++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สุญญากาศ วินทร์ เลียววาริณ



เคยมีผู้คำนวณน้ำหนักของโลกของเรา ได้คำตอบว่า มันหนักประมาณ 6,000,000,000,000,000,000,000,000 กิโลกรัม (หกล้านล้านล้านล้าน-กิโลกรัม) หนักเอาการเหมือนกัน!

ผมไม่ได้สงสัยวิธีการคำนวณ (ซึ่งคิดจากแรงโน้มถ่วงกับเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก) แต่สงสัยว่า ทำไมโลกของเราซึ่งดูใหญ่โตและมีน้ำหนักมหาศาลนี้ สามารถลอยเท้งเต้งในอวกาศได้ไม่จมลงไป

คำตอบคือ มันอยู่ได้ด้วยแรงเหวี่ยงหมุนของระบบดาว (ซึ่งเป็นที่มาของแรงโน้มถ่วง) แต่คำถามก็ยังคงอยู่อีกเช่นเดิมว่า แล้วทำไมระบบดาวทั้งหลายจึงลอยตัวในอวกาศได้ วิทยาศาสตร์อธิบายว่า อวกาศนั้นเป็นสุญญากาศ อะไรก็ตามที่อยู่ในสุญญากาศย่อมลอยตัวอยู่ได้

ทฤษฎีกำเนิดจักรวาลที่เรียกว่า บิ๊กแบง บอกว่า เมื่อแรกนั้นไม่มีอะไร ไม่มีแม้แต่ที่ว่างเปล่า เมื่อเกิดการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ ความไม่มีจึงขยายตัวออกเป็นจักรวาลดังที่เห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ เป็นพื้นที่สุญญากาศขนาดมหึมา ซึ่งเป็นที่อยู่ของสรรพสิ่งทั้งมวล ตั้งแต่ดวงดาว โลกของเรา ไปจนถึงมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่เดินบนโลกใบนี้ เช่นนั้นสุญญากาศนี้เกิดมาอย่างไร?

คำถามนี้ก้าวข้ามพรมแดนผ่านไปในพื้นที่ของอภิปรัชญาแล้ว มันเป็นประเด็นเรื่องกำเนิดจักรวาล จนปัญญาที่มนุษย์ใน พ.ศ. นี้จะหยั่งรู้ เรารู้จากทฤษฏีว่าเวลาที่เกิด บิ๊กแบง จักรวาลไม่ได้ขยายตัวเติมเต็มช่องว่างที่มีอยู่แล้ว เพราะช่องว่างนั้นไม่เคยดำรงอยู่มาก่อนหน้านั้น มันถือกำเนิดมากับ บิ๊กแบง

แล้วเช่นนั้นทำไมสุญญากาศจึงรับ ‘น้ำหนัก’ ของมวลดาวได้? คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ เพราะมันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นธรรมชาติของสุญญากาศอย่างนี้เอง

ในชีวิตของเราแต่ละคน ล้วนต้องเคยพบปะปัญหาที่หนักหน่วง เกินกำลังแบกรับ สะท้อนออกมาทางสีหน้าที่เคร่งเครียด ปราศจากรอยยิ้ม จะยิ้มได้อย่างไร ในเมื่อปัญหาหนักหน่วงขนาดนั้น มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ยิ้มได้เมื่อเจอปัญหาใหญ่ๆ

สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้, พ่อแม่ไม่อยากให้เรียนต่อในสายวิชาที่อยากเรียน, บ้านถูกธนาคารยึด, อกหัก, คนรักตั้งท้องก่อนแต่งงาน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ดูใหญ่โตและหนักเกินสองบ่าของเราแบกรับ แต่การแบกปัญหาแล้วบ่น มีแต่ทำให้ปัญหานั้นหนักกว่าเดิม

การแก้ปัญหาอาจเริ่มต้นที่มองขนาดและน้ำหนักที่เป็นจริงของปัญหา ไม่ใช่ติดนิสัยเห็นมดเท่าช้าง เห็นช้างเท่าไดโนเสาร์ ไม่มีปัญหาใดในโลกที่แก้ไม่ได้ เพราะหากมันแก้ไม่ได้ด้วยสติปัญญาของมนุษยชาติ เราไม่เรียกมันว่าปัญหา เราเรียกมันว่า ‘ความจริงที่ยังค้นไม่พบ’ และหากแก้มันได้ เราก็ไม่เรียกมันว่าปัญหา เราเรียกมันว่า ‘สัจธรรม’

ดังนี้ อกหักจึงไม่ใช่ปัญหา มันเป็นเพียงสัจธรรมอย่างหนึ่งของโลก เช่นเดียวกับโรคหวัด เป็นได้ก็หายได้ สอบตกก็ไม่ใช่ปัญหา มันเป็นเพียงสัจธรรมอย่างหนึ่งของคนที่ขยันไม่พอ ดังนั้น ถ้าขยันอีกหน่อย ก็สอบผ่านได้ ฯลฯ มองแบบนี้จะพบว่า ‘ปัญหา’ ในโลกนี้ลดหายไปกว่าครึ่ง

เมื่อเทเกลือหนึ่งถุงลงในน้ำหนึ่งแก้ว น้ำในแก้วนั้นย่อมเค็มเหลือทน แต่เมื่อเทมันลงไปในแม่น้ำ ความเค็มของน้ำก็ไม่สาหัสสากรรจ์เหมือนเดิม ปัญหาไม่ว่าหนักเพียงใด อาจบรรเทาลงไปเมื่อใช้ ‘สุญญากาศ’ รองรับปัญหา

พุทธทาสภิกขุจึงกล่าวว่า “จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง” ปัญหาใหญ่เพียงใด ปัญญาที่ว่างเปล่าจากอคติและความกังวลเกินจำเป็นก็เอามันอยู่ มันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นธรรมชาติของสุญญากาศอย่างนี้เอง

วินทร์ เลียววาริณ, 1 กันยายน 2550
www.winbookclub.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น