาเรียกร้องให้มีความสมานฉันท์ นี่หมายความว่าจะให้พวกพันธมิตรฯ หยุดชุมนุม หยุดเรียกร้องให้มีการดำเนินการกับผู้หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์กระนั้นหรือ

ผมคิดว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น แต่สังคมไทยเรามีความคิดว่า คนเราไม่ควรขัดแย้งกัน คนที่ไม่แสดงการเลือกข้าง มักได้รับการยอมรับ บางคนในชีวิตได้ดีมาก็เพราะเหตุนี้คือ หลีกเลี่ยงไม่แสดงจุดยืน ดังนั้น ความถูก-ผิดในสังคมไทย จึงมีแต่ความคลุมเครือมาโดยตรง กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นเป็นกรณีพิเศษคือ มีอำนาจเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หลายคนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในเวลานี้ ก็เป็นเพราะได้รับเงินช่วยเหลือจาก พ.ต.ท.ทักษิณนั่นเอง ส่วนมากเป็นผู้ซึ่งไม่มีอาชีพที่แน่นอน ไม่มีรายได้ บางคนก็สารภาพว่าเกิดมาไม่เคยเห็นเงินมากอย่างนี้มาก่อน

ผมเห็นว่า ใครก็ตามที่ออกมาพูดเรื่องความสมานฉันท์ในวันนี้ ควรเข้าใจว่า พวกพันธมิตรฯ นั้น กำลังต่อสู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลก็ได้พิพากษาแล้วว่ามีความผิด และกำลังมีอีกหลายคดี คนที่ออกมาปกป้องแต่ต่อสู้แทน พ.ต.ท.ทักษิณ หรือแม้แต่นักวิชาการที่ออกมาแสดงความเห็นว่า เหตุใดทักษิณจึงเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน น่าจะนำเอาความผิดของทักษิณมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่า เป็นความดีของทักษิณด้วย

เวลานี้คนบางส่วนเห็นว่า พวกพันธมิตรฯ ผิดเพราะไปยึดทำเนียบฯ ความผิดนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องการเมือง การยึดสถานที่ทำการของรัฐ หากทำด้วยสันติวิธีก็เป็นวิธีการต่อสู้ทางการเมืองแบบอหิงสาอย่างหนึ่ง

บางคนถึงกับกล้าออกมาอ้างตัวว่ารู้ดีที่สุดว่า เราควรแสดงความจงรักภักดีอย่างไร เช่น ให้อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องออกมา หากทุกคนเชื่อเช่นนี้ จะมีการดำเนินการกับผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือ ผมไม่แน่ใจว่าผู้ซึ่งอ้างว่าจงรักภักดีนั้น พร้อมที่จะออกมาแสดงตนหรือไม่ หรือยังนิยมการสงวนตัวไม่พูดให้กระทบกระเทือนใจทักษิณ

เวลานี้การหวังให้ประเทศไทยดีขึ้นอยู่กับการนำเอาคนผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง ไม่ใช่เรียกร้องให้มีความสมานฉันท์ซึ่งหมายความว่า แต่ละฝ่ายต้องยอมลดราวาศอกให้แก่กัน การสมานฉันท์หมายถึงการให้อภัยคน 111 คนหรือเปล่า หมายถึงการเลิก "จองเวร" กับทักษิณหรือเปล่า

หากสังคมไทยเต็มไปด้วยคนที่ไม่อยากเลือกข้าง ระมัดระวังตัวกลัวจะมัวหมองเช่นนี้ อย่าหวังเลยว่าสังคมไทยจะแก้ปัญหาได้ เพราะจะมีแต่คนเอาตัวรอด

เราน่าจะสมานฉันท์กันเอาผิดนักการเมืองที่โกงกินชาติมากกว่า

ความผิดของทักษิณมีมากมายขณะนี้ ทำไมบางคนจึงนิยมชมชอบ มีคำอธิบายอย่างเดียวครับคือ เพราะอำนาจเงินนั่นเอง ไม่ใช่อะไรอื่น


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000130018



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น