++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

"ยับยุม" ตันตระพุทธะ



หลังๆ ผมเริ่มเห็นคนเอาภาพ "ยับยุม" หรือ "พระพุทธะกับคู่ธรรม" มาโพสต์ในแนวโหดสัสกันบ่อยขึ้น
และดูเหมือนการมองภาพนี้ของชาวพุทธในบ้านเราก็ยังไปไม่พ้นเรื่องศีลธรรมดำ-ขาว
และเรื่องเซ็กซ์ ที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ซะเหลือเกินสำหรับสังคมไทยทุกวันนี้

ก็เลยคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง หากจะลองเขียนถึงภาพนี้สักหน่อย..

พุทธศาสนาวัชรยาน กับ "ตันตระ"
เป็นสองชื่อที่ใช้เรียกพุทธศาสนาแขนงหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย
และเดินทางไปงอกงามในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยอย่างธิเบต เนปาล ภูฏาน
และบางส่วนของอินเดียอย่าง ลาดัก และสิกขิม


สันนิษฐานว่าตันตระเป็นเทคนิคปฏิบัติพื้นบ้านดั้งเดิมที่มีมาก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
โดยฝึกฝนกันแพร่หลายในหมู่นักพรต ดาบส โยคี ทั้งหญิงและชาย
ตันตระจะมีอุบายการฝึกฝนจิตใจผ่านการเดินลมปราณอย่างพิสดารในลักษณะต่างๆ

เป้าหมายเพื่อเข้าถึงความรู้แจ้งสูงสุดในธรรมชาติของจิต
เนื่องจากมีลักษณะเป็นอุบายอันหลากหลายมากกว่าหลักปรัชญา
ตันตระจึงสามารถผนวกเข้ากับแนวปรัชญาที่ต่างกัน เกิดเป็นสายปฏิบัติที่แตกต่างกัน
เช่น ฮินดูตันตระกับพุทธตันตระ หรือในพุทธตันตระเอง ก็มีแยกย่อยออกเป็นสายอย่างพิสดารอีกมากมาย

เมื่อเทคนิคตันตระประสานกับปรัชญาความว่างของมหายานที่รุ่งเรืองอยู่ในช่วงปลายของพุทธศาสนาในอินเดีย
(อิทธิพลของนาคารชุน) จึงให้กำเนิดเป็นพุทธศาสนาแบบวัชรยาน
อันเปี่ยมด้วยอุบายการฝึกใจที่หลากหลาย
บนหลักพุทธปรัชญาอันกว้างขวางลึกซึ้ง

"ตันตระ" แปลว่า "เส้นด้าย" หรือ "ความต่อเนื่อง" (continuity)
นัยยะของคำคำนี้จะมีความแตกต่างจากพุทธปรัชญาโดยทั่วไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
เพราะโดยปกติ พุทธจะมองเป้าหมาย หรือการหลุดพ้น
ในลักษณะของ "ความดับ" (cessation) "ช่องว่าง" (gap) "ความว่าง" (emptiness) หรือ "สุญญะ" (nothingness) ซึ่งยังคงมีนัยยะของ "อิสรภาพจากบางสิ่ง" (freedom from something)

การมองภาวะหลุดพ้นในความเป็นอสังขตะ (นิพพาน) vs สังขตะ (สังสารวัฏ) แม้จะดู make sense อยู่ไม่น้อย
ทว่าในมุมมองของตันตระ ความเป็นทวิลักษณ์ (duality) ของอิสรภาพเช่นนั้นยังไม่ถือเป็นประสบการณ์ของการรู้แจ้งในธรรมชาติของจิตได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น อุบาย คำสอน ภาษา พิธีกรรม และสัญลักษณ์ของตันตระ จึงมีลักษณะที่แตกต่างไปอย่างถึงราก
จนบางครั้งอาจดูเหมือนขัดแย้งกับพุทธศาสนาที่เราคุันเคย
แทบจะเรียกได้ว่าจากดำเป็นขาว จากขาวเป็นดำเลยก็ว่าได้ ทว่านั่นคือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
เมื่อเป้าหมายของตันตระต้องการทำงานกับ "จิตที่แบ่งเป็นสอง" (dualistic mind) โดยตรง

จากที่เคยมุ่งเน้นไปที่การหลุดพ้นออกจากความทุกข์เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน
เป้าหมายของตันตระไม่ใช่เพียงแค่การหลุดพ้น
ทว่าเป็นการบ่มเพาะโพธิญาณเพื่อช่วยเหลือและปลดปล่อยสรรพสัตว์
สภาวะที่ "วัชรปัญญา" ผสานกับ "มหากรุณา"
ทิศทางของตันตระจึงกลับทิศเป็นตรงกันข้าม

ดำเนินตามวิถีโพธิสัตว์ในขั้นมหายาน ความรักระหว่างครูศิษย์แนบแน่นขึ้นอีกขั้น
โดยครูเป็นผู้ "อภิเษก" ศิษย์เข้าสู่วัชรมณฑล-- โลกอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกอย่างเป็นครู
"ตันตริกะ" identify ธรรมชาติพื้นฐานเข้ากับภาวะของการไม่ปรุงแต่งของจิต(ความว่าง)
เป็นรากฐาน ราวกับสายธารอันต่อเนื่องของประสบการณ์ชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์และเปิดกว้าง
แล้วสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในมณฑลของจิตในแง่พลัง
ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า มันดาลา (มณฑล, mandala) การเริงระบำของทวยเทพ (ยิดัม, deities)
อันแสดงออกถึงพลังพุทธปัญญา (wisdom energies) และมหาปีติ (great bliss)

ซึ่งแน่นอนว่าอุปสรรคสำคัญในการฝึกตันตระไม่ใช่อื่นใดเลย
นอกเสียการตัดสินเรา-เขา ดี-ชั่ว ถูก-ผิด จาก dualistic mind หรือจิตที่แบ่งออกเป็นสองนั่นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ ลองมองภาพยับยุบดูอีกที แล้วพอจะเดากันได้ไหมครับ
ว่าพระพุทธะ "ยับ-ยุม" กำลังสื่ออะไรกับจิตใจของเรา ?


วิจักขณ์ / 11 ส.ค. 55

ที่มา...https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10150968182266175&set=a.137491666174.119792.102073626174&type=1&theater

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น