Kriangsak Ketpeng – กราบนมัสการพระคุณเจ้าขอรับ กระผมขอคำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับธรรมะภาคปฏิบัติครับ สาเหตุที่ผมสนใจทางธรรมนั้น เนื่องจากกระผมเป็นคนคิดฟุ้งซ่านมากๆๆ คิดมากจนนอนไม่หลับ
กระผมจึงพยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสวดมนต์ พอเริ่มสวดใหม่ๆ จิตใจก็อยู่กับบทสวดมนต์ครับ แต่พอสวดไปสักพักครับ ความคิดก็หลั่งไหลมามากมายครับ คิดมากจนไม่อยู่กับบทสวดมนต์ครับกระผมคิดว่าวิธีนี้คงไม่เหมาะครับ
จากนั้นกระผมจึงเปลี่ยนมานั่งสมาธิ โดยการกำหนดลมหายใจเข้า พุทธ หายใจออกโธ ครับ พอนั่งไปสักพักรู้สึกแน่นที่หน้าอก และ ความคิดก็หลั่งไหลเข้ามาเหมือนเดิมครับ พอดีผมได้อ่านคำถามจากนักปฏิบัติที่ได้ถามพระอาจารย์ในเฟสบุ๊ค กระผมจึงรู้ว่าอาการแน่นเกิดการการเพ่งและความอยากสงบ
จากนั้นผมจึงปรับเปลี่ยนวิธีไหมครับ เอาแค่ว่าหายใจ หายออกให้สบาย แค่มีความสุขกับการหายใจเข้า กับหายใจออกครับ ผมทำไปสักพักครับ ผมรู้สึกกายเบา ใจเบา จนต้องยิ้มออกมาเลยครับและพอทำไปสักพักก็มีความคิดเข้ามา แต่แปลกครับ ครั้งนี้พอความคิดเกิดขึ้น กระผมรู้สึกสบาย ไม่รู้สึกทุกข์ใจเหมือนเมื่อก่อน และบางครั้ง กระผมรู้สึกว่า ผม กับ ความคิด เป็นคนละส่วนกัน บางครั้งกระผมรู้สึกว่ากระผมเป็นคนคิด บางครั้งก็รู้สึกว่า กระผมไม่ได้คิด และบางครั้งรู้สึกว่าความคิดกับกระผม เป็นคนละอย่างกันครับ คือว่า ผมเห็นความคิดที่เกิดขึ้น พอสักพักก็หายไป แล้วก็มีความคิดใหม่เกิดขึ้นครับ แต่ผมก็ไม่ได้สนใจ เพียงแค่ประคับประคองลมหายใจเข้า ออกให้สบายครับ พอออกจากนั่งสมาธิ กระผมรู้สึกเบากาย เบาใจมากมากว่าตอนก่อนนั่งครับ
ด้วยความสงสัยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร กระผมจึงเปลี่ยนอิริยาบทจากนั่งมาเดินครับ กระผมทำเช่นเดิมครับ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย อาการเหมือนตอนนั่งเลยครับ กายเบา จิตเบา และเวลาก้าว แต่ละก้าว จะรู้สึกตัวชัดมาก จนบางครั้งรู้สึกว่ากระผมไม่ได้ก้าวขา แต่ร่างกายก้าวไปเอง และบางครั้งกระผมก็รู้สึกว่ากระผมเป็นคนดูขาที่ยก ก้าว ไปครับ และพอความคิดเข้ามา พอรู้สึกตัว ความคิดนั้นก็หายไป แล้วก็รู้สึกตัวกับอาการยก ย่าง ก้าว ของขาต่อไปครับ
กระผมอยากสอบถามพระอาจารย์เกี่ยวสิ่งที่เกิดขึ้นกับกระผม และขอคำแนะนำในการปฏิบัติต่อไปด้วยครับ
ขอบพระคุณครับ
พระไพศาล วิสาโล วิสัชนา - คุณทำถูกแล้ว คือ เพียงแต่ดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจด้วยความรู้สึกที่เป็นกลาง หรือแค่ “รู้เฉย ๆ” ไม่ชอบไม่ชังกับสิ่ง ที่เกิดขึ้น จริง ๆ แล้วความคิดฟุ้งซ่านไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือใจที่ไม่ชอบความฟุ้งซ่าน เรียกอีกอย่างว่ารู้สึกเป็นลบต่อความฟุ้งซ่าน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอยากสงบ ถ้าคุณวางความอยากสงบลง จะรู้สึกเป็นลบต่อความฟุ้งซ่านและอารมณ์ต่าง ๆ น้อยลง จะเห็นมันมาแล้วก็ไป รวมทั้งเห็นว่า มันไม่ใช่คุณหรือของคุณ มันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่เกิดกับใจ
สิ่งที่คุณควรทำต่อไปก็ คือ ปฏิบัติแบบนี้ในชีวิตประจำวันด้วย ไม่ว่าทำอะไร ใจก็อยู่กับสิ่งนั้น มีสติหรือรู้ตัวในทุกกิจกรรมและอิริยาบถ เมื่อกายเคลื่อนไหว ก็รู้ใจคิดนึกก็รู้ สรุปง่าย ๆ ว่า "รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก"
นอกจากนั้นเวลาคุณเจริญสติในรูปแบบ (อย่างที่คุณบรรยายมาข้างต้น) ก็ลองมองให้เห็นว่า ที่เคลื่อนไหวนั้นคือรูป ที่คิดนึกนั้นเป็นนาม เวลาเดินก็เห็นว่าที่เดินนั้นคือรูป (ไม่ใช่คุณเดิน) เวลามีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้น ก็เห็นว่าที่รู้สึกนึกคิดนั้นคือนาม (ไม่ใช่คุณคิดหรือรู้สึก) การพิจารณาแบบนี้จะช่วยให้คุณคลายความยึดติดในตัวตน เห็นความจริงว่าแท้จริงไม่มีตัวตน มีแต่รูปกับนามเท่านั้น การพิจารณาแบบนี้ไม่ควรทำบ่อย หาไม่จะกลายเป็นการเพ่งหรือคิดฟุ้งไป เวลาจิตสงบ นิ่ง เป็นสมาธิ ก็ลองพิจารณาแบบนี้เป็นครั้งคราว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น